ดร.บวรศักดิ์ แนะรัฐบาลใหม่ทบทวน ปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดตัวเลขงบฯ อุดหนุนท้องถิ่นเพิ่มเท่าตัว พบถึงวันนี้ก็ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ แนะหารายได้ หรือเก็บภาษีด้วยตนเอง เร่งผลักดันร่างกม.ส่วนร่วมของปชช.ในการปกครองท้องถิ่น
วันที่ 11 กันยายน ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย ปฎิรูปท้องถิ่น" ในงานเวทีท้องถิ่นไทย ประจำปี 2557:ท้องถิ่น 5G เป็นธรรม สร้างสรรค์ ยั่งยืน ณ โรมแรมเซ็นทราและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ตอนหนึ่งว่า ระบอบประชาธิปไตยระดับชาติ และประชาธิปไตยท้องถิ่นผูกพันมาตั้งแต่ต้น ลุ่มๆดอนๆ ผ่านยุคเผด็จการ สู่ยุคฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งบทบาทท้องถิ่นมาโดดเด่นขึ้น ถึงจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นไทย คือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง และบังคับการถ่ายโอนบริการสาธารณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มาทำให้รัฐธรรมนูญ 2540 ชัดเจนครบถ้วน กระทั่งปัจจุบันนี้เป็นยุคขัดแย้ง เดินหน้าประเทศ สู่การปฎิรูปประเทศ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้ระบอบประชาธิปไตยระดับชาติยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังดีที่ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังเป็นประชาธิปไตย มีไม่กี่แห่งที่เลือกตั้งไม่ได้ มีการต้องตั้งข้าราชการเข้าไปบริหารแทน กลายเป็นท้องถิ่นหยุดอยู่ ดังนั้น จำเป็นที่รัฐบาลใหม่ต้องมาทบทวนสิ่งที่้ป็นอยู่ หรือกลับไปสู่แบบเดิมให้เลือกตั้งได้
ขณะเดียวกันตัวท้องถิ่นเอง ศ.ดร.บวรศัหดิ์ กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามด้วยมาถึงจุดนี้แล้ว เรื่องการกระจายอำนาจจะเดินไปทางไหนดี "เดินหน้า อยู่กับที่ ถอยหลัง หรือไม่อยากทำอะไรเลย"
"ท้องถิ่นจะยึดยุทธศาสตร์เฉยแล้วดีเอง หรือยุทธศาสตร์แยกกันเดินแล้วตีกันเอง แต่หากอยากก้าวไปข้างหน้าท้องถิ่นต้องรู้ทันปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ คิดทำอย่างมียุทธศาสตร์ รู้เขารู้เรา รู้จุดอ่อน จุดแข็งความท้าทาย " เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว และว่า การมีองค์กรปกครองส่วนถิ่นขนาดเล็กกว่า 5 พันแห่ง ยังกลายเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถรับการถ่ายโอนภารกิจขนาดใหญ่ที่ซับซ้อน ยุ่งยากจากส่วนกลางได้ จนมีผู้กล่าวว่า นี่คือทางตันของการกระจายอำนาจ
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการพึ่งตนเอง โดยเฉพาะงบประมาณ จะพบว่า ปี 2550 รายได้ท้องถิ่นรวมกว่า 3.5 แสนล้านบาท ปี 2557 ท้องถิ่นมีรายได้รวม 6.2 แสนล้านบาท แม้เม็ดเงินจะเพิ่มกว่าเท่าตัว ท้องถิ่นหลายแห่งก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จะพึ่งตัวเองได้ ส่วนใหญ่ยังพึ่งเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้ ชะตาอนาคตท้องถิ่นก็ต้องอยู่กับรัฐบาลกลาง เพราะใครเป็นผู้คุมกระเป๋าสตางค์ก็จะคุมอำนาจ
"หากท้องถิ่่นยังพึ่งจมูกคนอื่นหายใจ ไม่คิดหารายได้ หรือเก็บภาษีด้วยตนเอง ด้วยเกรงความนิยมลดลง ก็จะต้องพึ่งรัฐบาลกลางตลอดไป ทั้งนี้หากจะปฎิรูปประเทศควรส่งเสริมท้องถิ่นลักษณะพิเศษให้เกิดขึ้น เช่น ที่สมุย แม่สอด และภูเก็ต เป็นต้น รวมไปถึงการผลักดันให้มีบีโอไอระดับจังหวัด และร่างพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของภาคประขาชนในการปกครองท้องถิ่น ซึ่งต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดด้วย
