‘สารี อ๋องสมหวัง’ จี้ปฏิรูปบริการฉุกเฉิน รพ.เอกชนร่วมจ่าย-สำรองเตียง 10%
ภาคประชาสังคมจี้รัฐบาลบรรจุระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวในรธน. สร้างการมีส่วนร่วม ปชช. ‘สารี อ๋องสมหวัง’ จี้ปฏิรูประบบบริการฉุกเฉิน บังคับรพ.เอกชนยอมรับเงื่อนไขร่วมจ่าย-สำรองเตียงนอนขั้นต่ำ 10% ให้ผู้ป่วยทุกคน
วันที่ 7 กันยายน 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จัดเสวนา ‘ระบบหลักประกันสุขภาพยุค คสช. ปฏิรูปอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ’ ณ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเกี่ยวกับประเด็นหลักประกันสุขภาพอยากให้มีการใช้จ่ายเฉพาะคนยากจน นั่นแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ท่านยังมองครอบคลุมเฉพาะกรณีสงเคราะห์ผู้ยากไร้เท่านั้น ทั้งที่ความจริงสิ่งเหล่านี้คือสิทธิของประชาชนทุกคน จึงทำให้เราต้องลุกขึ้นมาเฝ้าจับตา เพราะหวั่นว่าจะมีบุคคลบางกลุ่มพยายามล้มหลักการสำคัญนี้
“เราอยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียว แต่จะรวมกองทุนต่าง ๆ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อย่างไรก็ตาม หากรวมเป็นกองทุนเดียวกันได้ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ” ผู้แทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าว และว่าในฐานะที่ถูกเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะทำทุกช่องทางให้เกิดขึ้น เพราะเราอยากเห็นทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติ ได้รับการดูแล
น.ส.สุภัทรา กล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปจึงควรบรรจุหลักการให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีมาตรฐานเดียวไว้ในรัฐธรรมนูญ สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และจัดการกับนโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนรอบด้าน นอกจากนี้ จะต้องสร้างความมั่นคงในระบบยาของประเทศ ด้วยการส่งเสริมให้มีการผลิตยาที่จำเป็นเองได้ ตลอดจนถึงยกระดับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้มีคุณธรรมเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้แทนชมรมแพทย์ชนบท ระบุถึงความเป็นห่วงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ที่เข้ามาบริหารงานด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี ต้องพบกับข้อจำกัดบางประการ กล่าวคือ ระบบหลักประกันสุขภาพยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเตรียมทางออกไว้ โดยการปรับลดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ ส่วนหน่วยบริการต้องปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริการมากขึ้น
ขณะที่ความขัดแย้งระหว่าง สธ.กับ สปสช. นั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจาก สธ.ยังมีแผนเดินหน้าดำเนินการรวบอำนาจกลับคืน ยกตัวอย่าง การจัดตั้งเขตบริการสุขภาพ แต่ความจริงแล้วอยากให้หันกลับมาทบทวนภารกิจเดิมของตัวเองมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะปัจจุบัน สธ.มีงบประมาณอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ แต่กลับไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เช่น กรมสุขภาพจิตไม่นำผู้ป่วยทางจิตมารับการบำบัดอย่างเต็มที่ กรมควบคุมโรคยังไม่มีวิธีควบคุมโรคท้องถิ่นที่ดีพอ อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง
นพ.วชิระ ยังกล่าวถึงการยื่นเรื่องต่อ คสช.เพื่อให้แก้ไขปัญหาภายใน อภ.ว่า แม้ปัจจุบันจะมีการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่แล้ว แต่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพก็จะคอยติดตามทิศทางการบริหารงาน โดยต้องทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายกำกับดูแลและตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง รวมถึงต้องเร่งรัดการวิจัยและพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อกลายเป็นองค์กรของรัฐที่ช่วยถ่วงดุลไม่เอาเปรียบคนไข้
ขณะที่น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการปฏิรูประบบบริการฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินโยบายที่ดี แต่เกิดปัญหาในเชิงบริการจัดการมาก จึงเรียกร้องให้ สธ.ออกประกาศบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับอัตราร่วมจ่ายกรณีฉุกเฉิน และต้องมีระบบสำรองเตียงนอนขั้นต่ำ 10% ให้กับผู้ป่วยทุกคนและเพิ่มตามสัดส่วนกำไรของโรงพยาบาล
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า เราได้รับจดหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแจ้งกรณีประชาชนขอเข้าชื่อ 1 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายด้านการบริการสาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถูกยกเลิก และยังไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคสช.นำเรื่องนี้ขึ้นมาวินิจฉัยด้วย โดยทำอย่างไรให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วม .