'ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับยุทธศาสตร์รวมพลังท้องถิ่นสร้างแผ่นดินสันติสุข
"ข้อมูลที่ไปถึงผู้มีอำนาจบอกว่า ในสภาท้องถิ่นหลายแห่งเป็นกลไกที่สร้างความขัดแย้ง ข้อเท็จจริงนี้จะถูกไม่ถูก ผมไม่ทราบได้ แต่กลายเป็นว่า ท้องถิ่นวันนี้จำนวนหนึ่งก็สะดุดหยุดอยู่ แล้วเอาข้าราชการไปบริหาร เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมาทบทวน สิ่งที่เป็นอยู่นั้นควรจะเป็นอยู่ต่อไปอย่างนี้หรือจะปรับปรุงกลับไปสู่แบบเดิม"
วันที่ 11 กันยายน ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย ปฎิรูปท้องถิ่น" ในงานเวทีท้องถิ่นไทย ประจำปี 2557:ท้องถิ่น 5G เป็นธรรม สร้างสรรค์ ยั่งยืน ณ โรมแรมเซ็นทราและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ
ประชาธิปไตยระดับชาติ VS ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวถึงประชาธิปไตยระดับชาติกับประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นมีความเกี่ยวพันธ์กันตั้งแต่ต้น ในยุคเริ่มประชาธิปไตย ในระดับชาติมีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาถึงวันนี้ก็ 82 ปี
ในปี 2476 เราก็มีกฎหมายท้องถิ่นในความหมายท้องถิ่นที่แท้จริง คือกฎบัญญัติเทศบาล 2476 ออกมาใช้บังคับ 1 ปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองระดับชาติ ประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นก็เริ่มขึ้นแล้ว เริ่มมีการปรับสุขาภิบาลเป็นเทศบาล ตั้งแต่ปี 2478 เรื่อยมา แบบลุ่มๆดอนๆ
พอปี 2490 คณะรัฐประหารยึดอำนาจ เลิกรัฐธรรมนูญ 2489 ก็ก้าวเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มรูปแบบ
สถานการณ์ทำนองนี้เริ่มชัดเจนขึ้นหลังปี 2500-2545 ประชาธิปไตยท้องถิ่นก็เป็นอย่างเดียวกัน คือ 2495 ก็กลับไปตั้งสุขาภิบาลอีกครั้งหนึ่ง เอานายอำเภอไปเป็นหัวหน้าสุขาภิบาล เอาปลัดอำเภอไปเป็นเลขาธิการ ปี 2498 ก็ออกระเบียบพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการส่วนจังหวัด 2498 ให้มีสภาจังหวัดจากการเลือกตั้ง แต่เอาผู้ว่าราชการจังหวัดไปเป็นนายก อบจ. ปี 2499 ออก พ.ร.บ.บริหารระเบียบการบริหารราชส่วนตำบล ตั้ง อปท. โดยให้สภาตำบล มี กำนันตำบล ผู้แทนหมู่บ้านหมู่บ้านละ 1 คนและมีคณะกรรมการตำบล มีกรรมการกำนันเป็นประธาน
นี่คือการเอาข้าราชการและผู้แทนของราชการลงไปในท้องถิ่น แทนการเลือกตั้งที่มีมาแต่เดิม
และท้ายที่สุดเมื่อปี 2509 เมื่อเกิดภาวะเสียงปืนแตกขึ้นที่นครพนมที่เกิดจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐไทย มีการยุบ อปท. ทั้งหมด โดยเฉพาะสภา อบต. แล้วก็คงไว้เฉพาะประธานสภาตำบล ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า กลัวว่าในพื้นที่สีแดงและสีชมพูนั้นคนที่ได้รับเลือกตั้งจะเป็นคนที่มีสีแต่ไม่ใช่สีเขียว ถ้าเราดูภาวะในเวลาเดียวกันเราก็จะพบว่า ในขณะที่บ้านเมืองเป็นเผด็จการมีสภาแต่งตั้ง มีนายกฯ และ ครม.มาจากรัฐประหาร
เมื่อปี 2501 การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก็ก้าวไป ดร.ลิขิต ธีรเวคิน เรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า การแช่แข็งทางการเมือง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สถานะนี้ถูกเรียกมาจนกระทั่งถึงปี 2515 ก็มีการออกประกาศคณะปฏิวัติรวม เทศบาลกรุงเทพฯและเทศบาลธนบุรีเป็น กทม. และมีผู้ว่ามาจากการแต่งตั้ง จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหาราชการกรุงเทพมหานครปี 2518 ขึ้นแล้วก็ให้มีการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งคือนายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์
