ไม่ว่าจะปกครองในระบอบใด กฎหมายย่อมเสียงดังเสมอ
สุภาษิตกฎหมายโรมัน กล่าวว่า “Inter arma en im silent leges” “เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบเสียง” สุภาษิตกฎหมายนี้เปรียบได้กับสุภาษิตไทยว่า “นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” และสามารถเทียบเคียงกับการไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่โดยการงดอออกเสียงในหน้าที่ต่างๆ แล้วอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพแล้ว
หากเป็นเช่นนั้นจริง แล้วองค์คณะผู้พิพากษาบางท่านงดออกเสียงบ้าง จะเป็นอย่างไร หากเราถือว่าการงดออกเสียงเป็นการใช้สิทธิในการปฏิบัติหน้าที่แล้วจะเป็นการถูกต้องหรือ ในเมื่อปัญหาที่ให้วินิจฉัยนั้นจำเป็นต้องได้รับการตัดสินใจ แต่ผู้มีหน้าที่กลับไม่ตัดสินใจ ชี้ขาดว่าจะไปทางใด หากเกิดลัทธิเอาอย่างมากขึ้น ท่านคิดว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขหรือ
การงดออกเสียงในการปฏิบัติหน้าที่ หรือการรักษาตัวรอดเมื่อสังคมต้องการความช่วยเหลือ หรือการนิ่งเสียตำลึงทองในขณะที่สังคมต้องการความคิดเห็นจากทุกฝ่ายในการช่วยชาติบ้านเมือง จึงเป็นการเอาอย่างลัทธิของการไม่ทำหน้าที่แล้วอ้างเหตุผลในการปกป้องการไม่ทำหน้าที่ว่า ตนปฏิบัติหน้าที่แล้ว ดังเช่นสุภาษิตที่อ้างถึง
เหตุใดผมจึงพูดเช่นนั้น ถ้าหากทุกคนยอมรับความจริง ไม่ว่าการปกครองจะเป็นรูปแบบใด ในระบอบประชาธิปไตย ระบอบเผด็จการ หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้นำทั้งหลายต่างก็ใช้กฎหมายปกครองประเทศทั้งสิ้น และสุภาษิตกฎหมายโรมันที่ว่าก็คงหมายถึงเมื่อมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารเกิดขึ้น การบริหารประเทศก็ไม่มีเสรีภาพเท่านั้น แต่คงไม่ได้หมายความถึงการปกครองประเทศจะไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ หรือคงใช้แต่อำนาจปืนปกครองประเทศเท่านั้น ซึ่งคำกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริงและไม่ถูกต้อง เพราะผู้บริหารทุกคนต้องการปกครองประชาชนให้อยู่ในความสงบและเชื่อมั่นศรัทธาแก่พวกผู้ปกครอง
ดังนั้น การที่จะทำให้ประชาชนหรือผู้ถูกปกครองเชื่อถือว่าจะได้รับประโยชน์ที่เท่าเทียมหรือดีกว่าก่อนการเข้ายึดอำนาจก็คือกฎหมาย เพราะเหตุของการยึดอำนาจก็จะกล่าวหาว่า รัฐบาลเดิมปกครองประเทศไม่ดี จึงต้องเข้ายึดอำนาจและจะทำบ้านเมืองให้ดีกว่าเดิม
การยึดอำนาจจึงเป็นเพียงการหยุดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่การยึดอำนาจดังกล่าวก็มิได้หยุดการใช้กฎหมาย โดยทุกครั้งที่ยึดอำนาจก็จะล้มล้างรัฐธรรมนูญ คือ หยุดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยชั่วคราว และการเข้ายึดอำนาจดังกล่าวผู้เข้ายึดอำนาจจึงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือ เข้าใช้อำนาจฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ฝ่ายตุลาการ (ศาล) และองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญเพียงชั่วคราว
ดังนั้น การที่ผู้เข้ายึดอำนาจการปกครองได้ออกประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ๑ ประกาศดังกล่าวจึงถือว่าผู้ยึดอำนาจได้ใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภาออกกฎหมายยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศดังกล่าวมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้การปกครองได้รับความเชื่อถือจากประชาชนว่าผู้เข้ายึดอำนาจจะทำการปกครองด้วยความเป็นธรรม และจะสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองดีกว่ารัฐบาลเดิม ผู้ยึดอำนาจทั้งหลายจึงคืนอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ (ศาล) ทันที โดยให้ศาลยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม๒
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายยังคงมีเสียงดังเสมอที่จะทำการปกครองให้ประชาชนอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย ดังจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการเข้ายึดอำนาจผู้เข้ายึดอำนาจไม่เคยยกเลิกกฎหมายภายในฉบับใดๆ เลย จึงแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ายึดอำนาจก็ต้องการปกครองประเทศโดยกฎหมายเช่นกัน
