‘ทุ่งคาฮาเบอร์’ ยันไม่ถอนฟ้อง-ปิดเหมืองถาวร ขอโอกาสขุดคืนทุนอีก 2 เหมือง
ผู้บริหาร ‘ทุ่งคาฮาเบอร์’ ยันไม่ถอนฟ้อง-ปิดเหมืองถาวร ขอโอกาสชาวบ้านขุด 2 เหมืองสุดท้าย ‘ม.ล.กรกสิวัฒน์’ ชี้ทางแก้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ รัฐต้องเป็นตัวกลาง คำนวณ ‘ผลประโยชน์สุทธิ’ หวังสปช.ปฏิรูปนโยบายทรัพยากร เปลี่ยนหลักคิดให้ ปชช.เป็นเจ้าของแท้จริง
วันที่ 10 กันยายน 2557 ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา ม.คุมาโมโตกักกุเอ็ง ญี่ปุ่น ร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดสัมมนาวิชาการ ‘ข้อเท็จและความจริง:เหมืองทองคำ จ.เลย’ ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายสมัย ภักดิ์มี ตัวแทนประชาคม 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการรักษาพื้นที่ในชุมชนในให้ลูกหลาน เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนในอนาคต หากปล่อยให้สัมปทานเหมืองแร่ต่อไป ป่า ภูเขา และแหล่งน้ำจะหายไปหมด ปล่อยทิ้งไว้เพียงสารพิษ ทั้งนี้ จ.เลยมีทรัพยากรแร่ 11 ชนิด ถ้าบริษัทผู้รับสัมปทานข้ามชาติเข้ามาดำเนินการโดยไม่มองความคุ้มค่าทางธรรมชาติ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร ฉะนั้น โปรดอย่าเอาชีวิตชาวบ้านไปแลก
ขณะที่รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ กรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดคัดค้านการลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ’ โดยต้องเป็นไปตามมติประชาคม 6 หมู่บ้านว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะหากลงนามไปตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน อาจถูกฟ้องร้องจากผู้ถือหุ้นหลายร้อยราย และจะให้ปิดเหมืองถาวรนั้นก็ไม่ได้ เพราะจะนำเงินที่ไหนมาจ่ายพนักงาน
เมื่อถามถึงโอกาสในการถอนฟ้องชาวบ้านในพื้นที่ ผู้บริหาร บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ ระบุว่า ไม่ถอนฟ้องแน่นอน เพราะเมื่อ 5 ปีก่อน เคยเกิดกรณีเช่นนี้แล้ว บริษัทยอมถอนฟ้อง แต่สุดท้ายชาวบ้านก็เร่งรัดให้ปิดเหมืองอีก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทหารได้เข้ามาคลี่คลายปัญหา โดยให้ปิดเหมืองชั่วคราวแล้ว และมีแนวทางให้อยู่อย่างปรองดอง
“จุดไข่แดงบริเวณเหมืองทองคำเป็นการแย่งชิงพื้นที่เกษตรกรรม โดยชาวบ้านต้องการใช้เพื่อปลูกยางพารา จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้ปิดเหมืองและเร่งฟื้นฟู” รศ.ดร.วิชัย กล่าว และว่า เป็นไปได้หรือไม่ หากบริษัทจะขอดำเนินกิจการต่ออีก 2 แปลง ระยะเวลา 12 ปี เพื่อคืนเงินลงทุน จากนั้นจะขอปิดเหมืองถาวร
ส่วนน.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงทางออกจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและผลกระทบของชาวบ้านที่สูญเสียไปจะได้รับการเยียวยา และบริษัทผู้รับสัมปทานต้องยอมรับว่ ามลพิษที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการทำเหมือง และหยุดพฤติกรรมใช้กลไกรัฐต่อสู้กับชาวบ้าน มิเช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรงขึ้น
“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ผู้บัญชาการทหารระดับภาคแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้น ทำให้ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการใดได้ ส่วนตัวจึงมองว่า การใช้อำนาจแก้ปัญหา สยบความเคลื่อนไหว ไม่ใช่ทางออกที่ดี จึงขอให้เร่งทบทวน แล้วหันมาศึกษาว่าปัญหาจริง ๆ เป็นอย่างไร” ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