แต่ท้ายที่สุดในระดับชาติ ปี2517 มีรัฐธรรมนูญออกมาเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนในบริบทประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาฯ จึงกำหนดให้การเลือกตั้ง สมาชิกบริหารท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่นขึ้นแล้วเขียนบทเฉพาะกาลขึ้น มาตรา 2537 ให้มีการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกบริหารท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ครบ2 ปี จะครบในวันที่ 7 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ยึดอำนาจเสียในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เลิกรัฐธรรมนูญในปี 2517 1 วันจากการจะต้องมีการผลใช้บังคับที่จะเลือกสมาชิกบริหารท้องถิ่นหรือบริหารท้องถิ่น
"มีคนมากระซิบว่า วาระหนึ่งในการเลือกวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันยึดอำนาจนั้น เพราะว่าต้องการหลีกเลี่ยงในการบังคับใช้มาตรา 2537 เพราะในวันนั้นมีพื้นที่สีแดงและสีชมพูกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยเฉพาะในอีสานและภาคใต้ตอนบน
คณะปฏิวัติวันนี้เชื่อว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้ว คนมีสีชมพูและแดงจะเข้ามาในสภาท้องถิ่น จึงจะเห็นได้ว่า ท้ายที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างระดับชาติกับระดับท้องถิ่น ก็หนีไม่พ้น ในระดับชาติเอง กทม. หลังจากที่ได้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งเกิดความขัดแย้งของสภา กทม. นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นก็ยุบสภา กทม.แล้วก็ปลดผู้ว่า กทม. แล้วก็มีผู้ว่า กทม.มาจากการแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2529-2528
เมื่อมีการออกบัญญัติระเบียบราชการ กทม. 2528 แล้วจึงมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งมีผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง มาจนถึงทุกวันนี้
ผ่านจากยุคเผด็จการก็มาถึงยุคฟื้นฟูประชาธิปไตย มีการเรียกร้องในระดับชาติและท้องถิ่นให้มีการปรับปรุงการปกครองประเทศให้เลิกรัฐธรรมนูญของคณะ คสช. ท้ายที่สุดก็มีการตั้งสภารัฐธรรมนูญ จนกระทั่งมี รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้มีการปฏิรูปการเมืองระดับชาติมีวัตถุประสงค์สำคัญหรือเจตนารมณ์ 3 ข้อใหญ่
1.ทำให้การเมืองของนักการเมืองเป็นการเมืองของพลเมือง
2.ทำให้การเมืองโปร่งใสสุจริต
3.ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพในระดับชาติ
"บทบาทของท้องถิ่นก็โดดเด่นขึ้นในฐานะที่เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้การเมืองของนักการเมืองเป็นการเมืองของพลเมือง นั่นก็คือการขยายส่วนร่วมของพลเมืองในการเมืองท้องถิ่น ดังนั้นบทบัญญัติในการปกครองท้องถิ่นในรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นไทย ซึ่งถือว่าเป็นการทดลองประชาธิปไตยและประชาชนยังไม่มีประสบการณ์กรณีจึงต้องบอกข้าราชการลงไปเป็นพี่เลี้ยง เอานายอำเภอ ปลัดอำเภอไปอยู่ในสุขาภิบาล เอาผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปเป็นฝ่ายบริหาร อบจ. เอากำนันผู้ใหญ่บ้านไปอยู่ อบต."
