มุมมองครูไทย บูรณาการการให้การบ้าน ดีกว่าลดปริมาณ
“ทุกวันนี้ปัญหาคือครูไม่คุยกัน ต่างคนต่างให้การบ้านจนเด็กไม่มีเวลาพัฒนาตัวเองในด้านอื่น การบ้านบางวิชาก็ทำแล้วทำอีก การแก้ปัญหาที่ตรงจุดในวันนี้จึงไม่ใช่การลดการบ้าน แต่เรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้ครูในโรงเรียนคุยกันและออกแบบกันว่าจะร่วมกันบูรณาการการบ้านได้อย่างไร”
หลังจากกระทรวงศึกษาธิการขานรับความเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในกรณีควรลดปริมาณการบ้านของนักเรียนลงเพื่อให้นักเรียนมีเวลาที่จะทำกิจกรรมอื่นๆเพิ่มเติม และฝึกทักษะของนักเรียนด้วยการเน้นไปที่รายงานกลุ่มเป็นหลัก รวมทั้งยังมองว่า การลดการบ้านลงจะช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น
สำนักข่าวอิศราสอบถามความเห็นของครูทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษาต่อกรณีดังกล่าวว่า ลดการบ้านจะช่วยทำให้เด็กเรียนดีขึ้นได้จริงหรือ
นางอรทัย สาโรวาท อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์ มองว่า การลดปริมาณการบ้านจะต้องดูว่าเป็นเด็กระดับไหน หากมองภาพรวมว่าให้การบ้านเยอะแล้วเด็กไม่มีเวลาพักอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหากเป็นในระดับประถมศึกษาจะเป็นการบ้านแบบวันต่อวัน ส่วนในระดับมัธยมศึกษาไม่ใช่ในรูปแบบวันต่อวันแต่จะมีการสั่งและมีระยะเวลาในการทำ ดังนั้นหากใช้วิธีการบูรณาการหลายๆวิชาแล้วให้เด็กมีการบ้านเพียงชิ้นเดียวจะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยลดภาระให้เด็กได้ อีกทั้งยังช่วยให้เด็กมีคะแนนในหลายวิชาซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวเด็กเอง
"บางวิชา เช่น คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องเรียนทั้งในหลักการและต้องมีการฝึกฝนพัฒนาทักษะ หากวิชาเหล่านี้ไม่มีการบ้านเด็กจะมีการพัฒนาได้อย่างไร เพราะวิชาเหล่านี้ไม่ได้ใช้เวลาในการทำการบ้านมากบางส่วนก็เป็นความจริงที่บางครั้งอาจมีการสั่งการบ้านมากเกินความจำเป็น ซึ่ง คสช.ก็ต้องดูด้วย การมองว่าเด็กมีการบ้านเยอะจนไม่มีเวลาทำอะไรนั้น จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ก็ยังมีเวลาแชทไลน์ เล่นเฟชบุ๊ก นั่งโทรศัพท์ ฉะนั้นคำกล่าวอ้างจะนำมาเหมารวมทั้งหมดไม่ได้"
นางอรทัย ให้ความเห็นถึงวิธีการบูรณาการหลายรายวิชารวมกัน เป็นวิธีการที่ช่วยลดภาระให้เด็กอย่างแท้จริง ซึ่งความจริงแล้วในวงการการศึกษามีการพูดคุยมานานมาก แต่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทำไม่ต่อเนื่องไม่จริงจัง ระบบการศึกษาไทยเหมือนกับการเปิดโซดาซู่ซ่าสักพักแล้วก็หาย ถ้าไม่มีการติดตามก็จะเงียบกันไป ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องทำคือครูแต่ละระดับชั้นต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรออกแบบแบบไหน เช่นครูมัธยมศึกษาปีที่5 วิชาภาษาไทยภาษาอังกฤษามาคุยกันช่วยกันแบบนี้จะเป็นการลดภาระให้เด็กอย่างแท้จริง ลดภาระได้มากกว่าการบ้าน
“ยิ่งไม่มีการบ้านเด็กจะยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะปัจจุบันเด็กแทบจะจับประเด็นไม่ได้ ฟังอะไรได้เป็นประโยคสั้นๆเพราะมัวแต่ติดอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียการลดการบ้านในบ้างวิชาอาจจะจำเป็นในระดับหนึ่งแต่สิ่งสำคัญมากกว่าการลดปริมาณการบ้านคือการบูรณาการ นี่คือประสบการณ์จากการที่เป็นครูมา37 ปี”