ดังนั้น กฎหมายจึงไม่เคยสิ้นเสียงและยังคงส่งเสียงดังตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ และเนื่องจากผู้ยึดอำนาจไม่มีความรู้ความชำนาญในด้านกฎหมายอันเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารบ้านเมือง และต้องการปกครองประเทศภายใต้กฎหมาย จึงมีการนำนักกฎหมายที่มีความรู้ความชำนาญทั้งหลายเข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นของผู้เข้ายึดอำนาจให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งหากมีกฎหมายใดไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารราชการหรือการบริหารราชการใดยังไม่มีกฎหมายมารองรับ ผู้เข้ายึดอำนาจก็จะออกประกาศมายกเลิก แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือออกกฎหมายใหม่๓ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ
ในการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีการอ้างถึงความล้มเหลวของรัฐบาลก่อน ทั้งความวุ่นวายทางการเมือง โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้แสดงหลักการว่าจะแก้ไขปัญหาของชาติ โดยสร้างความสามัคคีของคนในชาติให้กลับมา ทั้งจะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดความมั่นคงต่อไป อันเป็นการยอมเสียสละเพื่อชาติ ทั้งพยายามบริหารราชการภายใต้การแนะนำของนักกฎหมาย จึงมีการออกกฎหมายมาใหม่ ยกเลิกกฎหมายเดิม แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เหมาะสมกับการบริหารประเทศของ คสช. เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางนิติบัญญัติ มิใช่ใช้อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์อีกต่อไป เนื่องจาก คสช. คงรักษาอำนาจบริหารและนิติบัญญัติเท่านั้น
ส่วนอำนาจตุลาการและอำนาจองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ คสช. ได้คืนอำนาจให้องค์กรดังกล่าวไปแล้ว และเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายบริหาร (รัฐบาล หรือ คสช.) จะต้องมีการโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้ทำงานกับฝ่ายบริหารได้ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงมีความจำเป็นต้องย้ายข้าราชการในระดับผู้บริหารเพื่อให้สนองตอบนโยบาย ซึ่ง คสช. ก็เช่นเดียวกันได้ใช้อำนาจทางฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติทำการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญและข้าราชการฝ่ายรัฐสภาสามัญ ในระดับผู้บริหารที่เห็นว่าจะไม่สนองนโยบายของ คสช. ตามกฎหมายข้าราชการพลเรือนและกฎหมายข้าราชการรัฐสภา๔
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังได้เข้าเป็นประธานในที่ประชุม ก.ตร.๕ เพื่อแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ ก.ตร. มีมติเอกฉันท์ให้ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เป็น ผบ.ตร. คนใหม่ อันเป็นการยืนยันว่าหัวหน้า คสช. มีวัตถุประสงค์จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน
จึงเป็นการยืนยันมั่นคงว่าหัวหน้า คสช. มีวัตถุประสงค์จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติยืนยันการใช้กฎหมายในการบริหารราชการ๖
และหลังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อจาก สนช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปกครองบ้านเมืองให้เป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล จึงสั่งให้ทุกส่วนราชการชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐออกไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่และกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน๗ จึงเป็นการยืนยันเจตจำนงอีกครั้งหนึ่งว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยประสงค์จะบริหารราชการแผ่นดินภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจตามที่แต่ละฝ่ายกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยและโยนความผิดให้หัวหน้า คสช. ว่า ตอนนี้เขาปฏิวัติจะทำอะไรก็ได้ กฎหมายไม่ต้องเอามาพูด จึงเป็นการใส่ร้ายป้ายสีหัวหน้า คสช. อย่างที่เจ้าตัวไม่รู้และไม่มีโอกาสจะชี้แจงข้อเท็จจริงได้
ผมเชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา เป็นชายชาติทหาร ที่ตัดสินใจยึดอำนาจเพราะไม่สามารถจะยอมให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้ได้ และไม่อยากเห็นพี่น้องร่วมชาติต้องมาเกลียดชังกันถึงขนาดแม้คนในครอบครัวเดียวกันก็แทบจะแตกแยกกันเพราะความคิดทางการเมือง
ดังนั้น ผมเชื่อมั่นว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยึดถือกฎหมายในการปกครองประเทศเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ท่านจะมีเจตนาแน่วแน่อย่างไรก็ตาม แต่ท่านก็ไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องจึงต้องมีทีมงานที่มีแนวคิดในทางเดียวกันมาช่วยงาน แม้จะมีทีมงานที่คิดในแนวทางเดียวกัน แต่ก็ย่อมอาจมีบุคคลที่ใกล้ชิดที่จะเอาผลประโยชน์ส่วนตนโดยอาศัยโอกาสที่ได้ร่วมงานกัน หรือมีผู้สนิทสนมกับทีมงานเสนอความเห็นหรือความคิดที่ผิดไปจากหลักการ
อันเป็นเรื่องที่พบเห็นเป็นปกติธรรมดาไม่ว่าจะเป็นการปกครองในรูปแบบใดก็จะมีคนจำพวกนี้แฝงตัวเข้ามาเสมอ หรือในการทำงานทุกคนก็ย่อมเกิดข้อผิดพลาดหรือหลงผิดได้เสมอ แต่ผู้ที่ตั้งใจทำงานเมื่อพบข้อบกพร่องก็จะทำการแก้ไขเสมอ
ในการบริหารประเทศของ คสช. ก็เช่นกัน ได้มีนักกฎหมายเสนอให้หัวหน้า คสช. โยกย้ายอัยการสูงสุด ปลดอัยการสูงสุด และแต่งตั้งอัยการสูงสุด โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ๘ ซึ่งอาจเกิดจากการผิดพลาด ผิดหลง หรือคลาดเคลื่อนทางกฎหมาย อันเป็นการแตกต่างจากการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ
ผมได้พยายามหาหลักกฎหมายว่านักกฎหมายผู้เสนอให้หัวหน้า คสช. ย้าย ปลด และแต่งตั้ง อัยการสูงสุดโดยไม่ใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการนั้น เขาอ้างกฎหมายใด จึงใคร่ขอทราบว่า ท่านได้ใช้กฎหมายใดที่ยกเว้นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ เพื่อจักได้เป็นความรู้ทางวิชาการแก่นักกฎหมายทั่วไป และจะทำให้เกิดประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดินในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการปกป้องมิให้หัวหน้า คสช. ซึ่งมีเจตนาดีต้องถูกกล่าวหาว่า ไม่ใช้หลักกฎหมายปกครองบ้านเมือง ซึ่งความเป็นจริงแล้วหัวหน้า คสช. มิได้มีเจตนาเช่นนั้น ดังที่ผมได้อธิบายข้างต้น
ดังนั้น นักกฎหมายผู้ให้คำแนะนำในเรื่องนี้จะต้องออกมาอธิบายให้สังคมและนักกฎหมายทั่วไปเข้าใจว่าท่านได้ใช้กฎหมายใดที่ยกเว้นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
ผมขอนำพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันอังคาร ที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ความว่า “กฎหมายไทยนั้นได้รับความเชื่อถือยกย่องทั่วไปในนานาประเทศว่าเป็นกฎหมายที่มีมาตรฐานสูงอำนวยความยุติธรรมและความเที่ยงตรงถูกต้องได้เป็นอย่างเยี่ยม ข้อนี้ นักกฎหมายไทยย่อมทราบดีและภาคภูมิใจอยู่ด้วยกันแล้วแต่มีข้อเท็จจริงอยู่ข้อหนึ่งว่า กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและถูกต้องเที่ยงตรง หรือจะธำรงความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้ คือ การใช้ให้ได้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้ แต่ถ้าหากนำไปใช้ให้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิดด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่างๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิและประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ผู้ที่ต้องการใช้กฎหมายสร้างสรรค์ความผาสุกสงบและความเป็นปึกแผ่นก้าวหน้าของประชาชนและบ้านเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาวัตถุประสงค์อันแท้จริงของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ให้แน่วแน่เสมอไป อย่างไม่มี ข้อแม้ประการใดๆ พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมการณ์ จรรยา ความสุจริตและมโนธรรมของนักกฎหมายไว้โดยรอบคอบ เคร่งครัดเสมอด้วยรักษาชีวิตของตนเอง กฎหมายไทยจึงจะทรงค่า อันสมบูรณ์บริบูรณ์ เป็นที่เชื่อถือยกย่องอยู่โดยตลอดได้ไม่ต้องกลายเป็นกฎหมายโบราณล้าสมัย ดังที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นในบางคราว”
ก่อนเขียนบทความนี้ ผมได้ถามนักกฎหมายหลายท่านซึ่งหลายท่านต่างก็ตอบว่า เพราะขณะนี้มิได้อยู่ในสภาวะปกติ เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะทำอย่างไรก็ต้องยอม ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย และเมื่อเข้าสูภาวะปกติจึงค่อยพูดถึงกฎหมาย
คำตอบเหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังต่อนักกฎหมายไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลายท่านต่างได้ยกสุภาษิตที่ผมกล่าวข้างต้นมาเตือนผม และยังมีผู้ใหญ่บางท่านหาว่าผมกำลังจะทำลายองค์กร ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่ร้ายแรง ซึ่งผมไม่อาจยอมรับข้อกล่าวหานี้เพราะผม ไม่เคยทำให้องค์กรอัยการเสียหาย แต่ผมกลับมองว่านักกฎหมายทั้งหลายเหล่านี้ไม่รักษาจิตวิญญาณของนักกฎหมาย และอ้างสุภาษิตในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักกฎหมายมาปกป้องความผิดที่ตนไม่ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ทำให้ผมตัดสินใจเขียนบทความนี้เพราะผมเชื่อมั่น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่ท่านเป็น ผบ.ทบ. ชายชาติทหาร ในฐานะหัวหน้า คสช. ที่ยอมเสียสละอาสาแก้ไขปัญหาของชาติ และในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มาพูดกับประชาชนว่าจะยึดแนวทางกฎหมายในการบริหารประเทศ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลาประมาณ ๑๙ นาฬิกาเศษ
