พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกการอนุญาตของราชการ: ทางออกแก้คอร์รัปชัน
พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ เป็นทางออกการแก้ ปัญหาการเรียกรับสินบนและความเดือดร้อนที่ประชาชนต่อสู้เรียกร้องมานาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นเพื่อให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง และเกิดคุณค่าสูงสุดตามที่ประชาชนมุ่งหวัง องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเสนอข้อเสนอแนะ ดังนี้
ความเป็นมาและความพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ
การให้บริการประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ ที่ผ่านมามีตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงกระบวนการให้บริการประชาชนจนมีประสิทธิภาพมาก เช่น การทำบัตรประชาชน การทำใบขับขี่ การทำพาสปอร์ต เป็นต้น ล่าสุดในเดือน กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาปัญหาการออกใบอนุญาต รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน จนเป็นที่มาของการเรียกรับสินบนและสร้างปัญหาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศมายาวนาน เพิ่งได้รับการแก้ไขอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ปัจจุบันกระบวนงานที่ประชาชนต้องติดต่อใช้บริการมีมากกว่า 3,000 เรื่อง
เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน สำนักงาน กพร. กำลังดำเนินการร่วมกับองค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐระดับกรม 40 แห่ง นำกระบวนงานที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก จำนวน 43 กระบวนงาน เช่น งานของกรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน เป็นต้น มาศึกษาเพื่อจัดทำ “ข้อตกลงมาตรฐานในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใส (Service Level Agreement)” โดยมีความก้าวหน้าอย่างมาก
เพื่อให้การแก้ปัญหาเหล่านี้รวดเร็วและยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการตรา พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ........ ที่เข้าใจและตอบสนองถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่กำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ขาดความใส่ใจในการปรับปรุงการให้บริการแต่กลับใช้เป็นเงื่อนไขในการทุจริตคอร์รัปชัน โดยกฏหมายนี้ต้องครอบ คลุมและมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี
ประโยชน์ของ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวก
1. ช่วยอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายของประชาชน
2. ลดความยุ่งยากซับซ้อนและลดระยะเวลาในการติดต่อราชการ ซึ่งเป็นการลดเงื่อนไขที่นำไปสู่การเรียกรับสินบน ของข้าราชการ จาก ประชาชน พ่อค้า นักธุรกิจ
3. ลดเงื่อนไขที่สร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันทางการค้า
4. ช่วยให้สามารถใช้ศักยภาพของระบบสารสนเทศ (IT.) ที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 4 พันล้านบาท อย่างคุ้มค่า
5. สร้างความน่าเชื่อถือในการติดต่อลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ
ประเด็นเสนอแนะ
1. หลักการของกฎหมาย
ที่ผ่านมาการปฏิบัติในการออกใบอนุญาตของหน่วยราชการแก่ผู้ประกอบการและประชาชน มักเกิดการร้องเรียนถึงปัญหาความล่าช้าและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากมักอาศัยเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ ดังนั้น “หลักการ” ของ พ.ร.บ. นี้นอกจากเพื่ออำนวยความสะดวกแล้ว ควรเพิ่มเติม “ให้เป็นไปเพื่อการป้องกันการคอร์รัปชัน” ด้วย
2. นิยาม
เนื่องจากในการยื่นขอใบอนุญาตมักมีข้อกำหนดให้ยื่นเอกสารประกอบการพิจารณา แต่พบว่าเอกสารที่เป็นเงื่อนไขให้ยื่นประกอบนั้น ยังมีความยุ่งยาก ซับซ้อน เช่นการจัดทำ EIA ดังนั้นเพื่อให้บรรลุหลักการของกฏหมายจึงสมควรให้มีการพิจารณาทบทวนครอบคลุมไปด้วยพร้อมกัน ดังนั้น
