"ฝ่ายบริหาร vs.ตุลาการ" ท่าทีหลังชี้แจงกม.จัดตั้งศาลปค.เดือดกว่าเก่า?
"..ฝ่ายบริหาร "สำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือสอบถามความเห็นของตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน ๑๐๗ รายผลปรากฏว่ามีผู้ที่เห็นด้วยจำนวน ๙๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๑.๕๙ ไม่เห็นด้วยจำนวน ๙ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘.๔๑"...ปะทะ... ตุลาการ " ผู้ที่ตอบแบบสำรวจ 107 ราย เห็นว่า ควรมีการแก้ไข ก.ศป.นั้น เป็นเพียงให้ความเห็นชอบในหลักการเท่านั้น และมิได้เห็นชอบเฉพาะเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว.."
ทำท่าว่ากลายเป็นหนังยาว ที่ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า บทสรุปของเรื่องจะออกมาเป็นอย่างไร
สำหรับปัญหาความขัดแย้งในการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ระหว่างฝ่ายผู้บริหารศาลปกครอง กับ ตุลาการทั่วประเทศ
ภายหลังมีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ ว่า ในการประชุมตุลาการทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่ชั้น 11 สำนักงานศาลปกครอง ที่มีการนำระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เข้ามาช่วยในการร่วมประชุมของตลุาการในต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 11 ก.ย.57 ที่ผ่านมา
นอกจากจะไม่สามารถหาข้อยุติที่ชัดเจน เกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้ให้จบลงได้ด้วยดี
ตามเงื่อนไขที่ฝ่ายบริหารศาลปกครอง ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในระหว่างการหารือร่วมกันระหว่าง วิป สนช. กับ ผู้แทนศาลปกครอง เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : ศาลปค.นัดประชุมด่วน!ตุลาการทั่วปท.ถกปัญหาต้านร่างกม. 11 ก.ย.นี้)
ยังเป็นการตอกย้ำภาพความขัดแย้ง ระหว่างผู้บริหารระดับสูงของศาลปกครอง ที่แสดงท่าทีชัดเจนในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรมโดยเร็วสุด กับฝ่ายตุลาการศาลชั้นต้น ที่แสดงท่าทีต่อต้าน คัดค้านการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่ายังมีความไม่ถูกต้องหลายประเด็น แถมในกระบวนการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคนในองค์กร
ให้บาดลึกซ้ำลงไปในรอยแผลเดิมอีก!
"มีช่วงหนึ่งในระหว่างการอภิปราย ประธานในที่ประชุมได้แสดงความไม่พอใจ เมื่อตุลาการศาลชั้นต้นรายหนึ่ง ได้เสนอขอให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาก่อน และจัดประชุมตุลาการทั่วประเทศเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง แต่ฝ่ายประธานไม่ยอมรับข้อเสนอ ก่อนจะสรุปให้มีการแต่งตั้งตัวแทน ฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านอย่างละ 5 คน มาหารือร่วมกัน และนำเสนอเรื่องตามขั้นตอนอีกครั้ง แต่ตุลาการศาลชั้นต้น ยังสงวนท่าทีไม่ยอมรับข้อเสนอ จากนั้นการประชุมก็ได้ยุติลงไปโดยปริยาย ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น."
“ตุลาการฝ่ายที่คัดค้านการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีท่าทีไม่ยอมรับข้อเสนอ ของประธานในที่ประชุม เรื่องการแต่งตั้งตัวแทนฝ่ายละ 5 คน ขึ้นมาหารือร่วมกัน และจะมีการนัดประชุมกันอีกครั้งเพื่อแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ต่อไป” แหล่งข่าวรายหนึ่งในศาลปกครองกล่าวยืนยันชัดเจนกับสำนักข่าวอิศรา
( อ่านประกอบ : หารือ กม.จัดตั้งศาลปค.ไร้บทสรุป “ตุลาการ”เดือด ปัดรับข้อเสนอ"หัสวุฒิ")
ล่าสุดภายหลังการประชุมชี้แจงตุลาการทั่วประเทศ ที่ห้องประชุมชั้น 11 อาคารศาลปกครอง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. สิ้นสุดลง
สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่เอกสารข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ ๖๕/๒๕๕๗
เรื่อง การประชุมชี้แจงเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ที่จะกำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน
โดยระบุว่า วันนี้ (๑๑ กันยายน ๒๕๕๗) เวลา ๑๓.๓๐ น. ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เชิญที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด และบุคลากรของศาลปกครอง ซึ่งประกอบด้วย ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง พนักงานและลูกจ้าง เข้าร่วมประชุมที่ห้องสัมมนา ชั้น ๑๑ อาคารศาลปกครอง และดำเนินการถ่ายทอดการประชุมดังกล่าวผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ไปยังศาลปกครองในภูมิภาคทุกแห่ง โดยในการชี้แจงครั้งนี้ สำนักงานศาลปกครองได้มีการแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุมเริ่มต้นโดยประธานศาลปกครองสูงสุด ร่วมกับรองประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ชี้แจงในประเด็นว่า องค์ประกอบของ ก.ศป. ถูกกำหนดไว้ในมาตรา ๒๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในสถานะทางกฎหมายของ ก.ศป. จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติทางกฎหมายโดยการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป. ไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และในทำนองเดียวกับกรณีของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ทั้งนี้ เพื่อให้งานของศาลปกครองดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมิให้เกิดข้อขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครอง
ซึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป. ดังกล่าว ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นมาก่อนแล้ว โดยสำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือสอบถามความเห็นของตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน ๑๐๗ ราย
ผลปรากฏว่ามีผู้ที่เห็นด้วยจำนวน ๙๘ ราย คิดเป็นร้อยละ ๙๑.๕๙ ไม่เห็นด้วยจำนวน ๙ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘.๔๑ นอกจากนี้ ประธานศาลปกครองสูงสุด ยังได้ชี้แจงที่ประชุมถึงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย
ภายหลังจากที่ประธานศาลปกครองสูงสุด และรองประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ได้เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น ซึ่งตุลาการศาลปกครองทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งที่ปรึกษาในศาลปกครองสูงสุด ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและให้ข้อสังเกต ซึ่งประธานศาลปกครองได้ให้สำนักงานศาลปกครองเก็บบันทึกและรวบรวมความเห็นและข้อสังเกตดังกล่าวไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวต่อไป
สำนักงานศาลปกครอง
๑๑ กันยายน ๒๕๕๗
ทั้งนี้ แม้ในรายงานข่าวฉบับนี้ จะมีการระบุข้อมูลชัดเจนว่า ผลสำรวจที่ออกมา มีจำนวนผู้เห็นด้วย มากกว่าผู้ไม่เห็นด้วย ชนิดที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการประชุมครั้งนี้ ในฝั่งของตลุาการศาลปกครองชั้นต้น ท่าทีของตุลาการ ยังคงยืนยันไม่ยอมรับและเดินหน้าคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป
เห็นได้ชัดเจนจากการแต่งกายของตุลาการต่างจังหวัดหลายคนในชุดสีดำ เข้าร่วมประชุม พร้อมเสียงโห่ร้อง ปรบมือ ให้กำลังใจตัวแทนตลุาการ ที่ลุกขึ้นอภิปราย ตอบโต้ความเห็นของผู้บริหารระดับสูง เป็นช่วงๆ ในระหว่างการประชุมชี้แจง
ร่วมไปถึงการจัดทำเอกสารแสดงจุดยืน ค้าน พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พร้อมลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานชัดเจน อาทิ ศาลปกครอง จ.อุบลราชธานี จ.ระยอง จ.ขอนแก่น และ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น
เอกสารดังกล่าวมีใจความตรงกัน เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า
"ตุลาการศาลปกครอง ดังรายชื่อแนบท้ายหนังสือ ขอให้ความเห็นกรณีดังกล่าว ดังนี้
1.การเสนอเรื่องสำคัญในทางปฏิบัติที่ผ่านมา จะมีการสอบถามความเห็นตุลาการทั้งหมด เพื่อรวบรวมความเห็นและหาข้อยุติก่อนดำเนินการ แต่กรณีนี้ไม่เคยปรากฏการสอบถาม ความเห็นมาก่อน ส่วนผู้ที่ตอบแบบสำรวจ 107 ราย เห็นว่า ควรมีการแก้ไข ก.ศป.นั้น เป็นเพียงให้ความเห็นชอบในหลักการเท่านั้น และมิได้เห็นชอบเฉพาะเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว แต่เมื่อได้มีการเสนอร่าง พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติม ได้มีการหยิบยกเฉพาะบางเรื่องมาเสนอเป็นเรื่องเร่งด่วน และมติดังกล่าว มิได้เห็นชอบให้เสนอร่างรายละเอียดทั้งหมดแต่อย่างใด
2.ตุลาการส่วนใหญ่ ยังคงเห็นว่า ก.ศป.ชุดปัจจุบัน ยังคงมีสถานะ เป็น ก.ศป.อยู่ และสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ เรื่องที่เสนอ จึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน”
3. เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้น จึงสมควรให้มีการถอนร่างที่ได้เสนอต่อ สนช.โดยด่วนแล้วหากเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขก็ให้เสนอเรื่องให้ตุลาการได้พิจารณาให้ความเห็นก่อนหรืออาจให้มีการให้สัมมนาก่อน
ด้วย "จุดยืน"และ"ท่าที" ของฝ่ายบริหารศาลปกครอง และตุลาการ ที่ออกมาในลักษณะนี้ ภายหลังการประชุมชี้แจงเมื่อวันที่ 11 ก.ย. จบลง
จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความเป็นห่วงว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย อาจจะทวีความรุนแรงและดุเดือดมากขึ้นกว่าก่อนหน้าที่จะมีจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจซะอีก?
อ่านประกอบ :
101 ตุลาการ ฮือต้านแก้ กม.ศาลปค.ยุบ ก.ศป.ลักไก่เสนอ สนช.
เปิดร่าง กม.ศาล ปค.ชนวน 101ตุลาการเดือด!! ฮือต้าน
(ดูรูปถ่ายประกอบ)