ด้านรศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เป้าหมายการกระจายอำนาจที่แท้จริง คือ การนำอำนาจไปไว้ใกล้ปัญหามากที่สุด โดยมุ่งเน้นความอิสระที่จะให้มีการบริหารจัดการเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
"ฉะนั้น ผมยังยืนยันว่า เสน่ห์ของการปกครองท้องถิ่นคือความแตกต่าง ความสวยงามของการปกครองท้องถิ่น คือการคิดไม่เหมือนกัน ทำไม่เหมือนกัน ทำตามวิถีชีวิต และสถานะภูมิสังคมของแต่ละแห่ง"
รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นเองก็ต้องปฏิรูปตัวเอง แม้จะปฏิรูปตัวเองเยอะ ใฝ่หาความรู้เยอะ คิดค้นนวัตกรรม พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่ยังไม่พอ เพราะธรรมชาติของสังคมนี้คือ ทำดีไม่มีคนชม ทำผิดเรื่องเดียวดังทั้งประเทศ
"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรการเมือง ไม่แปลกทำเพื่อหวังคะแนน แต่สิ่งสำคัญทำหวังคะแนน แต่ไม่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สุขจริง ผลที่ตามมาคือสอบตก วันนี้สัดส่วนของอดีตนายกฯ 2 สมัย ต่อ สมัย 3 เหลือประมาณ 18% ดังนั้นไม่ต้องไปกลัวมรดกตกทอดได้ถ้าท่านไม่ทำงานให้เข้าตาประชาชน"
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวต่อว่า ท้องถิ่นต้องปฏิรูปตัวเองก่อน คนอื่นมาปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปท้องถิ่นที่สำคัญ คือวิธีคิดและวิธีทำงาน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง และทำงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน
"อปท.คือองค์กรที่ลดช่องว่างของคน เติมเต็มให้กับประชาชน ฉะนั้นต้องเปลี่ยนความคิดใหม่จากการบริหารงานองค์กรท้องถิ่น ไม่ใช่การบริหารเทศบาล อบต. อบจ. แต่การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือการบริหารพื้นที่ความรับผิดชอบที่มีปัญหาแตกต่างกัน มีต้นทุนแตกต่างกัน คิดการบริหารเทศบาล คือการบริหารเมือง ที่สำคัญมา ท้องถิ่นต้องคิดสร้างจิตวิญญาณของเมือง ของพื้นที่ ของประชาคม หากเราไม่คิดในเชิงจิตวิญญาณว่าอยากให้วิถีชีวิต ลมหายใจเป็นอย่างไร สุดท้าย การทำหน้าที่ก็จะเหมือนกับหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค"
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึง อปท.ต้องขยับตัวเป็นองค์กรเพื่อประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วม ลดความเป็นระบบราชการลง แล้วกลับมาทำงานในลักษณะภาคประชาสังคมและภาคเอกชนมากขึ้ "ทุกพื้นที่มีโครงสร้างประชากร วิถีชีวิต เริ่มเปลี่ยนแปลง ผู้ที่อยู่ในสังคมได้ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมืองจะมีการเติบโตและเสื่อมโทรม แล้วเราจะยอมปล่อยให้เมืองเป็นไปตามยถากรรมหรือจะเปลี่ยนโดยกำหนดทิศทาง"
รศ.วุฒิสาร กล่าวด้วยว่า ถ้าจะฝันถึงเมืองแห่งอนาคต เราต้องทำให้เกิดการโตอย่างฉลาด เพื่อเป็น Smart City ภายใต้หลัก 5G คือ G1 Green&Clean (ท้องถิ่นสีเขียว) มีความสะอาดทั้งทางกายและจิตใจ ไม่ใช่เฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น G2 Generosity (ท้องถิ่นใจดี) ท้องถิ่นคิดถึงคำนึงถึงทุกคนที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส G3 Good Governance จะต้องมีธรรมาภิบาล ดูแลประชาชนด้วยคุณความดี
G4 Generate Revenue (ท้องถิ่นสร้างรายได้) โครงสร้างภาษีไม่เอื้อให้มีรายได้ แต่จะต้องคิดรายได้ที่ไม่ได้มาจากตัวภาษี การพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากร ต้นทุนของเมืองนั้นมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ต้องกล้าเก็บค่าธรรมเนียม และ G5 Go Inter (ท้องถิ่นอินเตอร์) การดูงานต่างประเทศไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากทำจริง
1