- “อนุญาต” ให้หมายรวมถึง งานหรือภาระที่ประชาชนต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามเงื่อนไขของการยื่นขอใบอนุญาต (เช่น การจัดทำ EIA)
- “ผู้อนุญาต” ให้หมายความรวมถึง ผู้มีอำนาจในการจัดทำหรือให้บริการ งานหรือภาระที่ประชาชนต้องกระทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ตามเงื่อนไขของการยื่นขอใบอนุญาต (เช่น การจัดทำ EIA)
ข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลง/เพิ่มเติม
*ที่ขีดเส้นใต้ คือส่วนที่ขอให้เพิ่มเติม หรือเป็นสาระที่ต้องการให้มีการทบทวน
1. ให้นำมาตรการดังที่ปรากฏในมาตรา ๑๖ (๔)(๕) มาใช้ทันที เมื่อเริ่มประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีการตั้งศูนย์รับคำขออนุญาตแล้วหรือไม่ โดยนำข้อมูลจากข้อเสนอ 2.2 ที่กล่าวมาแล้ว มาบังคับให้มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้อนุญาตกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ประกอบการ นักวิชาการในสาขา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น เพื่อให้มีการทำงานร่วมกันในการแก้ไข/ตัดทอน หลักเกณฑ์ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการยื่นขอใบอนุญาตที่มีมากไปหรือไม่เหมาะสมกับเทคโนโลยีและสังคมในปัจจุบัน
2. ให้ตรา พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต ทันทีเมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้
3. ตามมาตรา ๖ ย่อหน้าแรก ขอเสนอให้เพิ่มข้อความเป็น “ทุกห้าปี นับแต่วันที่ที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้อนุญาตพิจารณาโดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ว่าสมควรจะปรับปรุงกฏหมายที่ให้อำนาจในการอนุญาต ว่าสมควรปรับปรุงกฎหมายนั้นเพื่อยกเลิกการอนุญาตหรือปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตหรือจัดให้มีมาตรการอื่นแทนการอนุญาตหรือไม่”
- *คำว่าผู้มีส่วนได้เสีย อาจหมายถึงหรืออาจระบุไว้ว่าเป็น ประชาชน นักธุรกิจ/อุตสาหกรรม/นักวิชาการ/ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง หรือเปลี่ยนจากคำว่าผู้มีส่วนได้เสียเป็น “สนง.กพร.” หรือ “สนง. กพร. และ สนง.ป.ป.ช.”
ข้อคิดเห็นอื่นๆ
1. ควรบัญญัติโดยชัดแจ้งว่า “ต้องมีการลดอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพิจารณาอนุญาต แต่ให้เป็นไปตามข้อมูลและกฏเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว”
2. กำหนดให้มีการทบทวนวิธีการ เงื่อนไข เอกสารหรือข้อมูลประกอบการยื่นขออนุญาต ที่ผู้อนุญาตจะบังคับให้ผู้ขออนุญาตต้องแสดงตามกฏหมาย กฏระเบียบที่มีอยู่ปัจจุบัน เมื่อเริ่มใช้ พ.ร.บ.นี้ เนื่องจากปัจจุบันมีกฏระเบีบเหล่านี้มากมายที่ล้าสมัย และกำลังได้รับการศึกษาพิจารณาร่วมกันระหว่าง สนง. กพร. สถาบันของภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องตามโครงการ Service Level Agreement
3. ให้มีการกำหนด 1.พฤติกรรมที่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ และ 2. กำหนดบทลงโทษ
4. ให้กำหนดพฤติกรรมที่เป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นกฏเกณฑ์ที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จะใช้อำนาจเข้ามาตรวจสอบ ลงโทษได้อีกทางหนึ่ง
5. ให้หลีกเลี่ยงความพยายามใดๆ ในการรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจ หรือ ปล่อยให้มีจำนวนหน่วยงานและผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารเพื่ออนุมัติใบอนุญาตเรื่องหนึ่งๆ มากเกินจำเป็น
6. การดำเนินการเรื่องนี้ ต้องมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงมิติของ “การกระจายอำนาจ” “การปกป้องชุมชนและสิทธิชุมชน” “การรักษาสิ่งแวดล้อม” “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” “การพัฒนาเศรษฐกิจ” “การป้องกันคอร์รัปชันทั้งจากผู้อนุญาตและผู้ขออนุญาตทั้งสุจริตและทุจริต
7. ให้นำแนวทาง ข้อตกลงมาตรฐานในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใส (Service Level Agreement) ที่ สำนักงาน กพร.กำลังดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงกระบวนงานตาม พ.ร.บ.นี้