ด้านม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงาน ม.รังสิต กล่าวว่า ประเทศไหนที่มีทองคำถือว่าโชคดี ซึ่งไทยมีทรัพย์สมบัติส่วนนี้มาก แต่กลับไม่มีความสุข เพราะเรามองผลประโยชน์แตกต่างกัน ทำให้ชุมชนกับบริษัทผู้รับสัมปทานเถียงกัน ทั้งที่ปัญหาแท้จริงเกิดจากนโยบายของรัฐในการจัดการสมบัติของแผ่นดินไม่ตั้งบนหลักประโยชน์สูงสุดของประชาชน
“ภาคเอกชนพูดถึงกำไรการเงิน รัฐพูดถึงการเก็บค่าภาคหลวงแร่ ประชาชนพูดถึงความเสียหายต่อสุขภาพ จะเห็นว่าแต่ละคนพูดในเรื่องที่ตัวเองมีอยู่ ฉะนั้น ต้องนำผลบวกลบมาคำนวณเป็น ‘ผลประโยชน์สุทธิ’ ผ่านการมีส่วนร่วมคิด โดยมีรัฐเป็นผู้ดำเนินการ” ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงาน กล่าว และว่าหากชาวบ้านได้ผลลบ ภาคเอกชนได้ผลบวก นั่นทำให้ผลประโยชน์สุทธิไม่ชอบธรรม และปัญหาจะตกแก่สังคมเต็มไปหมด จึงต้องให้ทุกฝ่ายได้รับชัยชนะเหมือนกัน โดยมีภาครัฐเป็นตัวกลางทำให้เกิดความสมดุลในผลประโยชน์
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อได้ผลประโยชน์สุทธิแล้ว บางครั้งทางเลือกที่ดีที่สุดไม่จำเป็นต้องขุดทรัพยากรขึ้นมาก็ได้ เพราะอาจทำให้สารพิษที่เจือปนอยู่ในธรรมชาติเดิมนั้นออกมากระทบชาวบ้านเพิ่ม แต่หากยังยืนยันใช้สูตรเดิมต่อไปก็จะทะเลาะกันไม่จบ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ ปฏิรูปนโยบายของรัฐด้านทรัพยากร ทำอย่างไรให้รัฐเกิดความตระหนักว่าประชาชนคือเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง ซึ่งส่วนตัวไม่มั่นใจว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มีหลักคิดนี้หรือไม่ มิเช่นนั้นปัญหาจะมีต่อไปและประเทศจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวด้วยว่า ข้อมูลของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำบางส่วนยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ยกตัวอย่าง ปริมาณการใช้สารไซยาไนด์ ที่ต้องนำข้อมูลเปิดเผยให้หมด ซึ่งข้อมูลชุดดังกล่าวจะเอื้อต่อการหาข้อสรุปร่วมกันได้ ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำเป็นต้องยอมรับปัญหาว่า เกิดขึ้นจริงก่อน จากนั้นให้นำข้อมูลมารวมกัน โดยการสรรหาหรือจัดตั้ง ‘คนกลาง’ ในการไกล่เกลี่ยและพิจารณาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางสรุปในการแก้ไขปัญหา
ส่วนกรณีชาวบ้านใช้ทรัพยากรในพื้นที่อาศัยอยู่ไม่ได้นั้น นักวิชาการ ม.รังสิต ระบุว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เหตุเพราะหากผู้ใดอาศัยอยู่ในพื้นที่ไหนก็ตามต้องมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ดังกล่าวได้ แต่ในกรณีของพื้นที่ใกล้บริเวณเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ชาวบ้านไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ เพราะมีสารตกค้างทั้งในดินและในน้ำ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน อีกทั้งการข่มขู่คุกคามก็ถือเป็นการละเมิดเช่นกัน
ดร.อาภา กล่าวถึงความคาดหวังว่า คสช. และทหารในพื้นที่ยังไม่เห็นปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน จึงอยากให้มีคนกลางเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริง และนัดเก็บตัวอย่างสารปนเปื้อนส่งไปตรวจหลาย ๆ ที่ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดที่มีมาวิเคราะห์ร่วมกัน สำหรับใช้หาข้อเท็จจริงต่อไป .
ภาพประกอบ:ประชาไท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:'คนรักษ์บ้านเกิด' ยันเซ็นเอ็มโอยูแก้ปมเหมืองทองตามมติ 6 หมู่บ้าน
เจรจาไร้ข้อสรุป 'คนรักษ์บ้านเกิด' จี้บ.ทุ่งคำฯ ปิดเหมือง-ถอนฟ้องชาวบ้าน
‘ฅนรักษ์บ้านเกิด’ ยื่นจม.เปิดผนึก ‘บิ๊กตู่’ ค้านเซ็นเอ็มโอยูแก้ปมหมืองทองคำ