เอกชน ชี้ปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่ ณ จุดปฏิบัติ ครั้งนี้ไม่สำเร็จ ชาติล่มจม
เป็นรูปเป็นร่างแล้ว โรดแมปปฏิรูปการศึกษา ฉบับรวมหุ้นทุกภาคส่วน นักวิชาการยันต่างจากปฏิรูปหลายยุคที่ผ่านมา มอบฝ่ายราชการ เหตุครั้งนี้ปชช.มีโจทย์ชัดเจน ทำที่พื้นที่ ทำที่โรงเรียน ถึงห้องเรียน พร้อมๆ กับการพัฒนาครู หวังการศึกษาไทยพ้นวิกฤต
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยความร่วมมือระหว่างนักการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อเสนอโรดแมป (RoadMap) ปฏิรูปการศึกษา ฉบับรวมหุ้นทุกภาคส่วนสู่สาธารณะ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศฟินแลนด์กับประเทศไทย ด้านการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาโรงเรียนในโครงการ "Project for Change" ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 2 กันยายน 2557 ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ ว่า ปัจจุบันได้ข้อสรุปโรดแมปทางการศึกษาทำใน 2 ระดับ คือ ระดับเชิงโครงสร้าง และระดับปฏิบัติการ นับเป็นการปฏิรูปการศึกษารูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนที่เคยเป็นมา ที่มอบหมายให้ฝ่ายราชการเข้ามาดำเนินการปฏิรูป แต่ครั้งนี้ประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ มีโจทย์ปฏิรูปชัดเจน
“ระดับเชิงโครงสร้าง มีการปรับเรื่องการบริหารจัดการ ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการไปจนถึงระดับพื้นที่ เพื่อให้มีการกระจายอำนาจด้านการศึกษาไปสู่ท้องถิ่น สู่โรงเรียนให้มากขึ้น โดยจะมีการเข้ไปปรับแก้กฎหมายต่างๆ ด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ต้องมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ” ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดนโยบาย พัฒนาคนให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ทั้งระดับประถมวัย ถึงระดับอุดมศึกษา รวมไปถึงสายอาชีวะ”
รศ.ประภาภัทร กล่าวถึงโรดแมปการปฏิรูปในระดับปฏิบัติการ มุ่งเป้าไปที่พื้นที่พัฒนาโรงเรียน พัฒนาครู ซึ่งไม่ใช่การนำครูบางคนมาอบรม แต่คือทำทั้งโรงเรียน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสำหรับการจัดการศึกษาแบบใหม่ ล่าสุดมีโรงเรียนกว่า 800 แห่ง ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง สมัครเข้าร่วมทดลองจัดการศึกษาแบบใหม่แล้ว
“เราจะต้องใส่ระบบช่วยเหลือ ระบบพี่เลี้ยงครู หรือเป็นโค้ชให้กับโรงเรียนนำร่องเหล่านี้ โดยมาจากหลายประเภทหลายกลุ่ม” อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าว และว่า ระบบการศึกษาไทย ติดขัดที่การบริหาร หากไม่ปรับตรงนี้ก็ยากจะปฏิรูปการศึกษา
รศ.ประภาภัทร กล่าวถึงประสบการณ์การปฏิรูปการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 เน้นไปที่การพัฒนาครูชัดเจน โดยเฉพาะการทำให้ครูเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนการสอน สอนวิชานั้นๆ ให้เด็กเข้าใจมากที่สุด การดูแลเด็ก โดยใช้หลักการศึกษาต้องมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ครูมีคุณภาพเท่ากัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากประเทศฟินแลนด์ ก็ยืนยันปฏิรูปการศึกษาไทยว่า ต้องเริ่มที่ครู ทั้งการผลิตครู ปรับหลักสูตรการผลิตครู และพัฒนาครู
“ขณะที่นโยบายของนักการเมืองฟินแลนด์ก็มุ่งเน้นเรื่องการศึกษาควบคู่กับพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาด้านอื่นๆ แต่ของไทยแยกส่วนกัน ไม่ไปด้วยกัน”
รศ.ประภาภัทร กล่าวด้วยว่า แม้การปฏิรูปการศึกษาจะต้องใช้เวลานาน แต่เราก็ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน หากไม่ทำในช่วงนี้ พลาดอีกก็ไม่มีโอกาสอีกแล้ว
ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตรผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ เราต้องไม่ปล่อยให้เป็นภาระของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเฉพาะคนในวงการศึกษาเท่านั้น เสียงของพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษา วันนี้ต้องลุกขึ้นมาบอกว่า ตนเองต้องการอะไร อยากให้จัดการศึกษาแบบไหนที่จะต้องโจทย์ ชี้ประเด็นให้ฝ่ายการศึกษา และจับมือกันปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่
ทั้งนี้ นางปิยาภรณ์ กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา ฉบับรวมหุ้นทุกภาคส่วน คือการปฏิรูป ณ จุดปฏิบัติการ คือในโรงเรียน ในห้องเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนา และยกระดับคุณภาพครูไทย ยกระดับการเรียนการสอน นักเรียนไทยได้มีคุณภาพสูงขึ้น
“ หากครั้งนี้ปฏิรูป ณ จุดปฏิบัติการเกิดขึ้นไม่ได้ ประเทศชาติล่มจม”