'ในหลวง' พระราชทานทรัพย์เปลี่ยนพฤติกรรมเด็กอาชีวะ ‘ลด ละ เลิก ทะเลาะวิวาท’
เดินหน้าโครงการจัดการศึกษาทวิภาคีฯ รุ่นที่ 2 ‘พล.อ.สุรยุทธ์’ เผยในหลวงทรงห่วงใยระบบศึกษาไทยไม่สอดคล้องกันแต่ละระดับ ชี้ทางแก้ต้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงสังคม เร่งพัฒนาความสามารถหลากหลายรองรับการผลิต
วันที่ 9 กันยายน 2557 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกองทัพไทย จัดงาน ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาอาชีวศึกษาไทย’ ภายใต้โครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการของ ส.อ.ท. เพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา โดยมีพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธาน
พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการทวิภาคีฯ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาได้รับการฝึกอบรมดูแลเป็นผลน่ายินดี โดยมีครูนิเทศและครูฝึกต่าง ๆ ทุ่มเทเสียสละเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถ และพร้อมจะออกไปทำงานในอนาคตได้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ การทำงานควบคู่กับการอบรมถือเป็นแนวทางในการศึกษาที่ยอมรับของภาคอาชีวศึกษามานานแล้ว เพราะหากว่าเราใช้แต่วิธีสอนอย่างเดียว คงไม่เกิดผล จึงต้องให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
“เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อถวายรายงาน ในแต่ละครั้งพระองค์จะทรงซักถามถึงความคืบหน้าการปรับปรุงการศึกษาไทย โดยทรงเป็นห่วงอย่างมาก” องคมนตรี กล่าว และว่าพระองค์ยังทรงรับสั่ง การที่จะปรับปรุงและสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือขึ้นมาเป็นเรื่องยาก เพราะระบบการศึกษาไทยแยกส่วนกัน การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา เอกชน และอุดมศึกษา ต่างไม่เคยได้พูดคุยกันเลยว่าปัญหาอุปสรรคมีอะไรบ้าง
พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวด้วยว่า อนาคตของเราขึ้นอยู่กับลูกหลานทั้งหลาย ประเทศมีศักยภาพและความพร้อม แต่ปัญหาคงอยู่ที่การจัดการศึกษา ฉะนั้นต้องทำอย่างไรให้มีวิธีจัดการศึกษาที่เหมาะสมสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมโลก จึงจะเป็นสิ่งทำให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า
“นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ว่า อนาคตของไทยขึ้นอยู่กับการทำให้ภาคการผลิตมีประสิทธิภาพ คือ อาจจะไม่ต้องใช้คนมากนัก แต่คนจะต้องมีฝีมือและความสามารถ ทำได้หลายอย่าง ภาคการผลิตของไทยจึงมีประสิทธิภาพสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องความสามารถของนักศึกษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องปลูกฝังการเป็นคนดี มีระเบียบวินัย ติดตัวตลอดไปด้วย” องคมนตรี กล่าว
|
ด้านนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมการโครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการฯ กล่าวว่า โครงการนี้จัดตั้งขึ้นตามกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงห่วงใยเด็กและเยาวชนอาชีวศึกษามีปัญหาทะเลาะวิวาท โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ปีนี้มี 11 สถาบันอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพฯ เเละปริมณฑล เพื่อมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ‘ลด ละ เลิก การทะเลาะวิวาท’ มีจริยธรรม คุณธรรม จิตอาสา และวินัยในการทำงาน เป็นกำลังทรัพยากรบุคลที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“โครงการดังกล่าวดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น โดยรุ่นที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556-30 เมษายน 2557 และรุ่นที่ 2 กำลังดำเนินการในปีการศึกษา 2557 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลเป็นที่น่าพอใจตามวัตถุประสงค์ โดยมีแผนทั้งสิ้น 5 ระยะ” ประธานคณะกรรมการโครงการฯ กล่าว
นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ระบบการศึกษาทวิภาคีมิใช่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งการส่งนักศึกษาฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการต่าง ๆ เกิดปัญหาอยู่บ้าง อาทิ บริษัทขอส่งตัวนักศึกษากลับ นักศึกษายุติการเข้าร่วมโครงการ นักศึกษากลัวการฝึก
“เยาวชนที่มีปัญหายาเสพติด ไม่เรียนหนังสือ หรือเกเร ส่วนหนึ่งมีบ่อเกิดมาจากครอบครัวและระบบการเรียนการสอน ซึ่งไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ครบถ้วน” รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว และว่า การเรียนที่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี 70% เรียนจากประสบการณ์จริง 20% เรียนจากคำแนะนำ และ 10% เรียนในห้อง ฉะนั้นใบปริญญาจึงไม่มีความสำคัญเท่ากับการฝึกฝน
พล.อ.เผด็จการ จันทร์เสวก ผู้แทนกองทัพไทย กล่าวถึงการฝึกฝนนักศึกษาในโครงการว่า เน้นการพัฒนาบุคลิกภาพและสร้างระเบียบวินัย ซึ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะฝึก 14 ครั้ง/ปี แต่ไม่เข้มงวดเหมือนทหารเกณฑ์ เนื่องจากอายุยังน้อย โดยรูปแบบเป็นไปตามศักยภาพเรื่องระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา การอยู่ร่วมกันในสังคม และเสริมความรู้ด้านอื่น ๆ เช่น โทษของยาเสพย์ติด พระคุณบุพการี ประสบการณ์ศิษย์เก่า เป็นต้น และให้มีการฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 2
ขณะที่รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชน กล่าวว่า อาชีวศึกษาฝึกฝนคนเข้าสู่วิชาชีพ เป็นคนดีมีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานประกอบการหลายแห่งมีปริมาณแรงงานและคุณภาพไม่สอดคล้องกัน เพราะไทยเน้นวิชาการเป็นหลัก ฉะนั้นหากไทยต้องการเป็นศูนย์กลางอาเซียน การพัฒนาคนให้มีศักยภาพแข่งขั้นได้จึงมีความสำคัญ
สำหรับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับอาชีวศึกษานั้น นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ กล่าวว่า นักศึกษาทะเลาะกันเมื่อคิดเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมาก โดยอยู่ราว 1 พันคน จากนักศึกษาทั่วประเทศ 8 แสนคน ซึ่งเมื่อเกิดโครงการจัดการศึกษาทวิภาคีขึ้น ปัญหาดังกล่าวก็ลดน้อยลง นักศึกษาหลายคนได้รับโอกาสเข้าทำงาน มีค่าตอบแทน ทำให้เป็นโครงการที่ควรยึดถือแบบอย่างและจะเดินหน้าต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าวมีข้อสรุปว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมการฝึกมีระดับผลการเรียนดีขึ้น มีความพึงพอใจมาก ที่สำคัญ นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และควบคุมอารมณ์ได้ ตลอดจนหลายคนชื่นชมครูฝึก จึงอยากให้โครงการนี้เป็นโครงการพิเศษที่คงลักษณะการพัฒนานักศึกษาอาชีวศึกษาให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นกำลังคนพัฒนาประเทศต่อไป .