พร้อมกับมีการบังคับให้มีการถ่ายโอนบริการสาธารณะ ซึ่งส่วนกลางและส่วนภิมภาคเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ และก็ตั้งองค์กรเป็นกลไกสำคัญในการกระจายอำนาจ คือ คณะกรรมการกระจายอำนาจ
รัฐธรรมนูญปี 2550 มาทำสิ่งที่ปี 2540 เริ่มเอาไว้ให้ชัดเจนขึ้น ครบถ้วนขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ท้องถิ่นเปลี่ยนจากการทดลองประชาธิปไตยมาสู่ท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันนี้ ปี 2557 เป็นเวลา 17 ปี
ยุคขัดแย้ง เดินหน้าปฏิรูปประเทศ
และก็มีความขัดแย้งระดับชาติ เสื้อเหลืองเสื้อแดงนกหวีด และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการยึดอำนาจของ คสช.
"ผมเรียกยุคนี้ว่า ยุคขัดแย้ง เดินหน้าปฏิรูปประเทศ เมื่อ คสช.เลิก รัฐธรรมนูญปี 2550 และเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นบางแห่งวันนี้ก็พูดกันว่า ประชาธิปไตยระดับชาติยังไม่เกิดประชาธิปไตยหรอก แต่ยังเคราะห์ดีที่ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังเป็นประชาธิปไตย คือยังมีผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือดตั้งอาจจะมีท้องถิ่นเพียง 200 กว่าแห่งที่ตกอยู่ภายใต้ประกาศของ คสช. ที่เลือกตั้งไม่ได้ และให้ข้าราชการไปทำหน้าที่แทน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ข้อมูลที่ไปถึงผู้มีอำนาจบอกว่า ในสภาท้องถิ่นหลายแห่งเป็นกลไกที่สร้างความขัดแย้งขึ้นมา ข้อเท็จจริงนี้จะถูกไม่ถูก ผมไม่ทราบได้ แต่กลายเป็นว่า ท้องถิ่นวันนี้จำนวนหนึ่งก็สะดุดหยุดอยู่ แล้วเอาข้าราชการไปบริหาร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมาทบทวนว่า สิ่งที่เป็นอยู่นั้นควรจะเป็นอยู่ต่อไปอย่างนี้หรือจะปรับปรุงกลับไปสู่แบบเดิม คือให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้"
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า การเมืองระดับชาติใน ปี 2557 มาถึงถึงจุดที่มีการยึดอำนาจมีการออกรัฐธรรมนูญชั่วคราวและมีการตั้ง รัฐบาลแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และก็มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ และมีการเรียกร้องให้เกิดการสร้างความปรองดอง นั้นคือระดับชาติ
แต่ระดับท้องถิ่นเราต้องตั้งคำถามว่า เราถึงจุดนี้ อปท.และการกระจายอำนาจทั่วไป จะไปทางไหนดี จะเดินหน้า จะอยู่กับที่ หรือจะถอยหลัง ถ้าไม่อยากทำอะไรเลยก็อยู่เฉยๆ หวังพึ่งวาสนาหาโชคลาภ ก็อยู่เฉยๆ รอให้ใครต่อใคร ไม่ว่าจะเป็น สปช. สนช. มาเป็นผู้ตัดสินอนาคตของท่านทั้งหลาย
"ยุทธศาสตร์นี้เราเรียกว่ายุทธศาสตร์เฉยๆ แล้วดีเอง ท่านก็เลือกได้ ถ้าอยากถอยหลังเราก็ยึดยุทธศาสตร์แยกกันเดินและตีกันเอง แต่หากก้าวหน้าก็ต้องรู้ทันความท้าทายของโลก ของประเทศ และปรับตัวให้รับกับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้
และทีสำคัญที่สุดคือต้องคิดและทำอย่างมียุทธ์ศาสตร์ การกำหนดยุทธศาสตร์เราต้องรู้ 3 อย่าง
1.รู้เขารู้เรา จุดแข็ง จุดอ่อน ความท้าทายและโอกาส
2.รู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
3. จะต้องทำอย่างอย่างไรให้สิ่งที่ต้องทำนั้นเกิดขึ้น
อปท.ขนาดเล็ก ทางตันกระจายอำนาจ ?
