เลขาฯป.ป.ท.กระทุ้ง คสช. ปฏิรูปกฎหมายเอาผิดคนโกงจัดซื้อจัดจ้าง !
ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่โปร่งใส นำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุด หัวข้อดังกล่าว ถูกหยิบยกมาอภิปรายบนเวทีวันต่อต้านคอร์รัปชั่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
“ประยงค์ ปรียาจิตต์” เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้ว่า ที่ผ่านมาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่โปร่งใสปราบปรามคนทำผิดได้ยากเนื่องจากกำหนดระเบียบไว้รัดกุมมากเกินไป กฎหมายบางฉบับหยุมหยิมยากที่จะปฏิบัติจนก่อให้เกิดผลลบ ขณะที่บางฉบับดี แต่ข้าราชการไม่ยอมปฏิบัติ
ฉะนั้น ข้าราชการบางส่วนมักอาศัยช่องว่างจากกฎหมายระเบียบที่ไม่ดี บวกกับมีงบประมาณกองไว้ให้ทุจริตได้ง่าย ยิ่งเจอพ่อค้านักธุรกิจไม่ดี และนักการเมืองให้การสนับสนุน ส่งผลทำให้การทุจริตบานปลายมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องกลไกการแก้ไขปัญหาหรือกลไกการต่อต้านการทำผิด มักทำงานได้ไม่ 100% แม้กลไกป้องกันการทุจริตจะถูกวางไว้ในทุกหน่วยงานก็ตาม ไม่นับรวมกลไกจากองค์กรอิสระ เช่น สำนักงานกตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)หรือกระทั่ง ป.ป.ท.ที่ทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
“ถามว่าหน่วยงานเหล่านี้ทำงานได้ 100% หรือไม่ ผมตอบเลยว่า ทำไม่ได้ 100% เนื่องจากกฎหมายที่ใช้การปราบปรามมีปัญหาอยู่ มีกระบวนการที่ยืดยาว ถามว่าคนโกงติดคุกจริงๆมีกี่ราย คำตอบคือมีแต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคม และทำให้คนทุจริตรายใหม่ไม่กลัว เนื่องจากกฎหมายที่เอื้อให้เกิดช่องว่างเพราะการปราบปรามที่ไม่ได้ผล”
เลขาฯป.ป.ท. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ค่อนข้างทำได้ยากในกระบวนการปกติ แต่เมื่อมีคสช.เข้ามาปฏิรูปประเทศ จึงเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปเรื่องดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายที่ยังไม่เพียงพอ ไม่รัดกุม และล่าช้า จะต้องปรับให้ทันกับสถานการณ์ปัญหาและพฤติกรรมในการกระทำผิด
“วันนี้โอกาสดี เราก็ไม่อยากให้มีปฏิวัติ แต่ในเมื่อมีแล้ว ก็น่าจะถือโอกาสนี้โดยปฏิรูปกฎหมายให้ทันกับสถานการณ์ปัญหา นอกจากนี้ ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตไม่ได้เป็นความผิดอาญาทั่วไป เป็นความผิดที่มีกฎหมายพิเศษ ที่กฏหมายอาญาเอาไม่อยู่ ดังนั้นก็ต้องมีกฎหมายพิเศษมาต่อกรกับการทุจริตคอร์รัปชั่น”
เขาย้ำว่า “ดังนั้นต้องแก้กฎหมาย ต้องจัดระบบการแก้ไขปัญหาใหม่ ที่ต้องครอบคลุมกับปัจจัยปัญหา และเมื่อมีกฎหมายที่พร้อม มีระบบที่ดี ควรจะต้องมีกลไกที่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติที่มีอิสระในการทำงาน”
“จะเป็นองค์กรอิสระหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ต้องมีอิสระในการทำงาน เพราะอย่าลืมว่า หากเป็นข้าราชการ จะมีสายการบังคับบัญชา สักวันหนึ่งต้องมีการเลือกตั้ง หากเราออกแบบไว้ไม่ดี ไม่มีอิสระในการทำงาน ปัญหาก็ย้อนกลับไปเหมือนเดิม” เลขาป.ป.ท. กล่าว
