‘นพ.สมศักดิ์’ มองบวกชี้ขัดแย้งใน สธ.สู้เพื่อให้มีระบบสุขภาพที่ดี
‘นพ.สมศักดิ์’ มองบวกชี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน สธ. สู้เพื่อให้มีระบบสุขภาพที่ดี แนะ ทุกฝ่ายต้องร่วมผลักดันไปด้วยกัน ด้าน ผอ.มุลนิธิเข้าถึงเอดส์ แนะ หากจะปฏิรูปต้องลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ
วันที่ 5 กันยายน 2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาเพื่อสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “ทิศทางปฏิรูประบบสุขภาพ ยุค รัฐบาลประยุทธ์” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุลชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงระบบสุขภาพของไทยว่า ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการปฏิรูปได้ดีหรือไม่แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุดโดยการเริ่มจากวิเคราะห์จากสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกหน่วยงานทุกฝ่ายพูดหรือบอกในสิ่งที่อยากให้ปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการสร้างระบบสุขภาพที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
“การเป็นรัฐมนตรีนั้นมีอำนาจทางการเมืองที่มีเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งเท่านั้น อำนาจทางสังคมจะเข้มแข็งกว่า หากอำนาจทางสังคมอ่อนแอ อำนาจทางการเมืองจะเข้มแข็งกว่า ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เพียงอย่างเดียวไม่สร้างสรรค์ควรแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน”
กรณีของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขนั้น รมช.สธ.กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติและธรรมดา เพราะการขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดจากเจตนาที่ดี ซึ่งกลุ่มต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน อยากให้มีระบบสุขภาพที่ดีเกิดขึ้น ซึ่งการมองมุมต่างกันทำให้มีแนวคิดในหลายรูปแบบ ส่งผลให้ก่อเกิดระบบที่ดีในอนาคต
“ความขัดแย้งภายใต้ความเจตนาดีคือของจุดแข็งของระบบสุขภาพไทย ทั้งนี้การปฏิรูประบบสุขภาพมีมาเป็นระยะๆ ช่วงที่หนึ่งเกิดเหตุการณ์การรวมกรมมาร่วมด้วยกัน ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ สองศึกสายเลือดนั้นสำคัญนี่คือการเมืองของจริงของระบบสุขภาพที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองของนักการเมือง คำว่า การเมืองไม่ใช่คำไม่ดี แต่สังคมมีความเห็นต่าง เป้าหมายต่าง ความรู้ต่าง วิธีคิดต่าง การสู้กันภายใต้ความหวังดีของทุกฝ่ายที่เห็นต่างกันในระบบสุขภาพ ไม่ได้สู้เพื่อใครแต่สู้เพื่อระบบที่ดี” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนายการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (ADIS Access) และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหากับวิกฤติสุขภาพในด้านความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรม และมองว่า การปฏิรูประบบสุขภาพในครั้งนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ 2 ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นแกนหลักในการดำเนินการ ในอดีตประเทศไทยมีการปฏิรูปมาแล้ว 1 ครั้ง โดยการสร้างหลักประกันให้ทุกคน เป็นการใช้สิทธิตามสถานภาพของบุคคลนั้นๆ อาทิ สิทธิของข้าราชการ สิทธิของประกันสังคม สิทธิบัตรทอง ฯลฯ เป็นระบบที่มีหลายขั้นตอนและหลายมาตรฐาน อย่างไรก็ตามในครั้งที่ 2 ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาระบบความเหลื่อมล้ำจากการมีระบบสุขภาพหลายมาตรฐานนั้นอย่างไร
“พอเกิดหลายมาตรฐานก็เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการ จะจัดการการบริหารอย่างไร จัดการการเงินอย่างไร เพราะฉะนั้นวิกฤตที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวชี้การปฏิรูปในยุคที่ 2 คือต้องจัดการความเหลื่อมล้ำ ไปสู่ระบบ และมาตรฐานเดียวให้ได้ ถ้าปฏิรูปครั้งนี้ไม่เตะก็ไม่ประสบความสำเร็จ” ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว และว่า จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทุกคนเข้ารับบริการและใช้สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่สร้างความแตกต่างโดยแก้ไขข้อความที่ระบุว่า ประชาชนยากไร้เท่านั้นที่มีสิทธิ แต่ต้องสร้างความเท่าเทียมความเข้าถึงเป็นระบบสุขภาพเดียวกันทั้งหมดในประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจว่าระบบสุขภาพคือระบบของคนทุกคน
ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่าถึงวิกฤติ ทิศทางและโอกาสของระบบสุขภาพของไทยว่า ระบบสุขภาพของไทยในปัจจุบันเป็นระบบที่เป็นแบบใยแมงมุมเชื่อต่อกันในสาย แต่ก็คงยังพบวิกฤติที่ยังคงต้องแก้ไขอยู่ 4 วิกฤติ ได้แก่
1วิกฤตโรคใหม่ สถานการณ์เจ็บป่วยเปลี่ยนไป ไม่ใช่โรคเดิมมันเป็นโรคใหม่ ที่เกิดจากหลายสาเหตุ อีกทั้งปริมาณประชาชนที่เข้ารับบริการที่สูงขึ้น เทคโนโลยีมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
2.วิกฤตระบบบริการของรัฐ ที่ประชาชนต้องการการเข้าถึงบริการสูงแต่ระบบการบริหารยังเป็นแบบราชการลงสู่จึงทำให้ระบบถึงทางตันไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
3.สามศึกสายเลือด คือหมอเมืองกับหมอชนบทมีปัญหาช่องว่างมองไม่เหมือนกัน และความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธรณสุข มีปัญหาเรื่องลูกจ้าง รวมไปถึงวิกฤติความสัมพันธ์แพทย์กับผู้ป่วย
4.การนำในระบบสุขภาพ ภาวการณ์นำในระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ลงตัว เพราะติดขัดโดยการยึดติดแบบอภิบาลโดยรัฐ
สำหรับ 5 ทิศทางที่ควรปฏิรูปในเชิงระบบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาเรื่องมติที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ยังเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะทำให้ทุกฝ่ายทำงานแบบกำหนดทำงานนโยบายแบบพหุรัตหรือแบบหุ้นส่วน มีทิศทาง 5 ประการได้แก่ การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ ,การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ,ปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ,การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันด้านสุขภาพ และการปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
ทั้งนี้ เลขาธิการ สช. กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปต้องมีการดำเนินการใน 3 รูปแบบใหม่ซึ่งประกอบด้วย การคิดใหม่คือต้องยอมรับระบบสุขภาพแบบพหุรัตเป็นระบบสุขภาพที่มีความหลากหลาย รวมถึงต้องยอมรับการอภิบาลของรัฐ หรือแบบตลาด และแบบเครือข่ายและต้องยอมรับการนำแบบหุ้นส่วนมีการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ในระบบ ผนึกกำลังโดยการขับเคลื่อนทุกหน่วยงานไปด้วยกัน ลดความเป็นราชกการ ลดขนาดที่ใหญ่โตลงและสุดท้ายเปลี่ยนระบบการจัดการใหม่