แต่ผมมิได้เชื่อถือคำพูดของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะว่าท่านมีตำแหน่งและอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใด ผมเชื่อเพราะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงออกหรือปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนว่าท่านเองได้ใช้กฎหมายบริหารราชการแผ่นดินดังที่ได้กล่าวข้างตนตามคำพูดและเจตนารมณ์ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองจริงๆ ทั้งต้องการทราบเหตุผลในเรื่องนี้ และต้องการให้ผู้ที่เสนอแนะเรื่องนี้ได้มีโอกาสชี้แจงข้อกฎหมาย มิให้ถูกติฉินนิทาหลับหลัง ซึ่งทำให้เขาเสียหายโดยไม่มีโอกาสแก้ตัว ซึ่งผู้เสนอแนะในเรื่องนี้ต้องมีความรู้ทางกฎหมายอย่างดีจึงได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา สังคมจึงควรฟังการอธิบายกฎหมายจากท่านเสียก่อนที่จะฟังพวกนักกฎหมาย
หลายคนไม่ใช้กฎหมายตอบคำถามเพราะความรู้น้อยหรือเพราะความไม่กล้า (ยังไม่ถึงเวลาพูด ตรงกับสุภาษิตว่า “นิ่งเสียตำลึงทอง”) หรือความกลัว (ปรุงแต่งให้ร้ายผู้อื่นแล้ว กระจายความกลัวออกไปให้กว้างขวาง เข้าหลักสุภาษิตว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”) หรืออคติ (ความไม่ชอบ) แล้วสรุปว่า เพราะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จึงทำอะไรก็ได้และการกระทำนั้นเป็นกฎหมายทั้งนั้น ซึ่งผมเห็นว่ามิใช่ความจริง เนื่องจากเหตุผล สองประการ คือ
ประการแรก คสช. ในขณะนั้นมิใช่รัฏฐาธิปัตย์ แต่ คสช. เป็นเพียงฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) และ นิติบัญญัติ (รัฐสภา) เท่านั้น เพราะคืนอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ (ศาล) และอำนาจอิสระ (องค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ)
ประการที่สอง คำสั่งหรือประกาศของ คสช. มีสถานะแตกต่างกัน บางเรื่องเป็นกฎหมาย บางเรื่องเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งการย้ายข้าราชการ ปลดข้าราชการ หรือแต่งตั้งข้าราชการ นั้น เป็นคำสั่งทางปกครองมิใช่กฎหมาย จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องนั้นๆ ในขณะนี้ คสช. เป็นอำนาจหนึ่งในห้าของอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๕๗๙
ดังนั้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับคำอธิบายจากนักกฎหมายผู้ที่เสนอเรื่องนี้ และหวังว่าคงจะไม่ได้รับคำตอบว่าเพราะเป็นรัฏฐิปัตย์จึงทำอะไรก็ได้ เพราะ คสช. บริหารประเทศด้วยกฎหมาย และผมมั่นใจในความสามารถของผู้ที่ให้คำแนะนำหัวหน้า คสช. ว่าจะสามารถอธิบายหลักกฎหมายได้ และขอให้กำลังใจท่านจงอดทนทำหน้าที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่หัวหน้า คสช. จนเสร็จภารกิจ
และการทำงานของพวกท่านนับตั้งแต่ยึดอำนาจก็ปรากฏว่ามีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน และประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ
อย่างไรก็ตาม ย่อมเป็นปกติธรรมดาการทำงานมากก็อาจย่อมมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ซึ่งคงไม่มีผู้ใดตำหนิท่านในเรื่องนี้ ทั้งการเสนอคำถามนี้ก็เป็นโอกาสทำให้ท่านได้อธิบายกฎหมายและได้ตรวจสอบผลงานที่ได้ทำไปแล้วว่าสมบูรณ์ดีหรืออาจพบข้อบกพร่องอยู่บ้าง ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถแก้ไขข้อบกพร่องหากมีอยู่ให้สมบูรณ์ได้
นอกจากนี้ ผมยังหวังว่า สังคมไทยควรมีการปรับปรุงจรรยาบรรณ เสริมสร้างจริยธรรมกันเสียใหม่ ให้รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่านินทาให้ร้ายผู้อื่นหลับหลัง และอย่ามองผู้อื่นที่มีความเห็นต่างเป็นศัตรู แต่เราต้องให้เกียรติแก่กันทุกฝ่ายและทุกคนในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมกัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน คงแตกต่างแต่หน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น
การให้เกียรติกันก็คือการแสดงความเห็นกันต่อหน้าหรือเปิดเผย จริงใจต่อกัน (เพราะสังคมไทยจะไม่ยอมแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม แต่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์นอกห้องประชุมเสมอ) ไม่นินทาให้ร้ายกัน (การออกมาพูดนอกห้องประชุมมักมีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชาในทางเสียหายเสมอ คือ คิดเองเออเองแล้วยัดเยียดความคิดนั้นเป็นของผู้บังคับบัญชา เช่น เดี๋ยวนายไม่พอใจบ้าง เดียวนายโกรธบ้าง นายเอาแต่ใจบ้าง นายไม่ฟังเหตุผลใครบ้าง เป็นต้น) และมองความเห็นต่างมิใช่ศัตรู แต่จงมองความเห็นต่างเป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้เราได้ทบทวนความเห็นของตน ทั้งเป็นโอกาสที่ได้แสดงเหตุผลหรืออธิบายความคิดให้ผู้ที่เห็นต่างทราบ ซึ่งไม่ว่าเราจะเห็นต่างกันอย่างไรก็มิใช่เรื่องแปลก เพราะย่อมเป็นธรรมดาหลากหลายผู้คนก็ย่อมหลากหลายความคิด และการตัดสินใจเลือกปฏิบัติไปในทางใดทางหนึ่งก็มิใช่ความผิดของผู้นำ เพราะผู้นำเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคมเมื่อผู้นำตัดสินใจอย่างไรผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ถูกปกครองย่อมปฏิบัติตามเสมอ
แต่การปฏิบัติตามโดยไม่ทราบความคิดและเหตุผลของผู้นำนั้นย่อมแตกต่างกับการปฏิบัติตามผู้นำเพราะเข้าใจเหตุผลของผู้นำนั้น ประสิทธิภาพในการทำงานย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการไม่เข้าใจก็ทำตามอย่างแบบขอไปที แต่หากมีความเข้าใจแล้วมิใช่เพียงปฏิบัติตามเท่านั้น ผู้ตามกลับจะนำเหตุผลไปขยายให้ผู้ที่ไม่ทราบได้ทราบและเข้าใจมากขึ้นทำให้การปฏิบัติตามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การแสดงความเห็นต่างผมได้เห็นอานิสงค์ของมันมาแล้วตั้งแต่สมัยท่านศาสตราจารย์ ดร. โกเมน ภัทรภิรมย์ เป็นอัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดท่านอื่นๆ ตลอดมา ผมได้เคยเข้าไปแสดงความเห็นต่างกับท่านอัยการสูงสุดหลายท่าน ซึ่งท่านอัยการสูงสุดก็ได้อธิบายเหตุผลให้ผมฟังทำให้ผมเข้าใจความคิดของท่าน ได้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้นทำให้เกิดความศรัทธาและความเคารพรักมากยิ่งขึ้น แต่บางเรื่องท่านผิดหลงไปท่านก็ยอมรับว่าผมลืมนึกไปและสั่งให้นำไปแก้ไขตามความเห็นต่าง แต่บางเรื่องท่านก็บอกว่าเป็นแค่แนวคิดยังไม่ได้ตัดสินใจ
ในขณะที่เพื่อนๆ ต่างห้ามมิให้ผมไปแสดงความเห็นต่างโดยอ้างว่า เดี๋ยวนายจะโกรธ คุณจะเดือดร้อน แต่การก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ ในทางกลับกันท่านอัยการสูงสุดทุกท่านต่างให้ความเมตตาและเป็นกันเองกับผมมากขึ้น แม้ท่านจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นต่างของผม
ทั้งนี้ เนื่องจากวัฒนธรรมของไทยเป็นสังคมพี่น้อง ผู้บังคับบัญชาในบ้านเมืองเราจึงมิได้ใช้กฎหมายปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งกฎหมายก็มิได้เป็นธรรมเสมอไป แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจเท่านั้น แต่ผู้บังคับบัญชาในบ้านเราปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างพี่และน้องโดยใช้ทศพิศราชธรรมเป็นเครื่องมือต่างหาก ทั้งอำนาจนั้นไม่มีความยั่งยืน แต่ความดีและความชั่วเท่านั้นที่ปรากฏและติดตัวเราอยู่ชั่วกาลนาน จึงหวังว่าสังคมไทยควรเลิกพฤติกรรมเดิมๆ นะครับ
สุดท้ายนี้ ใคร่ขอกราบขอบพระคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายไว้ ณ โอกาสนี้ ที่ท่านจะได้อธิบายหลักกฎหมายให้เกิดความเข้าใจต่อไป
๑ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
๒ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑/๒๕๕๗ เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
๓ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐/๒๕๕๗ เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗, ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๒/๒๕๕๗ เรื่อง การจัดส่วนงาน การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗, ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗,ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗
๔ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๕๗ การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๕๓ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๖ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖ ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้สั่งบรรจุ และให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฯลฯ
พระราชบัญญัติข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๕๔
มาตรา ๔๒ การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ และการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ให้ผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ เป็นผู้สั่งบรรจุและแต่งตั้ง
