ข้อมูลจากแอมเนสตี้ฯการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีแนวโน้มลดลงหลังยึดอำนาจ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยในรายงานฉบับใหม่ว่า มีการควบคุมตัวโดยพลการหลายร้อยกรณี รายงานการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบอย่างกว้างขวาง และการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมในศาลทหาร ทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัวในประเทศไทย และไม่มีแนวโน้มลดลงเลย
รายงาน “การปรับทัศนคติ: 100 วันภายใต้กฎอัยการศึก” (Attitude adjustment –100 days under Martial Law) เป็นการตรวจสอบอย่างละเอียดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนับแต่กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และมีการยึดอำนาจในอีกสองวันต่อมา
ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “สามเดือนนับแต่รัฐประหาร ผลจากการตรวจสอบของเราต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและร้ายแรงของรัฐบาลทหาร ทำให้เห็นภาพการปฏิบัติเช่นนี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
“ทางการไทยควรยุติแบบแผนวิธีการการปราบปรามที่เป็นปัญหาเช่นนี้ ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน เคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเปิดให้มีการอภิปรายและถกเถียงอย่างเสรี ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของอนาคตของประเทศ”
การควบคุมตัวโดยพลการ
ในความพยายาม “ปรับทัศนคติ” และการปราบปรามผู้เห็นต่างรัฐบาลทหารหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จับกุมและควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคนอย่างเป็นระบบ ผู้ตกเป็นเป้าหมายจำนวนมากเคยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลชุดที่แล้ว ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนด้านอื่น ๆ
แม้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะถูกควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวัน แต่เป็นการควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือการไต่สวนจากศาล ถูกห้ามไม่ให้พบกับทนายความ และในบางกรณียังถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทุกวันนี้พวกเขายังมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี เพราะก่อนได้รับการปล่อยตัวต้องลงนามในคำสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วม “เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง”
ทหารและตำรวจได้ควบคุมตัวหรือขู่จะควบคุมตัวญาติของผู้ที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัวต่อกองทัพ หลายคนถูกฟ้องคดีเนื่องจากขัดขืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวต่อกองทัพ และหลายคนถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง
“การควบคุมตัวโดยพลการอย่างกว้างขวาง เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย เป็นการคุกคามทางการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นความพยายามปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
“การควบคุมตัวบุคคลและการสั่งให้มารายงานตัวต้องยุติลง เช่นเดียวกับมาตรการจำกัดสิทธิอื่น ๆ ที่มีต่อบุคคลที่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว รวมทั้งยุติการฟ้องคดีต่อผู้ที่ปฏิเสธไม่มารายงานตัว”
การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีบุคคลหลายคนถูกทรมาน รวมทั้งในช่วงที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายและการทำให้ขาดอากาศหายใจ ไปจนถึงการจำลองสถานการณ์ว่ามีการประหารชีวิต การทรมานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานในประเทศไทย และมักเกิดขึ้นแพร่หลายในสถานที่ควบคุมตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก
กริชสุดา คุณะเสน นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 บอกว่า เธอถูกทหารทุบตีอย่างทารุณซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังมีการนำถุงพลาสติกคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจในระหว่างการสอบปากคำ
“ถ้าดิฉันตอบคำถามช้า หรือไม่พูด หรือไม่ตอบคำถามตรงไปตรงมา.....พวกเขาก็จะต่อยเข้าที่หน้า ที่ท้อง และที่ลำตัว.....ที่เลวร้ายสุดที่เจอมาคือพวกเขาเอาถุงพลาสติกคลุมศีรษะดิฉัน ผูกถุงที่ตรงปลายและเอาถุงผ้าคลุมศีรษะอีกชั้น ทำให้ดิฉันขาดอากาศหายใจจนหมดสติ และมีการเอาน้ำมาราดเพื่อให้ฟื้นคืนสติ......ดิฉันรู้เลยว่าความกลัวตายอยู่ตลอดเวลาเป็นอย่างไร” เธอกล่าว
“คสช. ต้องประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดตกเป็นเหยื่อการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และต้องมีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีความผิดเช่นนี้เกิดขึ้นโดยพลัน อย่างไม่ลำเอียง อย่างเป็นอิสระและอย่างละเอียดถี่ถ้วน และให้นำตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบมาฟ้องคดีตามกฎหมาย” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ
คสช.ยังได้ใช้มาตรการอย่างกว้างขวางเพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวต่อการอภิปรายในที่สาธารณะ และเป็นเหตุให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเองอย่างกว้างขวาง
ทางการสั่งปิดหรือปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หลายร้อยแห่ง มีการตั้งคณะกรรมการเซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบสื่อ มี การขู่ว่าจะถูกคุมขังหากมีการโพสต์ข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทหาร
ทั้งยังมีการออกคำสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลเกินกว่าห้าคน นับแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อสิทธิที่จะชุมนุมอย่างสงบ
มีบุคคลจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ในลักษณะที่เป็นการละเมิดสิทธิซึ่งกฎหมายดังกล่าวห้ามการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์นับแต่การทำรัฐประหาร มีประชาชนสี่คนถูกฟ้องคดีและตัดสินลงโทษตามกฎหมายนี้ และยังมีอีก 10 คนที่ถูกตั้งข้อหา
“กลายเป็นแนวปฏิบัติตามมาตรฐานของรัฐบาลทหารไปแล้วที่จะปราบปรามแม้แต่การแสดงความเห็นต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อยืด ซึ่งถูกมองว่าอาจ “สร้างความแตกแยก” หรือการอ่านหนังสือบางเล่ม และแม้แต่การกินแซนด์วิชในที่สาธารณะเพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อระบอบทหาร” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
“ทางการไทยต้องยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่ละเมิดสิทธิเหล่านี้ ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อบุคคลที่ถูกเอาผิดเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ และให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังทุกคนภายใต้ข้อหาเหล่านี้โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”
นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการทำงานที่สำคัญขององค์กรสิทธิและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ทางการสั่งห้ามไม่ให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนจัดกิจกรรมใด ๆ แม้จะกระทำโดยสงบ ในขณะเดียวกันยังคงมีการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทและการฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าวและนักสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับช่วงก่อนรัฐประหาร
การพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม
สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมกำลังถูกคุกคามเช่นกัน เนื่องจากมีพลเรือนประมาณ 60 คนที่จะต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งภายใต้การประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นศาลชั้นเดียวที่ไม่มีการอุทธรณ์
คสช.สั่งการให้ฟ้องคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร สำหรับบุคคลที่ละเมิดคำสั่งของกองทัพ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ส่วนการตั้งข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก
ข้อเสนอแนะ
รายงาน “การปรับทัศนคติ” – 100 วันภายใต้กฎอัยการศึก” ได้เสนอข้อเสนอแนะหลายประการต่อทางการไทย ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูการเคารพสิทธิมนุษยชนและประกันว่าประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
“ประเทศไทยมีพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งไม่อาจเพิกเฉยได้โดยอ้าง “ความมั่นคงของประเทศ” การจำกัดเสรีภาพที่เป็นอยู่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกินไป” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
“สมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศควรใช้โอกาสต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ รวมทั้งการประชุมที่ดำเนินอยู่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลทหารของไทยเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน และประกันให้เกิดการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นหากต้องการบรรลุเป้าหมายความปรองดองแห่งชาติตามที่ประกาศไว้”
-
file download