ปลัดคค.วอนทุกฝ่ายถอยคนละก้าวเหตุทักทวงซื้อรถเมล์เอ็นจีวีทำชะงัก
ปลัดกระทรวงคมนาคมวอนทุกฝ่ายถอยคนละก้าวชี้หากมัวแต่ทักทวงการจัดซื้อรถเมล์ต้องชะงักทั้งโครงการ เสนอ ขสมก.-กทม.ร่วมพูดคุยแก้ปัญหาทางเดินรถ 14 สะพาน ย้ำอย่างไรรถเมล์ที่จัดซื้อต้องเอื้อประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่ม
5 กันยายน 2557 กลุ่มเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ทุกคนเข้าหารือกับปลัดกระทรวงคมนาคมและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)เข้าหารือร่วมกัน ณ กระทรวงคมนาคมถึงกรณีการจัดซื้อรถเมล์NGV
นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานภาคีเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคัน กล่าวว่า จากร่างทีโออาร์ฉบับล่าสุดทางกลุ่มเห็นว่าทีโออาร์ได้เปิดกว้างให้กับรถเมล์ที่เป็นรถทรงสูงซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จะส่งรถประกวดราคาก็จะเน้นไปที่รถทรงสูง และเมื่อซื้อรถทรงสูงแล้วบอกจะมีการติดลิฟต์ทางเราเห็นว่าจะส่งผลเสียหลายด้าน เช่นลิฟต์ที่มีจะใช้เฉพาะกลุ่มคนพิการทำให้ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมี่ครรภ์ไม่ได้รับประโยชน์ อีกทั้งอาจจะก่อให้เกิดความล่าช้าเวลาขึ้นลงและทำให้คนรอบข้างมองผู้พิการเป็นภาระซึ่งอาจจะทำให้ผู้พิการไม่กล้าใช้บริการอีกและจะทำให้ลิฟต์กลายเป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีคนใช้ ดังนั้นอุปกรณ์สาธารณะจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนในสังคมใช้ได้จริง ทั้งนี้สำหรับทีโออาร์ฉบับที่ 11-12 จะติดในเรื่องของสะพานที่มีความสูงชันในกรุงเทพฯซึ่งทางเครือข่ายเองได้เข้าหารือกับทางกทม.และได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะมีการปรับปรุงสะพานและดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในต้นปี 2558 หากทางขสมก.มีความกังวลหรือมีปัญหาถึงเรื่องดังกล่าวก็ควรจะร่วมพูดคุยกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างขสมก.และกทม.
ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีไม่ใช่เพื่อคนพิการเท่านั้น แต่จะต้องเป็นรถเมล์ที่ทุกคนต้องได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา ตอนนี้ที่ติดปัญหาเรื่องสะพานทั้ง 14 แห่งนั้น ทางขสมก.และกทม.ก็จะต้องมาคุยกันถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานว่า ทั้ง 14 สะพานนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ใช้งบประมาณในการแก้ไขเท่าใด ไม่ใช่ว่าจัดซื้อรถเมล์ชานต่ำมาแล้วนำมาใช้จริงก็ติดปัญหา ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องพูดคุยกันด้วยเหตุและผลและท้ายสุดผู้ที่ได้ประโยชน์ก็ต้องเป็นประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
“เรื่องของสะพานขณะนี้กทม.จึงเป็นขาใหญ่ที่จะต้องแก้ไข ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เชื่อว่ากทม.จะแก้ปัญหาเรื่องสะพานแล้วเสร็จภายในต้นปี 2558 ที่สำคัญคือรถเมล์มีอายุเฉลี่ย 17-20 ปี ณ ตอนนี้ก็ได้เวลาที่จะเปลี่ยน หากเรายังเถียงกันเรื่องเดิมๆโดยไม่ถอยกันคนละก้าวแล้วเราจะมีรถเมล์ใช้กันได้อย่างไร วันนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดว่า ทำอย่างไรเราจึงจะได้รถเมล์มาใช้ กระทรวงคมนาคมเองก็ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ เราเป็นเพียงองค์กรที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับทุกฝ่าย หากยังทักทวงทั้งหมดก็ชะงักทั้งโครงการและก็ไม่มีทางที่จะได้รถเมล์สักคันมาใช้”
ขณะที่นายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ กล่าวว่า เราต้องรู้ถึงสภาพพื้นที่ในกทม.ว่า บางจุดรถเมล์ชานต่ำจะวิ่งให้บริการได้หากในอนาคตเรามีรถใหม่สะพานที่สูงทั้ง 14 จุดก็จะเป็นอุปสรรค
สำหรับรถเมล์ชานต่ำและจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการในเขตพื้นที่เดิม และหากเกิดกรณีฝนตกน้ำท่วมก็จะไม่สามารถให้บริการได้ อย่างรถเมล์ชานต่ำน้ำท่วม 30 เซนติเมตรก็จะเกิดปัญหาในการให้บริการทันที เพราะหากเปิดประตูน้ำก็จะเข้ามา ดังนั้นเราต้องดูสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทางขสมก.เองเข้าใจทางเครือข่ายฯและเล็งเห็นเรื่องการให้บริการและความรับผิดชอบต่อประชาชนกับคนทุกลุ่ม เพราะหากนำชานต่ำมาวิ่งทั้งหมดและเกิดปัญหาจนต้องหยุดให้บริการก็จะส่งผลต่อประชาชนส่วนใหญ่และสภาพเศรษฐกิจ
“สิ่งที่เราตระหนักเป็นอย่างยิ่งคือกรรมการที่ร่างทีโออาร์หากมีการดำเนินการรถที่จัดซื้อมาไม่สามารถให้บริการได้ภายใต้สภาพปัญหา ก็จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทความรับผิดชอบก็จะตกอยู่กับผู้ที่เป็นกรรมการร่างทีโออาร์และจะมีความผิดทางอาญาซึ่งทุกคนก็ต้องเป็นห่วงสถานภาพตัวเอง”
นายนเรศ กล่าวด้วยว่า หากเปรียบเทียบกับเมื่อหลายปีก่อนทางขสมก.เองก็ได้พัฒนาปรับปรุงให้รถเมล์สามารถที่จะให้ประชาชนทุกคนใช้บริการได้อย่างทั่วถึงและรถเมล์สำหรับผู้พิการหรือเมล์ชานต่ำก็ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาเรื่องสะพาน 14 จุด ขสมก.ส่งผู้ปฏิบัติการเดินรถไปสำรวจและกทม.เองจะดำเนินการอย่างไรใช้เทคนิคอย่างไร ที่ผ่านมาเราไม่เคยดำเนินการในสภาพใหญ่ ดังนั้นทางขสมก.จะแก้ปัญหาโดยจะพยายามเน้นบริการพิเศษให้ หากสะพานแก้ปัญหาแล้วเสร็จก็ค่อยเพิ่มเติมรถเมล์ชานต่ำเข้ามาภายหลัง รอให้สะพานที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ทยอยแก้ปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อน
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในช่วงบ่ายทางขสมก.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตงานโครงการจัดซื้อรถเอ็นจีวีใหม่ 3,183 คัน ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีพลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การเป็นประธานกล่าวเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นโดยยืนยันว่าการจัดซื้อรถเมล์เพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริงลั่นไม่ทำเพื่อผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเด็ดขาด