‘ดร.นิพนธ์’ ชี้ตลาดข้าวคุณภาพสูงไทยส่อเค้าแย่ ราคาดิ่ง-ผันผวนหนัก
'ดร.นิพนธ์' ชี้ชาวนาไทยติดกับดักประชานิยม หากไม่รีบสลัดทิ้งอาจเจอทางตัน ระบุความสามารถแข่งขันตลาดข้าวส่อเค้าแย่ เมียนมาร์ตีตื้นหวังทวงแชมป์ คาดอีก 10 ปี ชาวนาทิ้งอาชีพมากกว่า 5 ล้านคน ‘เอ็นนู’ หวั่นไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นายทุนภายนอกจ้องกอบโกยผลประโยชน์ ‘รศ.สมพร’ หวังดันข้าวไทยขึ้นชั้นตลาดเฉพาะกลุ่ม ยกระดับราคาเพิ่มเท่าตัว
วันที่ 5 กันยายน 2557 มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนา ‘มองมิติใหม่ของการพัฒนาข้าวและชาวนาไทย’ ณ อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าชาวนาไทยกำลังมีปัญหาติด ‘กับดัก’ นโยบายประชานิยมประเภทโครงการรับจำนำข้าว ประกันราคาข้าว และการจ่ายเงินชดเชย ซึ่งเราต้องสลัดกับดักตรงนี้ออกไปให้ได้ มิเช่นนั้นจะเจอทางตัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวนากำลังปรับตัวอย่างมโหฬาร แต่ภาคราชการกลับไม่มีความรู้ว่าที่ผ่านมาชาวนามีวิธีการปรับตัวอย่างไรบ้าง ทำให้เราไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของรัฐบาลที่ควรจะเป็น
สำหรับความสามารถการแข่งขันข้าวไทยนั้น นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ยอมรับว่าข้าวคุณภาพสูงมีแนวโน้มแย่ลง ต้นทุนสูง ที่น่ากังวล คือ ประเทศเมียนมาร์ กำลังจะเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่มีความสามารถเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้น โดยถึงกับมีนโยบายตั้งโรงสีข้าวนึ่งเป็นครั้งแรก เเละคาดหวังทวงเเชมป์ข้าวโลกคืน ฉะนั้นหากไทยมุ่งขายข้าวคุณภาพต่ำจะขาดทุนแน่นอน
“รัฐบาลยังไม่รู้ว่าไทยกำลังเสียตลาดข้าวคุณภาพสูงจึงไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนั้นอนาคตตลาดข้าวจึงไม่แจ่มใสนัก เนื่องจากคนบริโภคข้าวน้อยลง ยกเว้นคนแอฟริกา ทำให้อนาคตราคาข้าวจะมีแนวโน้มลดลงและผันผวนมากขึ้น”
ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาข้าวไทยว่า ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลละเลยอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องการวิจัยที่นับวันยิ่งเตี้ยลงสาละวันเรื่อย ๆ และนักการเมืองยังโยกงบประมาณวิจัยไปใช้ในด้านพัฒนาส่งเสริม ซึ่งหน่วยราชการบางแห่งอย่างกรมการข้าวพยายามพัฒนาแล้ว แต่ทำได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลไม่สนใจ และไม่เคยมีคำตอบว่าเกษตรกรควรทำอย่างไร ยกเว้นคำตอบเดียว คือ ชดเชย ชดเชย ชดเชย
“ชาวนาจึงติดกับดักโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตลอด 5 ฤดู รัฐบาลใช้เงินซื้อข้าวอย่างเดียว 8.57 แสนล้านบาท ใช้งบประมาณดำเนินการและค่าจ้างสีข้าว 9.85 แสนล้านบาท และมีผลขาดทุน 5.2 แสนล้านบาท” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าเมื่อมีการสำรวจทัศนคติชาวนาพบส่วนใหญ่ยังต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนปัจจัยการผลิตและรายได้เป็นหลัก หากเป็นเช่นนี้เชื่อว่ารัฐบาลคงเตรียมดำเนินโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาต่อไป เพราะเกษตรกรเป็นฐานเสียงใหญ่ของการเลือกตั้ง
นักวิชาการคาดอีก 10 ปี ชาวนาทิ้งอาชีพกว่า 5 ล้านคน
ดร.นิพนธ์ ยังระบุถึงข้อมูลชาวนาไทยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ชาวนาธุรกิจเงินล้าน 0.9 ล้านครัวเรือน ชาวนาทางเลือก หรือชาวนาสีสัน (เกษตรอินทรีย์) น้อยกว่า 1 หมื่นครัวเรือน และชาวนาบางเวลา 3 ล้านครัวเรือน (เกษตรกรผู้จัดการนา 2 ล้านครัวเรือน-เกษตรกรยากจน 1 ล้านครัวเรือน) อย่างไรก็ตาม อีก 10 ปีข้างหน้า จะมีคนเลิกอาชีพชาวนามากกว่า 5 ล้านคน จึงตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพชาวนามากขึ้น