(๑) การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ให้ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี นำเสนอ ก.ร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.ร. แล้ว ให้ประธานรัฐสภาประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง ฯลฯ ๕ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๘๘/๒๕๕๗ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗
ข้อ ๓. ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๐ ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.ตร.” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ
(๒) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานข้าราชการตำรวจ
(๓) เลขาธิการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง
(๔) กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากวุฒิสภาจำนวนสองคน
ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นเลขานุการ และรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
๖ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
มาตรา ๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ผู้พิพากษาและตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๔๐ และข้าราชการฝ่ายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามที่กฎหมายบัญญัติ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย
๗ หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๖/ว๗๘ ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เรื่อง การชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ใจความว่า “ตามที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ นั้น เพื่อให้การบริหารบุคคลภาครัฐเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการชะลอการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับออกไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่และกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการ ลงชื่อ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี” และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร ๐๕๐๖/ ว๘๐ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗
๘ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๔๒ การแต่งตั้งข้าราชการอัยการให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ
ในการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเพื่อขอความเห็นชอบจาก ก.อ. ให้ประธาน ก.อ. เป็นผู้เสนอ โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติ การปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลนั้น
ในกรณีที่ ก.อ. ไม่ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลตามที่ประธาน ก.อ. เสนอตามวรรคสองให้ประธาน ก.อ. เสนอชื่อบุคคลอื่นโดยเรียงตามลำดับอาวุโส และให้ ก.อ. พิจารณาตามหลักเกณฑ์ในวรรคสอง
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๓๘ วรรคสามมาใช้โดยอนุโลม
พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
มาตรา ๑๐ การแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งต้องเป็นไปตามมติของ ก.อ. และได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา และให้ประธานวุฒิสภาเป็นผูลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งอัยการสูงสุด
การแต่งตั้งพนักงานอัยการอื่นและการให้พนักงานอัยการพ้นตำแหน่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
๙ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
มาตรา ๖ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสอร้อยยี่สิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ
มาตรา ๑๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ และส่งเสรอมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ ฯลฯ
มาตรา ๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือ ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และเทียบเท่า ผู้พิพากษาและตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์ตามรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และข้าราชการฝ่ายอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย
มาตรา ๒๘ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ ฯลฯ
มาตรา ๔๒ ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป และมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