ทีดีอาร์ไอ ชี้เเก้ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง เร่งยกเครื่องระเบียบสำนักนายกฯ เป็นกม.
กรมบัญชีกลางดันระบบจัดซื้อจัดจ้างรูปเเบบใหม่ 'E Bidding-E Market' เชื่อเกิดความโปร่งใส 'ปธ.ทีดีอาร์ไอ' ชงยกเครื่องระเบียบสำนักนายกฯ เป็นกม.จัดซื้อจัดจ้างฯ เน้นป้องกันทุจริตสาขาก่อสร้าง 'ม.ล.ปนัดดา' ชี้ปัจจุบันเงินใต้โต้ลดลง อยากให้ยั่งยืนเเบบนี้ต่อไป
วันที่ 8 กันยายน 2557 กรมบัญชีกลาง จัดสัมมนา ‘หยุดคอร์รัปชัน เพื่อประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า’ ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ โดยมีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิด
นายรังสรรค์ กล่าวถึงนโยบายการปราบปรามการคอร์รัปชันของรัฐบาลว่า เป็นวาระแห่งชาติในการส่งเสริมให้ปลูกฝังจิตสำนึกกับคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เริ่มจากความซื่อสัตย์สุจริต นำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชันที่ผ่านมา ไทยได้เพียง 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก อยู่อันดับที่ 16 จากทั้งหมด 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอยู่อันดับที่ 5 ในภูมิภาคอาเซียน
“การจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานภาครัฐปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 8.33 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของจีดีพี”
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้มีการขจัดปัญหาคอร์รัปชันได้ต้องเกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพิ่มอำนาจประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ หากพบการกระทำผิดต้องรีบแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่หากหน่วยงานรัฐปล่อยปละละเลยก็ถือเป็นความผิดขั้นวินัย
ด้านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธรรมชาติของข้าราชการจะอยู่ในระบบ ซึ่งสอนให้เรารู้จักคำว่าระเบียบวินัย การวางตัวที่เหมาะสม แต่ทุกวันนี้การออกนอกกรอบเป็นสิ่งฝืนธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หากหัวสง่างาม รักษาความถูกต้อง อยู่ในกฎระเบียบ ไม่มีทางที่ลูกทีมจะออกนอกแถว แม้จะมีก็ไม่มาก แต่ปัจจุบันนี้หัวส่ายเยอะ จึงทำให้ลูกแถวเลียนแบบตาม
“ระบบคุณธรรมจริยธรรมเข้าสู่ยุคตกต่ำตั้งแต่พ้นสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านั้นภาพลักษณ์ไทยสูงส่งมาก ฉะนั้นการป้องกันการคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐจะลดลงต้องเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาให้เงินใต้โต๊ะลดลงแล้ว จึงอยากให้ยั่งยืนแบบนี้ต่อไป” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของไทยมีปัญหาในด้านการผูกขาด การใช้ดุลยพินิจไม่เหมาะสม และมีการเปิดเผยข้อมูลล่าช้า ฉะนั้นการปกครองประเทศให้เกิดความชอบธรรมได้ต้องมีระบบที่ดีด้วย จึงเรียกร้องให้ยกเครื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและบริหารพัสดุ
“กรมบัญชีกลางวางระบบการเปิดเผยข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ดีมาก แต่จะต้องมีการตรวจสอบควบคู่กันด้วย จึงเป็นเรื่องที่ควรปรับปรุงอย่างยิ่ง” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าต้องผลักดันให้ระบบความโปร่งใสในสาขาการก่อสร้างเข้าไปอยู่ในกฎหมาย และควรเปิดให้บุคลากรภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การคอร์รัปชันมีทุกวงการและแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนใหญ่ แต่กรณีการจัดซื้อจัดจ้างถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะงบประมาณแต่ละปี 8.33 แสนล้านบาทนั้น มักมีการเรียกเงิน 30% หรือคิดเป็นราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถนำส่วนต่างตรงนี้ไปทำอะไรได้มาก ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การคอร์รัปชันเช่นนี้ลดลงและหมดสิ้นไป
โดยวิธีการจะต้องปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใสทุกขั้นตอน มีการเปิดเผยตัวเลข เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ง่าย และทำให้ผู้เกี่ยวข้องไม่กล้าทุจริต ทั้งนี้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการเข้าไปรับรู้และสังเกตการณ์ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference - TOR) ได้เอื้อประโยชน์แก่ใครหรือไม่
“เราพยายามจะสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกัน และผมเชื่อว่าข้าราชการและนักธุรกิจที่ดีมีมาก แต่สำหรับนักการเมืองไม่แน่ใจ” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว และว่าหากทำทุกอย่างให้ขึ้นมาวางบนโต๊ะ เกิดการตรวจสอบได้ โอกาสในการขจัดปัญหาการคอร์รัปชันจะมีมากขึ้น
นายประมนต์ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวคิดการผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและบริหารพัสดุจะสามารถเกิดกระบวนการที่รัดกุม ให้อำนาจการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และป้องกันการทุจริตได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ที่ล้าสมัยและมีช่องโหว่ ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จ กฎหมายจะครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างระดับท้องถิ่นด้วย
ขณะที่นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างรูปแบบใหม่ ซึ่งมีระบบ E-Market ให้เอกชนที่ขายหรือผลิตสินค้ามาเสนอราคาผ่านระบบ และให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาเปรียบเทียบราคาใช้บริการ และ E-Bidding ให้หน่วยงานภาครัฐเสนอความต้องการใช้สินค้าและบริการ และให้บริษัทเอกชนเข้ามารับจ้างบริการ ซึ่งคาดว่าจะมีความโปร่งใสในกระบวนการและป้องกันการคอร์รัปชันได้ ส่วนรายละเอียดการผลักดันสาขาการก่อสร้างเข้าไปอยู่ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างจะมีการหารือกันอีกครั้ง หากประสบความสำเร็จจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง .