กลุ่มเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนวอนสนช.บังคับใช้กม.ผู้พิการให้ได้ผล
กลุ่มเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ทุกคัน ผู้พิการทุกประเภท และทูตอารยสถาปัตย์ ยื่นหยังสือต่อสนช.หวังบังคับใช้กฎหมายสำหรับผู้พิการให้เกิดประโยชน์พร้อมเรียกร้องประเด็นเร่งด่วนที่ต้องทำ 3 ข้อ
2 กันยายน 2557 ที่อาคารรัฐสภากลุ่มเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน ทุกคนขึ้นได้ทุกคัน ผู้พิการทุกประเภท และทูตอารยสถาปัตย์ ซึ่งนำโดยนายกฤษณะ ละไลย และนายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานภาคีเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน ทุกคนต้องขึ้นได้ทุกคันได้เข้าพบนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อยื่นแถลงการณ์นิติบัญญัติสร้างชาติ หยุดการออกแบบที่พิการ ขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
นายอุดมโชค ชูรัตน์ เป็นตัวแทนในการอ่านแถลงการณ์ครั้งนี้ซึ่งมีใจความว่า ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยการสร้างกฎหมาย และที่สำคัญการทำให้กฎหมายมีผลในทางปฎิบัติอย่างแท้จริง การสร้างความเท่าเทียมไม่ได้หมายความว่า การที่ทุกคนใช้กฎเกณฑ์เดียวกันแล้วจะเกิดความเท่าเทียม การกำหนดเพียงว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึง ทรัพยากร บริการและประโยชน์อันเป็นสาธารณะ ทำให้ผู้ที่มีความสามารถในตัวเองมากเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างรวดเร็ว ส่วนคนที่ไม่มีความสามารถ ไม่รู้ หรือมีอุปสรรคต่างๆก็จะไม่สามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆได้ ดังนั้นการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคมที่แท้จริงจึงต้องมีการชดเชย มีกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยให้คนมีอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการต่างๆสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
“วันนี้ ถือว่าประเทศไทยมีกฎหมายคนพิการที่ครอบคลุมทุกมิติ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสิทธิของคนพิการยังคงถูกละเมิด การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่ทั่วไป การนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องที่ผู้บริหารประเทศจะต้องทำให้เป็นจริงให้ได้”
นายอุดมโชค กล่าวด้วยว่า การประกันสิทธิและความเสมอภาคเท่าเทียมด้วยกฎหมายและระเบียบปฏิบัติในประเทศไทยมีอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ เหลือแต่การปรับให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ไปตามระยะเวลา แต่ที่ภาครัฐจะต้องเร่งทำให้เกิดผลคือการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ซึ่งประเด็นเร่งด่วนที่ควรนำมาพิจารณามาดำเนินการมีดังนี้
1.การออกแบบ การสร้าง การจัดทำ อาคารสถานที่ ถนนหนทาง ที่สะดวกและเข้าถึงได้ ต้องมีผลในระดับการออกแบบสถาปัตยกรรม การขออนุญาตปลูกสร้าง การขออนุญาตใช้ และต้องเป็นการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ได้จริง โดยให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้ใช้
2.ประเด็นที่จอดรถคนพิการ ที่จะต้องเป็นทั้งการปฏิบัติตามกฎหมาย ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของเจ้าของสถานที่และผู้ดูแล รวมทั้งการสร้างความรับรู้ของสังคม
3.ระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้ออำนวยต่อคนทุกหมู่เหล่า รถโดยสารต้องเป็นรถไร้บันไดที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง
“และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะได้กำกับดูแลให้กฎหมายที่ได้สร้างไว้แล้วได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง สมเจตนารมณ์ของกฎหมายและสมประโยชน์ของคนในชาติต่อไป”
ด้านนายกฤษณะ ละไลย กล่าวว่า การเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อต้องการให้สังคมหลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่พิการและทุกข์ยากเพราะปัญหาที่ผ่านมาคือการที่ผู้พิการเข้าไม่ถึงการให้บริการสาธารณะของภาครัฐและการให้บริการไม่เป็นไปตามกฎหมายดังนั้นเราจึงอยากให้สภานิติบัญญัติหาทางปรับแก้กฎหมายและน่าจะมีบทลงโทษกับเจ้าของอาคารสถานที่หรืออาจจะรวมไปถึงผู้ออกแบบอาคารที่ไม่สร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม เพราะตึกอาคารถือเป็นอารยสถาปัตย์ที่จะต้องออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกที่ใช้ได้จริง รวมถึงรถเมล์เอ็นจีวีก็ต้องได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกันมิฉะนั้นจะต้องเป็นภาระผูกพันต่อไปยาวนาวถึง 20 ปี ดังนั้นจึงเห็นว่าการเยียวยาแก้ไขทางด้านนิติบัญญัติจะช่วยสร้างความเสมอภาคให้ทุกคนได้เข้าการใช้บริการได้อย่างแท้จริง
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า จากแถลงการณ์ดังกล่าวเข้าใจได้ว่าในขณะนี้กฎหมายในการดูแลความเท่าเทียมในบ้านเรายังมีปัญหารวมถึงแม้จะมีกฎหมายแต่ก็บังคับใช้ไม่ได้ผลดังนั้นทางสนช.จะสรุปเรื่องและส่งต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ดำเนินการแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าทางสนช.จะพยายามติดตามความคืบหน้าและรายงานผลให้ทราบต่อไปซึ่งทางเราก็จะพยายามทำหน้าที่เพื่อประชาชนให้ดีที่สุด