“เจษฎ์” วิเคราะห์ 4 องค์ประกอบรบ.ทหาร-“เสรี” วอนฟัง"ปชช."
"เจษฎ์ โทณะวณิก" วิเคราะห์ 4 องค์ประกอบ แสดงถึงลักษณะรัฐบาลทหาร "ครม.ประยุทธ์ 1" ชี้ รัฐบาลต้องพยายามอย่างมากเพื่อลบคำครหาที่มีทหารควบคุม แม้ว่าจะมีทหารใน ครม.ไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ตาม ด้าน "ดร.เสรี วงษ์มณฑา" วอนฟังเสียงปชช.ให้มาก
วันที่ 1 กันยายน 2557 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงข้อสังเกตต่อการตั้งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า กรณี ครม. ที่ปรากฎนี้ แสดงให้เห็นอย่างง่ายๆ ว่าเข้าข่ายการเป็นรัฐบาลทหาร
“สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลทหารแม้จะมีทหารน้อยกว่ากึ่งหนึ่งก็ตาม แต่ก็ถูกทหารควบคุม นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบที่ชี้ถึงความเป็นรัฐบาลทหารถึง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบประเภทที่ 1 กรณีที่ทหารควบคุมกระทรวงด้วยตัวเอง เช่น กระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงยุติธรรม
องค์ประกอบประเภทที่ 2 คือ กระทรวงนั้นๆ มีทหารนั่งคุมร่วมกับข้าราชการพลเรือน
องค์ประกอบประเภทที่ 3 คือการแต่งตั้งผู้ที่เคยทำงานด้วยกันมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือผู้ช่วยรัฐมนตรี เช่น กรณีนายสมหมาย ภาษี หรือนายวิษณุ เครืองาม
องค์ประกอบประเภทที่ 4 คือ รัฐมนตรีบางรายที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นพวกกันมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ในแต่ละองค์ประกอบเหล่านี้ ยังมีสาเหตุและนัยที่น่าสนใจต่างกันไป กล่าวคือ ส่วนของทหารที่นั่งคุมกระทรวงเอง อาจเพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม สามารถทำงานได้ ส่วนกรณีองค์ประกอบที่สองที่มีทหารนั่งคุมกระทรวงและมีพลเรือนร่วมดำรงตำแหน่งรองลงมาด้วยนั้น ในกรณีนี้ ก็อาจจะมีถึง 3 นัย เช่น
"นัยแรก ทหารอาจไม่เชี่ยวชาญ จึงต้องมีพลเรือนที่เชี่ยวชาญมาช่วยทำงาน ส่วนนัยที่ 2 คือ ทหารตั้งใจไปนั่งคุมจริงๆ และกรณีที่ 3 ทหารอาจจะหวั่นคำครหาหากแต่งตั้งทหารมาคุม จึงให้ข้าราชการมานั่งคุมด้วย" รศ.ดร.เจษฎ์ระบุ
ส่วนกรณีองค์ประกอบประเภทที่ 3 ของ ครม.ชุดนี้ ที่เป็นคนที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อนนั้น รศ.ดร.เจษฏ์มองว่า ยังไม่มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากนัก เมื่อเทียบกับองค์ประกอบประเภทอื่น แต่ในส่วนรัฐมนตรีประเภทที่ 4 ซึ่งเป็นการแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวพันกันนั้น ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งในประเภทนี้ ต้องพิสูจน์ฝีมือ
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวด้วยว่า กรณีความคาดหวังของสังคมก่อนหน้านี้ ที่มีกระแสสนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ เป็น นายกฯ นั้น จริงๆ แล้ว ประชาชนอาจไม่สนใจรายละเอียดหรอกว่าสภาคือฝ่ายนิติบัญญัติ ครม.คือฝ่ายบริหาร แต่อาจเป็นเพราะประชาชนมองที่ คสช. มากกว่า
“ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือบริหาร ความคาดหวังของเขา อยู่ที่ คสช. ดังนั้น สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือเมื่อท่านเอาเนื้อในส่วนที่เป็นรัฐบาลมารวมกับส่วนที่เป็น คสช. เมื่อทำให้เป็นเนื้อเดียวกันเช่นนี้ มันมีความเสี่ยงที่จะผิดฝาผิดตัว และอาจจะเสี่ยงต่อคำครหา ในแบบเดียวกับที่ได้เคยวิจารณ์รัฐบาลที่ผ่านๆ มา”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.แบบไหนที่ รศ.ดร.เจษฎ์ อยากเห็น กล่าวว่า ควรต้องเป็นคนที่มีความรู้ มีความสามารถในแต่ละสาขา ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนหรือข้าราชการ
นักวิชาการรายนี้ กล่าวด้วยว่า แต่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ควรจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ ในชั้น สนช. แล้ว เนื่องจาก บทบาทของ คสช. นั้นสามารถคอยควบคุมสถานการณ์ได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมาควบคุมโดยตรงหรือเอาคนของตนเข้าไปนั่ง ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น
“นอกจากนี้ ครม.ในแบบที่ผมอยากเห็นก็คือ เมื่อตอนที่มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ควรจะมีการอภิปรายว่า เลือกคนๆ นี้ ด้วยเหตุผลอะไร และเปิดให้มีการโหวต โดยทั้งการอภิปรายและการโหวต ควรต้องเผยแพร่สู่สาธารณะให้ประชาชนได้รับทราบ แบบนี้จึงจะเรียกว่า ยึดโยงกับประชาชน แต่ตอนนี้ สิ่งที่อยากเห็นก็ไม่ทันแล้ว” รศ.ดร.เจษฎ์ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าคาดหวังอะไร กับ ครม.ชุดนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า โดยส่วนตนแล้ว ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่ก็หวังว่า เขาจะพยายามลบคำครหา พยายามที่จะลบคำสบประมาทให้ได้”
ผู้สื่อข่าวถามถึง กรณี รัฐมนตรีบางราย เคยถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แต่กลับมีชื่อปรากฎเป็น ครม.ชุดนี้ รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่ คสช. ที่ต้องตอบสังคมว่าตอนที่บุคคลคนนี้เคยทำงานในอดีตที่ผ่านมา ผลการทำงานเป็นอย่างไร และประเด็นที่เป็นปัญหาที่ประชาชนยังค้างคาอยู่มีการสะสางไปหรือไม่ อย่างไร “นี่เป็นสิ่งที่ คสช. ต้องตอบ” รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ
ด้าน ดร.เสรี วงษ์มณฑา แนวร่วม กปปส.ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงข้อสังเกตต่อ ครม.ว่า “ขอพูดเพียงสั้นๆ ว่าฟังเสียงประชาชนบ้างและให้ประชาชนได้พูดบ้าง” ดร.เสรี ระบุ
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.mcot.net , www.manager.co.th