สปส.ปัดลดเงินสมทบนายจ้าง 3% ช่วยผลกระทบค่าแรง ผู้นำกรรมกรขู่ไม่จ่ายตาม
“ปั้น”ปฏิเสธไม่ได้เสนอลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนของนายจ้างจาก 5% เหลือ 3% ภายใน 1 ปี แต่เป็นข้อเสนอสภาอุตสฯ ด้านเครือข่ายแรงงานพร้อมคลื่อนไหวคัดค้าน ระบุกระทบความมั่นคงชีวิตกรรมกร ขู่เลิกจ่ายสมทบ 5%
จากกรณีมีกระแสข่าวว่าสำนักงานประกันสังคม(สปส.)เสนอแนวทางช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต่อกระทรวงแรงงาน โดยให้นายจ้างที่ได้รับผลกระทบลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจากปัจจุบันอยู่ที่ 5 % ลดเหลือ 3% เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะทำให้เงินสมทบกองทุนประกันสังคมหายไป 1 หมื่นล้านบาทนั้น
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าข้อเสนอข้างต้นไม่ใช่แนวคิดของตน แต่เป็นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
“ผมคงไม่บ้าเลือดเสนอแบบนี้ เรื่องนี้ต้องเสนอและดำเนินการผ่านมติคณะกรรมการประกันสังคม ไม่ใช่อยู่ๆจะเสนอต่อกระทรวงแรงงานได้ทันที อย่างไรก็ตามตอนนี้ สปส.กำลังศึกษาเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนทั้ง 7 กรณีเช่น การักษาพยาบาล เงินออมชราภาพ” เลขาธิการสปส. กล่าว
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อเสนอของ ส.อ.ท.เพราะเงินสมทบเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์และความมั่นคงในชีวิตของแรงงานซึ่งเป็นคนละเรื่องกับปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จึงไม่ควรนำมาปะปนกัน หากจะทำตามข้อเสนอนี้ ก็เชื่อว่าน่าจะผิดกฎหมายประกันสังคม ถ้าจะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่นายจ้าง ควรไปดูกฎหมายในเรื่องอื่นๆ เช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งนายจ้างดำเนินการแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี
“การหามาตรการช่วยลดผลกระทบจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวันให้แก่นายจ้าง จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์และสวัสดิการลูกจ้าง นายจ้างได้กำไรมากมายก็ควรเจียดมาเพิ่มค่าจ้าง ไม่ใช่มาลดสวัสดิการลูกจ้าง หากรัฐบาลมีนโยบายตามข้อเสนอ ส.อ.ท. ฝ่ายลูกจ้างก็จะไม่จ่ายเงินสมทบ 5% เข้ากองทุนฯ บ้าง และจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในเรื่องนี้” ประธาน คสรท.กล่าว .