อิสราเอลหวังกาซา "หยุดยิงถาวร" เตือนไทยเฝ้าระวังอิทธิพล"ไอซิส"
การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่บานปลายกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดในฉนวนกาซาช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนหลายพันคนต้องสังเวยชีวิต โดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์ ขณะที่ฝ่ายอิสราเอลแม้จะสูญเสียน้อยกว่า แต่ในแง่คุณค่าของชีวิตแล้ว แม้เพียงชีวิตเดียวก็มิอาจประเมินค่าได้
ล่าสุดทั้งสองฝ่ายอยู่ภายใต้ "ข้อตกลงหยุดยิง" ทว่าสถานการณ์ก็ยังคงเปราะบางอย่างยิ่ง สันติภาพที่ยั่งยืนสถาพรยังมองไม่เห็น และไม่มีใครหาญรับประกัน
ซ้ำร้ายในอารมณ์ความรู้สึกของชาวโลกก็แบ่งข้างสนับสนุนแต่ละฝ่าย โลกมุสลิมก็มองยิว (อิสราเอล) เป็นผู้ร้าย ขณะที่ชาติตะวันตกที่หนุนหลังอิสราเอลก็ตราหน้าว่าฮามาสคือผู้ก่อการร้ายเช่นกัน
แม้ประเทศไทยจะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ขัดแย้ง ทว่าในห้วงแห่งวิกฤตการณ์ ก็มีแรงงานไทยต้องพลีชีพให้กับกับวิกฤตการณ์ในฉนวนกาซา 1 ราย จนต้องมีแผนอพยพแรงงานไทยออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตรายจ้าละหวั่น
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ร้อนที่ตะวันออกกลางจนทะลักจุดเดือดไม่ได้มีแค่ "ฉนวนกาซา" แต่ยังมีปรากฏการณ์ของ "กลุ่มรัฐอิสลาม" หรือ "ไอซิส" ที่กำลังสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงไปทั่วโลก โดยเฉพาะการเปิดปฏิบัติการรบเพื่อยึดครองพื้นที่เพื่อตั้งรัฐอิสลามในดินแดนบางส่วนของอิรักและซีเรีย, ประหารชีวิตผู้สื่อข่าวตะวันตกด้วยวิธีเชือดคอต่อหน้ากล้องวีดีโอแล้วนำไปเผยแพร่ และการใช้โซเชียลมีเดียอย่างช่ำชองเพื่อปลุกระดมเยาวชนคนหนุ่มจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมขบวนกับไอซิส
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายนิสสิม เบน ชิตริต ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล (Mr. Nissim Ben Shitrit, Israel's Permanent Secretary, Ministry of Foreign Affairs) ได้เดินทางมายังประเทศไทย และได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยกลุ่มหนึ่งได้สัมภาษณ์และรับฟังทัศนะอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ทราบถึงสถานการณ์ในฉนวนกาซาและภัยคุกคามจากไอซิสในมุมมองของอิสราเอล
ในเบื้องแรก นายชิตริต ให้ความมั่นใจกับทางการไทยว่าจะคุ้มครองชีวิตและสวัสดิภาพของแรงงานไทยหลายหมื่นคนในอิสราเอลไม่ให้เกิดเหตุการณ์สลดซ้ำรอยที่มีคนไทยเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย ซึ่ง นายชิตริต ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
แรงงานไทยที่โดนหางเลขจากการสู้รบจนสิ้นชีวิตในอิสราเอลรายนี้ คือ นายนรากร กิตติยังกุล วัย 36 ปี ชาว จ.น่าน โดยข่าวร้ายเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค.57 และศพของเขาได้ถูกส่งกลับบ้านเกิด สู่อ้อมอกของคนในครอบครัวในเวลาต่อมา
"ขณะนี้ไทยกับอิสราเอลมีข้อตกลงทวิภาคี อนุญาตให้แรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตรที่อิสราเอลได้ราว 25,000 คน และแรงงานจำนวนมากยังคงทำงานต่อไป ไม่ยอมกลับประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสก่อนหน้านี้ก็ตาม" นายชิตริต กล่าว
และว่าทางการอิสราเอลได้เพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัยให้กับแรงงานไทยเพื่อป้องกันการสูญเสียซ้ำอีก โดยกำหนดเขตปลอดภัยสำหรับการทำงาน ให้มีระยะห่างอย่างน้อย 40 กิโลเมตรจากพื้นที่ที่มีการสู้รบ โดยแรงงานไทยจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกเขตปลอดภัยดังกล่าว
ส่วนข้อตกลงหยุดยิงที่มีการเจรจากันที่กรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ และมีอียิปต์ทำหน้าที่เป็นคนกลางนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล บอกว่า เขาหวังให้ข้อตกลงหยุดยิงมีผลตลอดไป อย่างไรก็ดี การเจรจาที่มีอียิปต์เป็นคนกลางซึ่งจะมีขึ้นรอบใหม่ในเร็ววันนี้ ต้องรอดูว่าฝ่ายฮามาสจะส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือหรือไม่ เพราะการเจรจา 2 รอบที่ผ่านมาไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม และไม่ได้อธิบายเหตุผล
นายชิตริต บอกด้วยว่า การเจรจาที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนน่าจะเกิดจากการรอมชอมของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่รอมชอมฝ่ายเดียว
"เราพร้อมที่จะรอมชอม" เขาย้ำท่าทีของอิสราเอล
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการซักถามกันในวงสนทนา และทางการอิสราเอลให้ความสำคัญไม่น้อย ก็คือการแผ่อิทธิพลทางการรบและทางความคิดของ "กลุ่มไอซิส" หรือ "กลุ่มรัฐอิสลาม" ที่ต้องการตั้งรัฐอิสลามเหมือนยุคโบราณในดินแดนบางส่วนของอิรักและซีเรีย ซึ่งแม้ดินแดนอิสราเอลจะไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ แต่การเคลื่อนไหวของไอซิสกลายเป็นประเด็นที่ทั้งโลกให้ความสนใจ ประหนึ่งเป็นภัยคุกคามใหม่ของโลก
"ปัญหาไอซิสน่ากังวลมาก แม้ยังไม่พบหลักฐานโยงฮามาสหรือฮิซบอลเลาะห์ก็ตาม" นายชิตริต กล่าว โดยทั้งฮามาส และฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มติดอาวุธที่เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญของอิสราเอล
นายชิตริต เรียกร้องให้ไทยปฏิเสธที่จะรับรองสถานะของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ โดยเฉพาะไอซิส และไทยควรให้ความสนใจปัญหาการก่อการร้ายเป็นพิเศษ เนื่องจากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 3 ครั้งในรอบ 2 ปี (เหตุระเบิดจากกลุ่มผู้ต้องหาที่ถือพาสปอร์ตอิหร่านเมื่อ 14 ก.พ.2555 และการจับกุมสมาชิกฮิซบอลเลาะห์อีก 2 ครั้ง เมื่อต้นปี 2555 และช่วงสงกรานต์ปี 2557)
"ไทยอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน จึงต้องระวังให้มาก พวกนี้่มักมาในรูปแบบของการแฝงตัว ล้างสมอง แม้แต่คนในชาติตะวันตกก็เข้าร่วมกับไอซิส" ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล กล่าว
เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงของไอซิสกับมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่มีกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลและก่อความรุนแรงบ่อยครั้ง นายชิตริต บอกว่า เขาไม่สามารถออกความเห็นในเชิงคาดเดาได้ และเขาไม่เคยได้ยินความเชื่อมโยงระหว่างมุสลิมทางตอนใต้ของไทยกับกลุ่มไอซิส แต่ที่แน่ๆ คือมีข้อมูลว่ากลุ่มคนในมาเลเซียและอินโดนีเซียจำนวนไม่น้อยไปร่วมกับไอซิส
เขาย้ำจุดยืนของอิสราเอลต่อโลกอิสลามด้วยว่า พวกเขาไม่ได้มีปัญหากับมุสลิมทุกคน ทุกประเทศ แต่มีปัญหาเฉพาะกับมุสลิมหัวรุนแรงเท่านั้น
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายนิสสิม เบน ชิตริต
หมายเหตุ :
1 นพคุณ ลิ้มสมานพันธ์ เป็นบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ NOW26 ในเครือเนชั่น
2 บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 ก.ย.2557 ด้วย