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการรู้เรารู้เขานั้น ถ้าเรามาดูสถานะปัจจุบันจะพบว่า มี อบจ. 76 แห่ง มีเทศบาล 2,436 แห่ง ซึ่งเป็นเทศบาล เทศบาลเมือง 174 แห่ง เทศบาลตำบล 2,243 แห่ง ซึ่งเป็นเทศบาลขนาดเล็ก มี อบต.อยู่ 5,339 แห่ง และก็มี กทม. รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมด 7,735 แห่งใน 77 จังหวัด ดูแลพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตรของประเทศไทย
ถ้ามองมิติให้มีการ อปท.เยอะๆ จะได้ใกล้ชิดประชาชน แต่ในอีกมุมหนึ่งการมี อปท.ขนาดเล็กกว่า 5 พันแห่ง ทำให้ท้องถิ่นรับภารกิจขนาดใหญ่ที่ที่มีความสำคัญ มีความซับซ้อนยุ่งยาก จากส่วนกลางไม่ได้ จึงมีผู้บอกว่า
นี่เป็นทางตันของการกระจายอำนาจ
ยืมจมูกคนอื่นหายใจ พึ่งตนเองไม่ได้
"ถ้ามาพิจารณาการพึ่งตัวเองโดยเฉพาะงบประมาณ จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2550-2557 รายได้ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว คือในปี 2550 ท้องถิ่นมีรายได้รวม 357,424 ล้านบาท มาในปี 2557 ท้องถิ่นมีรายได้รวม 622,625 ล้านบาท แต่ในรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวนั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า อปท.จะเพิ่งตัวเองได้เลย
ปี 2550 อปท.หารายได้ได้เองจริงๆ ประมาณ 32,000 ล้านบาท คิดเป็น 8.96 % ของรายได้ทั้งหมด มาปี 2557 หารายได้ได้เอง 56,360 ล้านบาท คิดเป็น 9.04% ที่เหลือมาจากภาษีที่รัฐบาลเก็บและแบ่งให้ ปี 2550 นั้นเป็น 33.78% ปี 2557 คือ 32.74% ไม่ต่าง 7 ปีผ่านไปไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง และก็เป็นภาษีที่รัฐบาลแบ่งให้ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2550 มี 18.27% และปี 2557 มี 17.51%
ท้ายที่สุดเงินที่ท้องถิ่นได้มาก็คือเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ หากรายได้ในปี 2550 ที่ได้เงิน 38.99 % ปี 2557 ท้องถิ่นได้ 40.1%
หากรายได้รวมของ อปท ยังต้องพึ่งพิงรัฐบาลกลางอยู่เช่นนี้ ชะตาอนาคตยังคงอยู่กับรัฐบาลกลาง เพราะว่าใครถือกระเป๋าสตางค์ก็ย่อมคุมอำนาจกำหนดอะไรๆให้ท้องถิ่นต้องทำได้มากมาย ท้ายที่สุดรัฐบาล ก็เป็นคนแก้กฎหมาย และกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ซึ่งกำหนดให้มีการให้การส่งรายได้ไปให้ท้องถิ่นกว่า 35% ให้ได้ภายใน 10 ปี เหลือ 25% และไม่กำหนดเวลา
แปลว่า ถ้าท่านยังพึ่งคนอื่นหายใจ ไม่คิดจะทำมาหากินเพื่อตัวเอง ไม่คิดจะเก็บภาษีเพื่อตัวเอง เกรงว่าความนิยมจะลดลง ก็แปลว่าท่านต้องเพิ่งส่วนกลางอยู่แล้วก็ไม่มีใครโทษท่านได้เพราะท่านเลือกของท่านเอง
สำหรับกิจกรรมท้องถิ่น เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีแรกของการกระจายอำนาจปี 2540-2550 นั้น เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในท้องถิ่น เช่น ถนน แหล่งน้ำ อาคาร หรือบริเวณสาธารณะ ที่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ แต่วันนี้สภาพความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก เราตกอยู่ภายใต้สภาวะโลกร้อน มีภัยอื่นๆ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม แผ่นดินยุบ ซึ่งไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ มีงานวิจัยบอกยุโรปที่ร่วมกับไทยบอกว่า อีก20 ปีข้างหน้า กทม. จะจมน้ำ แต่คำถามก็คือว่า กทม. ทำอะไรหรือยัง
นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ก็เปลี่ยนไป จะเห็นว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตไทยจะตกเป็นประเทศผู้สูงอายุ ภายใน 20 ปีเหมือนประเทศญี่ปุ่น คือแทนที่จะเป็น ปีระมิดฐานกว้างที่มีคนอยู่วัยทำงานไปทำงานเพื่ออุดหนุนคนชรา แต่อีก 20 คนไทยจะกลับฐาน คนสูงอายุจะมีมาก เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์จะเพิ่มขึ้น แปลว่าจะต้องคิดอะไรอีกหลายอย่าง
"ชนบทกำลังเปลี่ยนเป็นเมือง เมืองขนาดเล็กกำลังเปลี่ยนเป็นเมืองขนาดกลาง เมืองขนาดกลางกำลังเปลี่ยนเป็นเมืองขนาดใหญ่ โดยขยายไร้ขอบเขตทิศทาง ประชากรประเทศเพื่อบ้านเดิมเข้ามาทำงานในไทยแต่ในวันนี้เขากลับไปประเทศเขา"
อึ้งอปท.มีเรื่องร้องเรียนไป ป.ป.ช.-สตง.หลายพันเรื่อง
หันกลับมาดูความเชื่อมั่นที่มีต่อ อปท.ก็ดูเหมือนว่า เป็นนิยายน้ำเน่า คือมีทั้งรักและเกลียด คือผลการวิจัยของ คณะรัฐศาตร์ จุฬาฯ พบว่า อปท. จัดการบริการ ลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่ารัฐบาลและส่วนราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานภูมิภาค คนพอใจกว่า 60% แต่ก็มีคนมองว่า ผู้บริหารท้องถิ่น มีการทุจริต เที่ยวหาความสุขส่วนตัว หรือการกระจายอำนาจคือการกระจายทุจริต
เราจะพูดแบบเถียงโต้ว่าทีว่า ข้าราชการส่วนกลางก็ทุจริตเหมือนกัน เราต้องมาดูว่า ความจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร ก็พบว่าการร้องเรียนของ อปท.ต่อ ป.ป.ช. ในปี 2556 มีถึงกว่า 2,000 เรื่อง หรือกว่า 60% ของเรื่องร้องเรียนที่ ป.ป.ช.ได้รับ แสดงว่ามีมูลอยู่บ้าง
สตง.ก็มีเรื่องอยู่กว่า 3,000 เรื่อง นี้ก็แปลว่าความเชื่อมั่นของ อปท. ก็มีปัญหา
ทั้งหมดนี้ คือ รู้เรารู้เขา
ที่นี่ตั้งคำถาม เราต้องรู้ว่า เราต้องทำอะไร
1.ความเชื่อมั่นก็มีปัญหา ทั้งหมดนี่รู้เรารู้เขา
2. จะก้าวไปข้างหน้า
วันนี้ อปท. 5 G คือ หนึ่งกรีนซิตี้ ต้องสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม คือสนใจทั้งกายภาพของเมือง ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง ความสวยงาม ตลอดจนสุขภาวะของเมือง เช่นการลดมลพิษ และการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ต้องศึกษาจากประเทศอื่นเพื่อนำปรับใช้กับประเทศของเรา
"การมีการสุขภาวะทางจิต คือให้ความสำคัญกับคนมากกว่าสิ่งปลูกสร้าง และที่สำคัญเมื่อ คสช.มองว่า การที่ไม่ให้เลือกตั้งท้องถิ่นเพราะว่า ท้องถิ่นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ท้องถิ่นก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว้าท้องถิ่นแสดงให้ คสช.เห็นว่า อปท.จะไปสร้างความปรองดอง ความสามัคคีได้ สิ่งที่ที่ คสช.เชื่อและคิดจะได้ถูกพิสูจน์ในทางตรงกันข้าม"
3. ธรรมมาภิบาล การบริหารต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสในการดำเนินงานและท้ายที่สุดจะมีความเชื่อมั่นของประชาชน ตามมา
4.ต้องสร้างอาชีพ ต้องส่งเสริมค้าขาย ไม่ใช่ทำมาหากิน
และ 5. โกอินเตอร์