“ ทำอย่างไรให้มีการดำเนินนโยบายประชานิยมแบบรับผิดชอบ โดยแก้กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายงบประมาณ ซึ่งต้องเสนองบประมาณเข้าสู่รัฐสภาแต่ละปี จำกัดวงเงิน เพื่อทำให้นักการเมืองเรียงลำดับความสำคัญของนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้ แต่สามารถทำได้เพียงคราวละ 4 ปี แล้วจึงให้ทบทวนใหม่”
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า สำหรับราคาข้าวตกต่ำนั้นต้องปฏิรูปใหม่ โดยขอให้เลิกนำต้นทุนมาถกเถียง เพราะชาวนาแต่ละรายมีต้นทุนการผลิตไม่เท่ากัน แต่ให้ใช้ราคาตลาดเฉลี่ยเทียบกับราคาตลาดปัจจุบัน ทั้งนี้ จะต้องจ่ายเพียง 60% เท่านั้น ไม่ใช่ 100% เพื่อสร้างวินัยต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ชาวนาในกลุ่ม 3 ล้านครัวเรือน จัดรูปที่ดินใหม่ พร้อมกับรวมกลุ่มกันทำนาแปลงใหญ่ และผลักดันให้เกิดกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อรองรับชาวนาที่เกษียณอายุได้มีเงินออม
‘เอ็นนู’ หวังตั้งธนาคารที่ดินแก้ปัญหาชาวนาไร้ที่ทำกิน
ด้านนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค กล่าวว่า การพัฒนาต้องเน้นที่ชาวนามากกว่าข้าว เนื่องจากปัจจุบันชาวนามีปัญหามากมาย โดยเฉพาะรายย่อย สาเหตุจากนโยบายภาครัฐที่ขาดความต่อเนื่อง ขาดนวัตกรรม ปล่อยให้นายทุนภายนอกเข้ามาหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น อนาคตควรส่งเสริมให้มีระบบเกษตรประณีตที่ยั่งยืน เน้นผลผลิตเพิ่มคุณค่า และทุกจังหวัดต้องมีข้าวของตัวเอง อีกทั้ง ชาวนาจะต้องมีที่ดิน ได้รับการจัดสรรระบบชลประทานเพิ่มขึ้น และให้สามารถถือครองกรรมสิทธิ์เจ้าของพันธุ์พืชครึ่งหนึ่งได้
“ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยกล่าวว่า การพัฒนาประเทศต้องเน้นจากฐานราก จึงต้องใช้ความรักคู่ความรู้ โดยทำอย่างไรให้ชาวนามีความรู้และส่วนร่วม” ปธ.กก.มูลนิธิอาจารย์จำเนียรฯ กล่าว และว่าต้องเพิ่มการกระจายอำนาจ พร้อมส่งเสริมให้ชาวนาสามารถแปรรูปผลผลิตเองได้
นายเอ็นนู ยังกล่าวถึงการจัดรูปที่ดินว่า ปัจจุบันไทยมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งถูกกลุ่มนายทุนครอบครองไว้จำนวนมาก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาชาวนาไร้ที่ดินทำกินจึงควรจัดตั้ง ‘ธนาคารที่ดิน’ ขึ้นมาดูแล โดยให้มีการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อจะได้นำที่ดินดังกล่าวมาแบ่งปันให้ชาวนา ทั้งนี้ จะต้องส่งเสริมให้มีการใช้อย่างประณีต ห้ามปลูกข้าวอย่างเดียว แต่ต้องมีพืชชนิดอื่นด้วย
‘รศ.สมพร’ จี้รัฐยกระดับข้าวหอมมะลิดันสู่ตลาดเฉพาะกลุ่ม
ขณะที่รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวถึงทางออกการพัฒนาข้าวไทยว่า ต้องส่งเสริมให้หนีจากตลาดสินค้าทั่วไปกลายเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ยกตัวอย่าง กรณีข้าวหอมมะลิที่เดิมมีความเฉพาะอยู่แล้ว แต่หากปลูกแบบอินทรีย์ก็จะช่วยเพิ่มคุณค่าและความสวยงามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้าวหอมมะลิมีความหอมลดน้อยลง อาจเป็นเพราะกระบวนการใช้ปุ๋ยเคมีและวิธีการเก็บเกี่ยว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถถกเถียงกันได้
“ข้าวในเขตชลประทานต้องทำให้เป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม โดยจัดการสายพันธุ์ที่เหมาะสมแต่ละตลาด ซึ่งกรมการข้าวจำเป็นต้องศึกษาให้มากขึ้น มิใช่ศึกษาเฉพาะการเพิ่มผลผลิตอย่างเดียว” นักวิชาการสถาบันคลังสมองฯ กล่าว และว่าปลูกข้าวในพื้นที่เท่าเดิม แต่ชาวนาจะได้ราคาผลผลิตสูงขึ้นเท่าตัว และยิ่งมีการวิจัยพัฒนาให้มีความหอมมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าตลาดบนจะรองรับ หากเรารู้จักวิธีการจัดการ โอกาสของความเป็นเฉพาะกลุ่มจะเกิดขึ้น .