“นิพนธ์ พัวพงศกร” : งานวิจัยคือให้ความรู้ ไม่ใช่นำไปอ้างเอาผิดใคร
“…สิ่งที่นักวิชาการอย่างผมทำได้ คือ การให้ความรู้และข้อเท็จจริงกับสังคมว่าโครงการรับจำนำข้าวมิได้มีแค่ประโยชน์ต่อชาวนาเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคมใหญ่หลวงกว่าเม็ดเงินจากผู้เสียภาษีที่นักการเมืองโปรยปรายให้ชาวนาบางส่วน ความเสียหายสำคัญ คือ การทุจริตของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจระดับสูง ตลอดจนการนำระบบค้าขายแบบเล่นพวกเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์จากตลาดข้าว และใช้ชาวนาเป็นข้ออ้าง…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำชี้แจงของนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันทีดีอาร์ไอ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำรายงานวิจัยเรื่องนโยบายจำนำข้าวไปอ้างถึงในสำนวนคดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
----
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงว่า คณะทำงานเรื่องคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานละเลยไม่ดำเนินการะงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สำนวนคดียังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา หนึ่งในประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ คือ การที่ ป.ป.ช. กล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยเรื่องโครงการรับจำนำข้าวของทีดีอาร์ไอว่า “โครงการ (รับจำนำข้าว) ดังกล่าว” มีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนมีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น
ข่าวดังกล่าวสร้างความสับสนและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รายงานวิจัยโครงการนโยบายจำนำข้าวของทีดีอาร์ไออย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำรายงานวิจัยฉบับดังกล่าว ผมขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานวิจัยที่ตกเป็นข่าว
ประการแรก รายงานวิจัยฉบับที่ อสส. อ้างถึง ไม่ใช่ รายงานวิจัยที่บ่งชี้ความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะ ไม่ใช่ การศึกษาวิจัยโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย แต่เป็นการวิจัยนโยบายรับจำนำข้าวฤดูกาลผลิตปี 2548/49 ในสมัญรัฐบาลทักษิณ เจ้าของผลงานวิจัย (ผู้ว่าจ้าง) คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ชื่อรายงานวิจัยคือ “โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต : แสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก” ตีพิมพ์เมื่อตุลาคม ปี 2553 ท่านผู้สนใจสามารถหาต้นฉบับได้จาก ป.ป.ช. และจากเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ
ส่วนรายงานอีกฉบับหนึ่งของผมกับเพื่อนนักวิจัย เรื่อง การทุจริตในการระบายข้าวของโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการตรวจรับของสำนักงานกองทุนสนับสนุการวิจัยเพิ่งให้ความเห็นต่อเนื้อหาของรายงาน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557
รายงานฉบับนี้ไม่เคยส่งให้ ป.ป.ช. มีแต่การเปิดเผยบทสรุปผลวิจัยให้สื่อมวลชนบางฉบับ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 อายจะเป็นเพราะเหตุนี้สังคมก็เลยเกิดความเข้าใจผิดว่า ป.ป.ช. นำหลักฐานจากรายงานวิจัยฉบับหลังไปกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์
วัตถุประสงค์หลักของรายงานฉบับแรกที่ ป.ป.ช. กล่าวถึงในสำนวน ไม่ใช่การศึกษาเรื่องการทุจริตโดยตรง แต่เป็นการศึกษาเรื่องความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนการคลัง ผลขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคม และผลตอบแทนพิเศษที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง
ประเด็นหลักของรายงานฉบับนี้คือ การแสวงหามาตรการช่วยเหลือชาวนาโดยไม่แทรกแซงตลาด ซึ่งเป็นบ่อเกิดการทุจริต มาตรการดังกล่าวจะเป็นการป้องกันการทุจริตที่ได้ผลมากที่สุด
กรรมการเจ้าของสำนวนคดี (นายวิชา มหาคุณ) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า สาเหตุที่มิได้ส่งรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของทีดีอาร์ไอให้ อสส. เพราะ “รายงานทีดีอาร์ไอเป็นเพียงการยกตัวอย่างว่า มีช่องทางการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง ไม่ได้หยิบยกรายงานวิจัยดังกล่าวมาเป็นเอกสาร หลักฐานในการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์”
ถ้าเช่นนั้น สื่อมวลชนบางฉบับ สังคม ตลอดจนอัยการสูงสุดเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอได้อย่างไร
สาเหตุอาจมีหลายประการ ซึ่งรวมทั้งประเด็นการเมืองที่ผมไม่อยากคาดเดา แต่ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งอาจจะเกิดจากคำบรรยายของ นายวิชา ในการอบรมหลักสูตรนิติเศรษฐศาสตร์ระยะสั้นแก่เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ว่า “ถ้าไม่มีการริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้วิเคราะห์ไว้ เช่น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าว และการแสวงหาคำตอบของนายนิพันธ์ นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ตนฟันธงว่า ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถที่จะชี้มูลความผิดกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ ดังนั้น มิติทางเศรษฐศาสตรมีความสำคัญอย่างมาก (ต่อการทำงานของ ป.ป.ช.)
อันที่จริงนายวิชา ควรยกความดีความชอบนี้ให้แก่ นายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ซึ่งริเริ่มให้มีการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์เพื่อหามาตรการป้องกันการทุจริตจากการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ในเวลานั้น ป.ป.ช. ได้ว่าจ้างนักวิชาการจาก ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และทีดีอาร์ไอ ศึกษาเรื่องการแทรกแซงตลาดข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และลำไย และเสนอแนะมาตรการป้องกันการทุจริต
ในเร็ว ๆ นี้ ผมจะเขียนบทความสรุปผลการวิจัยเรื่องการทุจริตการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงในสื่อมวลชน แต่วันนี้ขออนุญาตทำความเข้าใจล่วงหน้ากับท่านผู้อ่านก่อนว่า รายงานวิจัยฉบับใหม่นี้คงไม่สามารถนำไปใช้ชี้มูลความผิดใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเป็นเพียงงานวิชาการที่พยายามแสวงหาหลักฐานว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง รูปแบบและพฤติกรรมทุจริตเป็นอย่างไร และการทุจริตในการระบายข้าวมีมูลค่าเท่าไร
สิ่งที่นักวิชาการอย่างผมทำได้ คือ การให้ความรู้และข้อเท็จจริงกับสังคมว่าโครงการรับจำนำข้าวมิได้มีแค่ประโยชน์ต่อชาวนาเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคมใหญ่หลวงกว่าเม็ดเงินจากผู้เสียภาษีที่นักการเมืองโปรยปรายให้ชาวนาบางส่วน ความเสียหายสำคัญ คือ การทุจริตของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีอำนาจระดับสูง ตลอดจนการนำระบบค้าขายแบบเล่นพวกเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์จากตลาดข้าว และใช้ชาวนาเป็นข้ออ้าง
งานวิจัยของนักวิชาการไม่ใช่งานสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นักวิชาการมีเพียงหน้าที่ศึกษาหาต้นตอของการทุจริตเพื่อหาทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติเท่านั้น โปรดกรุณาอ้างอิงและใช้ประโยชน์งานวิชาการให้ถูกที่ถูกทางด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายนิพนธ์ พัวพงศกร จาก siamintelligence