นพ.นิรันดร์ จี้คสช.หยุดใช้ยาแรง ปราบ จับกุมไล่ชาวบ้านออกจากป่า
อนุกรรมการสิทธิชุมชน และอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กสม.เปิดเวที รับฟังชาวบ้าน 4 ภาค หลังรับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่64,66 มุ่งเน้นปราบปราม ไล่รื้อชาวบ้าน ฟันเกลี้ยงต้นยางพารา หมอนิรันดร์ จี้คสช.รับผิดชอบ เข้ามาจัดการปัญหาด้วยหลักสิทธิมนุษยชน
วันที่ 10 กันยายน 2557 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนา "แผนแม่บทเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน" ณ ห้องประชุมทองกวาว ชั้น 1 โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น โดยภายในงานมีตัวแทนคสช. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านจากทุกภาคของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และคำสั่งคสช.ที่ 66/2557 เข้าร่วม
สำหรับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน อนุมัติมาตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2557 มีหน่วยงานรับผิดชอบหลักและเกี่ยวข้อง 25 หน่วยงาน โดยใช้กรอบแนวคิดตามคำสั่งคสช.ที่ 64,66 ซึ่งมีเป้าหมายรักษาพื้นที่ป่าให้มีสภาพสมบูรณ์ให้ได้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า และทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกภายใน 1ปี รวมถึงฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศให้มีสภาพสมบูณ์ภายใน 2-10 ปี
กระทั่งเป็นที่มาของปฏิบัติการไล่รื้อ ทวงคืนผืนป่า ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะปฏิบัติการตัดต้นยางพาราตามภาคต่างๆของประเทศ
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ และประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กล่าวถึงคำสั่งคสช.ที่ 64 และ 66 เป็นคำสั่งที่เน้นการปราบปราม เป็นหลัก ขณะที่แผนแม่บทฯ ก็ไ่ม่ได้รับฟัง หรือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเลย
"เปรียบเหมือนสังคมไทยป่วยหนัก เป็นมะเร็ง หากใช้ยาแรงคนไข้ก็เสียชีวิตก่อน การใช้ยาแรงอาจดีกับนักการเมือง นายทุน แต่ไม่ควรนำมาใช้กับชาวบ้าน ซึ่งด้อยโอกาส อ่อนแอ เราจำเป็นต้องใช้ยาขนานอื่น คือใช้หลักสิทธิมนุษยชน"
นพ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเร่งด่วนขณะนี้คือการที่ชาวบ้านถูกไล่ออกจากพื้นที่ทำมาหากิน ทั้งๆที่มีสิทธิ์ หลายแห่งมีการตัดโค่นต้นยางพารา ซึ่งเปรียบเสมือนตู้เอทีเอ็มของชาวบ้าน ดังนั้นหากคสช.ไม่รีบแก้ไข ความรุนแรงทางการเมืองอาจหายไป แต่ความเดือดร้อนของชาวบ้านจากกรณีนี้จะเกิดขึ้นมาแทน คนที่เคยศรัทธา คสช.อาจเกิดคำถามขึ้นมาทันที
"หากคสช.แก้ปัญหาที่ดินทำกิน ทำให้คนอยู่กับป่าได้ ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วม เชื่อว่าทำตรงนี้ได้จะได้ใจยิ่งกว่านโยบายจำนำข้าวเสียอีก"
ในส่วนของตัวแทนชาวบ้านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงผลกระทบเมื่อมีคำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับว่า คสช.และหน่วยงานที่ปฎิบัติงานไม่มีการตรวจสอบก่อนว่ามีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ หรือทำการเกษตรอยู่หรือไม่ บางแห่งติดป้ายประกาศตัดต้นยางพารา ทั้งๆที่มีไม่ถึงพันต้น รวมถึงการถูกกล่าวหาเป็นนายทุน ร่ำรวย ซึ่งไม่ต่างจากพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือ พบว่า หลังมีคำสั่งคสช.ออกมา ชาวบ้านรู้สึกเจ็บปวด มีพื้นที่จำนวนมาก ถูกรื้อถอน ส่วนชาวบ้านก็ถูกกล่าวหาเป็นลูกจ้างนายทุน โดยที่ยังไม่ได้มีการลงไปตรวจสอบข้อเท็จริง พร้อมมีข้อเสนอให้คสช.ทบทวนคำสั่งดังกล่าว หากอยากให้บ้านเมืองสงบต้องแก้ไขเรื่องที่ดินอย่างเร่งด่วน ทำอย่างจริงจัง และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มิเช่นนั้น การคืนความสุขให้คนไทย จะกลายเป็นการคืนความทุกข์ให้ผู้ยากไร้