“ประยงค์อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหากฎหมายไม่พร้อมและกลไกการแก้ไขปัญหาทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้การปราบปรามและป้องกันทุจริตไม่ค่อยได้ผล โดยเฉพาะป.ป.ท ที่วันนี้มีคดีค้างอยู่ 8,000 พันเรื่อง แต่มีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 240 กว่าคน ทำให้เกิดปัญหาการทำงานที่ล่าช้า
“ป.ป.ท.หรือป.ป.ช. ก็จะเข้าไปตรวจสอบขอเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งเรื่องเดียวสืบสวนไม่นาน ประมาณ 30 วัน วันนี้มีเรื่องค้างอยู่ 8 พันเรื่อง แต่มีบุคลกรทำงานน้อย แทนที่จะทำเสร็จ30วันก็ไม่เสร็จ เพราะของใหม่ก็เข้ามา”
“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกระบวนการที่ค่อนข้างล่าช้าเพิ่มเติม เช่น เมื่อสืบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว เสนอคณะกรรมการ หากคณะกรรมการเห็นด้วยสั่งให้ไต่สวน ซึ่งไต่สวนบางเรื่องใช้เวลา 1 หรือ 2 ปี หากคณะกรรมการชี้ว่าผิดจริง ชี้มูลเห็นควรฟ้อง ส่งอัยการ อัยการก็ฟ้อง แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะเป็นแบบกรณีโครงการทุจริตจำนำข้าว ต้องกลับมาคุยเพิ่มเติม เมื่อเรื่องไปขึ้นถึงศาลก็ค้างอีก
“ถึงตรงนี้ กระบวนการไม่น้อยกว่า 2-3 ปี บางเรื่องเป็น 10 ปี ถามว่าใครจะกลัว ข้าราชการที่ถูกจับไปก็ได้สิทธิพิเศษ ได้ประกันตัวอีก ฉะนั้นวัตถุประสงค์ที่จะเอาคนเข้าคุกไม่เป็นจริง เมื่อไม่จริง ก็ไม่กลัว ตรงนี้คือจุดอ่อน”
กระนั้นก็ตาม เขามองว่า หลังคสช.ออกคำสั่งที่ 69/2557 ว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ซึ่งมี 5 ข้อสำคัญ น่าจะช่วยเรื่องดังกล่าวได้ไม่น้อย เพราะในอดีตที่ผ่านมากฎหมาย ไม่ได้ให้อำนาจป.ป.ท.ไปสำรวจตรวจสอบหาข้อมูล แต่มีหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2.6 ล้านคน
ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวออกมาบอกว่าไม่ต้องเร่งรัดไปสำรวจตรวจสอบ 2.6 ล้านคน แต่ให้ไปดูที่หัวหน้าส่วนราชการทั้งประเทศประมาณ 418 แห่ง ทำให้ภาระของป.ป.ท.ลดลงไปพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีอำนาจทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“แต่ก่อนป.ป.ท. ต้องลงไปทำเองทุกเรื่อง แต่วันนี้เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารแจ้งมาจากประชาชน ผมจะนำมาดู ถ้าผิดจริงๆเข้าขั้นทุจริต ผมก็จะให้เจ้าหน้าที่ทำเอง แต่ถ้าอันไหนดูแล้วยังไม่ทุจริต เช่น โรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ ก็จะส่งให้อธิบดีกรมโรงงาน คือทำหน้าที่จากบทบาทเจ้าหน้าที่ปฏิบัติมาเป็นการขับเคลื่อนการตรวจสอบการทุจริต”
เขาสรุปทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตจะสำเร็จไม่ได้ หากทุกภาคส่วนของประชาชนไม่ร่วมมือกัน ช่วยกันเฝ้าระวังหรือแจ้งเบาะแส ที่สำคัญในอนาคตหากคำสั่งคสช.ดังกล่าวบังคับใช้ได้ต่อเนื่อง เชื่อว่าปัญหาการทุจริตจะลดลงครึ่งหนึ่ง และหากนำคำสั่งคสช.ไปใส่ในเวทีปฏิรูป ไปใส่ในป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือนำไปพัฒนาออกแบบให้ครอบคลุม ครบถ้วน ปัญหาทุจริตจะลดลง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น