นักรบปาตานีกลุ่มหนุนเจรจาประกาศค้านทหารคุม - ตั้งแง่ไม่เอา"อกนิษฐ์"
กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมีทั้งสมาชิกบีอาร์เอ็น บีไอพีพี และพูโล ซึ่งเคยมีส่วนในการประสานงานและสนับสนุนข้อมูลให้กับ "คณะพูดคุยสันติภาพ" ที่มี นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้า เมื่อปี 2556 ได้แสดงท่าทีต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศเป็นนโยบาย
ท่าทีของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มนี้ เกิดขึ้นภายหลังมีข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เปลี่ยนชื่อเป็นคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นขบวนการที่ควบคุมกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐจำนวนมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่คลื่นความรุนแรงในห้วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด
หวั่นอกนิษฐ์หัวหน้า-ทหารคุมพูดคุย
กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มนี้ ซึ่งเรียกตัวเองอย่างรวมๆ ว่า "นักรบปาตานี" ระบุว่า คาดว่าจะมีการรื้อฟื้นกระบวนการพูดคุยสันติภาพในเร็ววันนี้ เพราะมีการสื่อสารข้ามพรมแดนเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปิดการพูดคุยรอบใหม่
ที่ผ่านมามีสัญญาณทั้งในทางบวกและลบ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะพูดคุย, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวก (เดิมคือ ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสำนักข่าวกรองมาเลเซีย) แพร่สะพัดอยู่ตามสื่อต่างๆ ซึ่งทำให้สถานการณ์สับสนมากขึ้น
"พวกเราเป็นกังวลเรื่องตัวแทนคณะพูดคุยของทางฝ่ายไทย เพราะมีข่าวลือว่า พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบก) จะเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย โดยมีสมาชิกทั้งหมดเป็นทหารภายใต้ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เพราะก่อนหน้านี้ทางฝ่ายไทยเคยบอกว่าจะใช้วิธีการแบบทหารสู่ทหาร ซึ่งทางฝ่ายมาเลเซียยังต้องตัดสินใจก่อน เพราะจะต้องมีการเปลี่ยนตัวคณะพูดคุยใหม่" แกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมีทั้งบีอาร์เอ็น บีไอพีพี และพูโล ระบุ
ตัวบุคคลสำคัญพอๆ กับกระบวนการ
แกนนำรายเดิม กล่าวต่อว่า แน่นอนว่าทางกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ไม่สามารถตัดสินใจแทนฝ่ายไทยได้ว่าควรจะให้ใครเป็นตัวแทนการพูดคุย และไม่สามารถกดดันมาเลเซียได้ว่าควรจะให้หน่วยงานใดมาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกดี แต่ทางกลุ่มฯอยากขอเตือนทั้งสองฝ่ายว่า หากอยากเห็นกระบวนการสันติภาพดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ก็จะรู้ว่าการเลือกผู้แทนคณะพูดคุยและสมาชิกคณะพูดคุยนั้น มีความสำคัญพอๆ กับกระบวนการพูดคุยเลยทีเดียว
"พล.อ.อกนิษฐ์ นั้นขึ้นชื่อเรื่องการคัดค้านกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการโดยรัฐบาลมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว (เริ่มต้นเมื่อ 28 ก.พ.2556 ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย) และเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ต่อสาธารณชนหลายครั้ง รวมไปถึงเรื่องที่ไม่เห็นด้วยกับบทบาทของมาเลเซีย และการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการพูดคุย"
"นอกจากนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ ยังมีทัศนคติที่แข็งกร้าว และเคยเรียกนักรบปาตานีว่าเป็นโจรแขก การที่เขาเป็นเพื่อนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ และเคยมีประสบการณ์ในการเจรจาสันติภาพที่ต้องล้มเลิกมาแล้วนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้นำคณะพูดคุยของไทย"
ปัญหาใต้ไม่เหมือน จคม.
แกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งเคยสนับสนุนกระบวนการพูดคุยระหว่างกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ กับคณะของฝ่ายไทยที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวอีกว่า หาก พล.อ.อกนิษฐ์ คิดว่าจะทำให้การพูดคุยยุติลงได้รวดเร็วเหมือนกับแผนสันติภาพระหว่างมาเลเซีย กับขบวนการจีนคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อหลายปีก่อน เราขอบอกว่าเป็นคนละเรื่องกับกรณีของนักรบปาตานีอย่างสิ้นเชิง
"พวกเราเป็นกังวลว่าการพูดคุยรอบใหม่จะไม่ราบรื่น และอาจคุกคามกระบวนการสันติภาพในขั้นต้นนี้ พวกเรามั่นใจว่าประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนคนที่ดี มีการศึกษา มีเหตุผล ความน่าเชื่อถือ และความรับผิดชอบที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่า พล.อ.อกนิษฐ์ กระบวนการสันติภาพนั้นจะมีความยืดเยื้อยาวนานเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้ต้องอาศัยบุคคลซึ่งสามารถเป็นที่ยอมรับได้ทั้งจากรัฐบาลชั่วคราวในปัจจุบัน และรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาปกครองประเทศอย่างเป็นทางการภายหลังจากที่มีการปฏิรูปทางการเมืองแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อรับประกันความต่อเนื่องของกระบวนการสันติภาพภายหลังจากที่ถูกบรรจุเข้าเป็นวาระแห่งชาติแล้ว"
แนะขึ้นโต๊ะเจรจาอย่ามีธงล่วงหน้า
กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ กล่าวด้วยว่า พวกเราในฐานะกลุ่มนักรบปาตานี ยึดมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ และมองว่าเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ในการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา และหาทางออกอย่างยั่งยืน ครอบคลุม เราสามารถเริ่มจากจุดที่หยุดชะงักไป หรือจะเริ่มการเจรจาใหม่เลยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบใด แต่คราวนี้สมควรที่จะให้ทุกฝ่ายมาร่วมโต๊ะพูดคุยแบบมือเปล่า โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขมาก่อนแล้วล่วงหน้า มีการกดดัน หรือขู่กรรโชกกันมาก่อน และทุกฝ่ายควรจะมาอย่างเต็มใจด้วย เพื่อรับประกันว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้น และดำเนินไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในทางสากล
อนึ่ง ล่าสุดมีข่าวจาก คสช.ว่า พล.อ.อกนิษฐ์ ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯตามที่มีข่าวทางสื่อบางแขนงมาก่อนหน้านี้ แต่ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาของคณะพูดคุยซึ่งยังไม่มีการแต่งตั้งตัวบุคคล ขณะที่ พล.อ.อกนิษฐ์ เพิ่งให้สัมภาษณ์ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ว่า ไม่รับเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เพราะไม่มีเวลา เนื่องจากต้องทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
"อุดมเดช"ย้ำลุยพูดคุยสันติสุข-ทีมเจรจา15คน
การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ย.57 โดยมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) เป็นประธานนั้น
พล.อ.อุดมเดช ให้สัมภาษณ์เน้นย้ำว่า การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในนโยบายของหัวหน้า คสช.แน่นอน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไม่ละเลยและพยายามทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนคณะพูดคุยก็ยังคงเป็นจำนวนเดิมที่ระบุไว้ว่าแต่ละฝ่ายจะต้องมีไม่เกิน 15 คน ซึ่งมีการกำหนดไว้แล้วจะให้มีจำนวนเท่าที่จำเป็น แต่ละฝ่ายมีทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการกำหนดไว้แล้ว ส่วนตนจะอยู่ในคณะอำนวยการด้านบนด้วย
ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่าไม่มากไปกว่าเดิม เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ยังมีหลายอย่างที่พยายามปรับ เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ขณะนี้มีความร่วมมือกันของกระทรวงยุติธรรมที่จะหาทางกระชับงานด้านสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีต่างๆ ของผู้กระทำผิดให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีคดีคงค้างหรือการทำสำนวนต่างๆ ที่ยังไม่รัดกุมจนศาลพิพากษายกฟ้อง ก็ต้องมีการปรับในส่วนนี้ โดยจะมีการจัดอบรมเจ้าหน้าที่และทำกระบวนการให้กระชับยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดีอีกทางหนึ่งด้วย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในพิธีลงนามข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนบีอาร์เอ็น เมื่อ 28 ก.พ.2556