วิกฤติท้องทะเล นักวิชาการหวั่นปลาทูน่า ปลาฉลาม สูญพันธุ์
นักอนุรักษ์ ชี้พื้นที่ทะเลมีจำนวน 2 ใน 3 ของโลก แต่กลับพบการอนุรักษ์ทางทะเลมีการคุ้มครองเพียง 1 % ต่างกับบนบกมีถึง 10 % จี้ออกกฎหมาย-กฎระเบียบ คุ้มครองทั้งสัตว์ การใช้ประโยชน์จากทะเล
นายเพชร มโนปวิตร นักวิชาการที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ กล่าวถึงสถานการณ์ท้องทะเลที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ว่า พื้นที่ทะเลมีจำนวน 2 ใน 3 ของโลก การใช้ทรัพยากรต่างๆจากทะเลก็มีจำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน กลับพบว่า การอนุรักษ์ทางทะเลมีการคุ้มครองเพียง 1 % เท่านั้น ในขณะที่บนบกมีการคุ้มครองราว 10 % ดังนั้นการคุ้มครองดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างทะเลและบนบกที่มีความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างสูง ทั้งๆที่ทะเลเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลกอีกแหล่งหนึ่ง
“การได้รับการคุ้มครองบนบกอย่างเสือโคร่ง เสือดาวในแทบทุกประเทศก็เป็นสัตว์อนุรักษ์ ขณะที่ทางทะเล ฉลามชนิดต่างๆ ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศเหมือนกัน ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการอนุรักษ์ การจับการใช้ประโยชน์แทบจะไม่ค่อยมีการควบคุมดูแล กฎหมายก็อ่อนแอ แม้กระทั่งสัตว์ที่เป็นกลุ่มจะเรียกว่าเป็นสัตว์ผู้ล่าแกนหลักของระบบนิเวศ (Keystond Species) โดยเฉพาะคนยังมองว่า การใช้ประโยชน์ทางทะเลใช้ได้ไม่มีขีดจำกัด เพราะมนุษย์ไม่เห็นว่า มีอะไรเกิดขึ้นใต้ท้องทะเล” นายเพชร กล่าว และว่า จึงอยากให้มีกฎหมายและกฎต่างๆออกมาเพิ่มมากขึ้นมากกว่านี้
ด้านดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พื้นที่ของโลกร้อยละ 70.8 หรือ 2 ใน 3 ของโลกเป็นพื้นที่ของทะเล ซึ่งในท้องทะเลมนุษย์มีการใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องของการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์ชายฝั่ง แหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การขนส่งทางทะเล แหล่งแร่ธาตุหรือแม้กระทั่งการจับสัตว์น้ำมากินก็นำมาจากทะเลทั้งนั้น แต่กลับไม่ถูกมองถึงความสำคัญเท่าไหร่นัก เหตุเพราทะเลอยู่ลึกลงไปในน้ำและไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นทั้งความสวยงาม ได้ง่ายๆอย่างพื้นดิน
สิ่งสำคัญที่ตอนนี้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ดร.ธรณ์ กล่าวว่า คือ การลดลงของจำนวนปลาในท้องทะเลอย่างปลาทูน่า ที่นิยมกินกันอย่างมากและทั่วโลก และปลาฉลามที่นิยมกินในภัตตาคารและร้านอาหารทั่วไป ซึ่งล่าสุดงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า สัตว์ทั้งสองชนิดนี้กำลังจะสูญพันธุ์ สาเหตุมาจากการที่มนุษย์นิยมบริโภค แต่ไม่หันมาอนุรักษ์จึงทำให้ปลาลดลงและในอนาคตอาจสูญพันธุ์ในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องปรับปรุงคือ การปรับกฎหมายให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะกฎหมายฉบับยังมีล้าสมัย บวกกับควรมีการผลักดันใหม่มีกฎหมายใหม่เพื่อให้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
“การมีกฎหมายใหม่เป็นสิ่งควรช่วยกันผลักดัน เพราะอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลยังไม่มีกฎหมายเป็นของตัวเอง ไปใช้กฎหมายของหน่วยงานอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้เกิดกฎหมายตรงนี้เกิดขึ้น” ดร.ธรณ์ กล่าว และว่า หลายคนอาจมองทะเลสามารถปรับตัวหรือฟื้นตัวได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ภัยธรรมชาติในหลายๆครั้งที่ผ่านมาก็ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ท้องทะเลที่ใช้ประโยชน์กันแบบไม่มีขีดจำกัดนั้น กำลังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทรัพยากรที่ลดลงและอาจหมดไปโดยที่มนุษย์ไม่ทันตั้งตัว ถึงตอนนั้นลูกหลานจะยังคงมีท้องทะเลอันสวยงามให้ได้ดูกันอีกหรือ