และเมื่อรู้ว่าจะทำอะไร เราต้องมี ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยึดรวมกันเราอยู่แยกกันเราตาย ต้องจำกัดการกระจายอำนาจอยู่ในท้องถิ่นโดยเฉพาะขนาดเล็ก อบต. เทศบาล ตำบล เพราะทำอะไรได้มาก และเสนอให้ อปท. ขนาดเล็กเพิ่มอำนาจให้ อปท.ขนาดใหญ่ และเสนอให้ อบจ. ผลักดันให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง พร้อมทั้งปรับโครงสร้างภูมิภาค ปรับโครงสร้างไม่ต้องยุบจังหวัดผู้ว่าฯ ยังอยู่ แต่ไม่ใช่ผู้ให้บริการสาธารณะ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ 3 อย่าง เหมือนในฝรั่งเศส
1.รักษาความชอบด้วยกฎหมายของการตัดสินใจของสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ทุกการตัดสินใจต้องส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดู ผ่านไป 30 วัน ถ้าผู้ว่าฯ ไม่ส่งศาลปกครองทำได้ แต่ว่าถ้า ผู้ว่าฯ เห็นว่าขัดต่อกฎหมายส่งศาลปกครองเลย และให้ศาลปกครองตรวจสอบ
2.ภูมิภาคจะเปลี่ยนเป็นคนกำกับมาตรฐานทั้งหลาย มาตรฐานในการให้บริการสาธารณสุข มาตรฐานในการให้บริการเรื่องการศึกษา
3.จังหวัดเป็นสถานะเป็นผู้คนสนับสนุนวิชาการแก่ท้องถิ่น ที่สำคัญท้องถิ่นเองต้องร่วมมือกัน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ถ้าจะปฏิรูปประเทศไทยต้องส่งเสริมท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในเหมาะสมกับสภาวะในท้องที่นั้น
"เมืองอย่างแม่สอด เมืองอย่างแม่สาย จะต้องเป็นเทศบาลพิเศษ เป็นเทศบาลที่เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจ ผมจึงเรียกร้องขอร้องอธิบดี ว่า ร่างกฎหมายเรื่องแม่สอด สมุย ผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจควรให้มีเขตเศรษฐกิจด้วยการจัดการของตัวท้องที่นั้นเอง"
ยุทธศาสตร์ 3 การเพิ่มความร่วมมือในระดับภูมิถาคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขนาดใหญ่ที่ทำในจังหวัดไม่ได้ก็คือต้องทำข้ามจังหวัด อาทิ โครงข่ายคมนาคม รถ และคลังขนาดใหญ่สำหรับสินค้าและคน การสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ การพัฒนาความเชื่อมโยงของเมือง และภูมิภาค
สุดท้าย ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวถึงการสร้างเครื่องมือใหม่ๆในการส่งเสริม อปท. เช่น
1.ออกแผนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ออกระหว่างรัฐกับท้องถิ่น ระยะ 4-6 ปี โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง และ อปท.ออกค่าใช่จ่ายอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมขนาดใหญ่
2.เรื่องงบประมาณในการพัฒนาต้องนำมาเป็นงบที่ผนวกกับแผนเศรษฐกิจ เพื่อให้ท้องถิ่นพัฒนาก้าวไปได้
3.จัดทำ BOI ระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มจังหวัด
4. กระทรวงมหาดไทยจะต้องพัฒนากฎหมาย ผังเมืองเป็นกฎพัฒนาเมือง เพื่อสร้างการทำเมืองที่น่าอยู่เป็นกรีนซิตี้
และประการสุดท้าย ปรับบทบาทภูมิภาคให้เป็นผู้ถือไม้เรียวและเป็นครูค่อยช่วยท้องถิ่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด
"ทั้งหมดนี้เราจะมียุทธศาสตร์คู่กันไปกับการปฏิรูประดับประเทศ เรียกว่า ยุทธศาสตร์รวมพลังท้องถิ่นสร้างแผ่นดินสันติสุข"