เอฟทีเอ ว็อทช์ จี้สนช.รอบคอบแก้ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร นัดเข้าชี้แจงอีกรอบ
ตัวแทนเอฟทีเอ ว็อทช์ นัดเข้าชี้แจง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพรบ.ศุลกากร พ.ศ..... ห่วงมาตรา 58/1 ให้พนักงานศุลกากรตรวจค้นของนำเข้า โดยไม่ต้องมีหมายค้น หวั่นเปิดช่องให้อุตฯ ยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ไล่จับ-ทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรม
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ...วาระแรกโดยเพิ่มมาตรา 58/1 ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำที่อยู่ในยานพาหนะ คอนเทนเนอร์ หรือหีบห่ออย่างอื่น ตามที่อธิบดีกำหนด โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ โดยมีวงเล็บ (3) กว้างๆไว้ว่า ของนั้นเป็นของที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรมนั้น
ก่อนหน้านี้นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้เดินทางไปที่ สนช.เพื่อขอเข้าชี้แจงข้อห่วงกังวลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน โดยเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้ด้วยความรอบคอบ โดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นเพื่อปิดช่องโหว่ที่อุตสาหกรรมยาข้ามชาติจะฉวยใช้เพื่อทำลายการเข้าถึงยาของประชาชน
“คณะกรรมาธิการจะฟังข้อมูลแต่กรมศุลกากรที่อ้างว่า ไม่มีปัญหาเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะจากข้อมูลเราพบว่า เมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า กฎหมายนี้เกิดจากแรงกดดันของสหรัฐฯ ต้องทำตามความต้องการของสหรัฐฯให้ทันประกาศใช้ในเดือนก.พ.58 ขณะที่รายงานการประชุมพบว่า ผู้แทน อย. ได้ตั้งข้อสังเกตการจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจจับสินค้าที่สงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน หรือสินค้าผ่านลำเรือ ควรพิจารณาตามประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา เพราะหากเป็นการละเมิดสิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้า สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตาเปล่า ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือความพยายามพิเศษ
แต่หากเป็นสิทธิบัตร จะไม่สามารถตรวจจับการละเมิดได้ด้วยสายตาหรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์ มีความยุ่งยากและใช้เวลานาน และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันทางการค้าได้ ที่ประชุมไม่มีการนำร่างกฎหมายมาให้หน่วยงานต่างๆพิจารณา ไม่ฟังเสียงท้วงติงในประเด็นนี้ และเสนอ สนช.ไปด้วยความเร่งรีบหวังที่จะให้ประกาศใช้ก่อนหน้าที่สหรัฐจะจัดอันดับสถานการณ์ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า”
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญยังต้องฟังความเห็นจากส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สภาเภสัชกรรม อย. คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาที่เคยทำงานวิจัยชี้ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว
ในที่สุด คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้มีมติให้กรมศุลกากรไปประชุมร่วมกับภาคประชาสังคม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วนำกลับเข้ามาให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากข้อเสนอในความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ค้าต่อการสาธารณสุข: ประเด็นผลกระทบด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน และการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดย ดร.คมน์ธนงชัย ฉายไพโรจน์ และคณะ ซึ่งเอฟทีเอ ว็อทช์ได้มอบให้คณะกรรมาธิการไปนั้น ระบุว่า สําหรับมาตรการ ณ จุดผ่านแดนเกี่ยวกับการยึดสินค้าละเมิดสิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิบัตรยา หรือเวชภัณฑ์ด้านสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันในกฎหมายศุลกากรยังไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกําหนดใดๆ ที่ให้อํานาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรทําการยึดจับกุมยาหรือเวชภัณฑ์ที่ละเมิดหรือสงสัยว่าจะละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยตรงและเป็นเอกเทศ
หากกรมศุลกากรต้องการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการตรวจสอบสินค้าไม่ควรเกี่ยวโยงกับประเด็นสิทธิบัตร เนื่องจาก ในการที่จะพิจารณาว่าเป็นของปลอมหรือละเมิดสิทธิบัตรไม่นั้น ทําได้ยาก ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการพิสูจน์ที่ซับซ้อน จึงมีข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายศุลกากรควรยึดหลักการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมิให้มีผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงยา และไม่เป็นการบั่นทอนโอกาสในการมีสุขภาพดี และผลประโยชน์ด้านสุขอนามัยด้านอื่นๆ ของคนในประเทศ
“ดังนั้น การยอมรับวิธีดําเนินการที่จะทําให้ผู้ทรงสิทธิที่มีเหตุอันควรให้สงสัยว่าอาจเกิดการนําเข้า การส่งออก การนําเข้ามาแล้วส่งกลับออกไป การนําเข้าหรือนําออก จากพื้นที่ของศุลกากร การให้ผ่านวิธีดําเนินการพักไว้ก่อนหรือการกําหนดให้ผ่านเขตปลอดอากรหรือคลังสินค้าปลอดอากรของสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ควรยกเว้นสิทธิบัตรโดยสามารถยื่นคําร้องเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักงานทั้งฝ่ายปกครองและตุลาการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งพักการปล่อยสินค้าดังกล่าวออกสู่การจัดจําหน่ายโดยเสรีหรือการเก็บเอาไว้ก่อน และให้วางประกันความเสียหายและต้องนําคดีมาฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน แต่ในกรณีที่กล่าวหาว่าสินค้านั้นละเมิดสิทธิบัตรจะต้องมีกระบวนการพิสูจน์หลักฐานเบื้องต้นทางศาลและมีคําสั่งศาลมาแสดง นอกจากนี้ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการที่จะดําเนินการร่วมกัน
เนื่องจากศุลกากรจะเป็นผู้ตรวจก่อนแล้วส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(เช่น อย.) เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่งไม่ว่าจะเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์ อาหาร หรือยาปลอม อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า กฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนําเข้ายามาในประเทศ คณะกรรมการอาหารและยามีอํานาจอย่างเต็มที่ในจะควบคุมหรือกํากับ อาจจะมีการออกระเบียบและประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานศุลกากร เกี่ยวกับมาตรการ ณ จุดผ่านแดนที่เหมาะสม เพราะระเบียบเหล่านี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถหารือกันมีอํานาจแก้ไขกฎระเบียบเมื่อใดก็ได้เพื่อประโยชน์สุงสุดของส่วนรวม”
ล่าสุด บ่ายโมงครึ่งวันที่ 12 กันยายน มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน จะไปขอเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ..... ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ถึงข้อห่วงกังวลต่อสาระของร่างกฎหมายดังกล่าว ณ ห้องประชุม 311 ตึกรัฐสภา 2