ด้านนายจิรเมศ คลังทอง รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล4 (วัดบำรุงธรรม) เทศบาลสระบุรี กล่าวว่า การจะลดปริมาณการบ้านนักเรียนจะต้องดูเป็นระดับด้วยปฐมวัย ประถม หรือระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากปริมาณการบ้านมีความแตกต่างกันทั้งในแง่วัตถุประสงค์ สำหรับเด็กประถมเองวันหนึ่งเรียนประมาณ 8 วิชา ถ้าครูให้การบ้านทุกคนทุกวิชาในปริมาณที่มากการบ้านก็จะเยอะ ซึ่งบางวิชาที่ไม่จำเป็นก็อาจจะมีการให้ที่น้อยลงได้คือตามนโยบายก็คงจะไม่ใช่ให้ลดทั้งหมด แต่ครูต้องให้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ระดับประถมจะต้องมีการบ้านเพราะเป็นวัยที่เด็กต้องมีการฝึกทักษะแต่ละวิชาอาจจะให้ประมาณ1-2หน้าไม่ใช่ให้เด็กวันหนึ่ง16หน้า แบบนั้นก็จะมากเกินไป
"การให้การบ้านยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูประจำชั้นกับผู้ปกครอง เช่น ถ้าครูตรวจการบ้านเฉลยผิดผู้ปกครองทักท้วงแบบนี้ก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยน ดังนั้นจะเห็นว่า การให้การบ้านยังคงเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ แต่ให้แต่ละวิชามีการบูรณาการร่วมกัน"
ขณะที่นายมีศักดิ์ เชื้อจารย์ชิน อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างประเทศโรงเรียนนาแกสามัคคีวิทยา จังหวัดนครพนม กล่าวว่า การลดปริมาณการบ้านสามารถทำให้เด็กมีเวลาไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้นจริงและการแบ่งกลุ่มรายงานให้ทำในห้องก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ทั้งนี้ทุกอย่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นการแบ่งกลุ่มทำรายงานเด็กที่ขยันหรือตั้งใจก็จะเป็นคนทำแต่เด็กที่ไม่ขยันไม่เอาอะไรเลยก็จะไม่ทำอยู่อย่างนั้น ถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรตัวครูผู้สอนก็จะต้องคอยควบคุมตลอดอย่างใกล้ชิด
ส่วนการลดปริมาณการบ้านให้ให้น้อยลงนั้น เขาก็เห็นด้วยคืออาจจะให้การบ้านโดยตั้งโจทย์ให้เกิดความหลากหลายประมาณ 5-10 ข้อเวลาในห้องเรียนก็สอนไปด้วย พร้อมฝึกทำโจทย์ หากทำเช่นนี้แม้จะลดปริมาณการบ้านลงการสอนก็ยังจะมีประสิทธิภาพอยู่และที่สำคัญจะทำให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อว่าการบ้านเยอะ ดังนั้นทุกอย่างต้องพอประมาณ
ส่วนนางสาวเปรมกมล วิมลรวีวัฒน์ โรงเรียนเขาชะเมาวิทยา จังหวัดระยอง ชี้ว่า การลดการบ้านไม่ใช่ให้ครูให้การบ้านน้อยหรือไม่ให้เลย แต่ครูจะต้องบูรณาการการบ้านกันให้เป็นเรื่องที่ทำแล้วได้หลายวิชา ดังนั้นครูที่แต่ละรายวิชาของชั้นนั้นๆ จะต้องมาพูดคุยกันเพื่อให้การบ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เด็กมีเวลาไปทำกิจกรรมพัฒนาความสามารถในด้านอื่นๆ
"เด็กที่เรียนในเมืองส่วนใหญ่การบ้านจะเยอะ เพราะตัวเด็กมีความพร้อมแม้การบ้านจะมากแต่ก็จะมีแรงตอบกลับ ขณะที่เด็กในต่างจังหวัดที่อยู่ไกลจากตัวเมืองไม่สามารถให้การบ้านมากแบบนั้นได้ ดังนั้นคำสั่งจึงเป็นแค่แนวทางทุกอย่างอยู่ที่วิจารณญาณของครูผู้สอน"
ครูเปรมกมล ทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ปัญหาคือครูไม่คุยกัน ต่างคนต่างให้การบ้านจนเด็กไม่มีเวลาพัฒนาตัวเองในด้านอื่น การบ้านบางวิชาก็ทำแล้วทำอีก การแก้ปัญหาที่ตรงจุดในวันนี้จึงไม่ใช่การลดการบ้าน แต่เรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรให้ครูในโรงเรียนคุยกันและออกแบบกันว่าจะร่วมกันบูรณาการการบ้านได้อย่างไร