"อุ้มหาย"ในไทยถึงมือยูเอ็นเพิ่ม แฉสถิติพุ่ง 81 กรณีคลี่คลายไม่ได้เลย
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์ในวาระวันรำลึกผู้ถูกบังคับสูญหายสากล แฉไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศเอเชียมีกรณี "อุ้มหาย" ถูกส่งถึงมือยูเอ็นเพิ่ม ยอดรวมพุ่งถึง 81 กรณี รัฐบาลยังคลี่คลายไม่ได้เลย ไม่เว้นแม้คดี สมชาย นีละไพจิตร และ บิลลี่ ชาวกะเหรี่ยง
เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ส.ค.57 มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง "ร่วมรณรงค์ยุติการบังคับสูญหายในประเทศไทย" เนื่องในโอกาสวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล 30 ส.ค.ของทุกปี
แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานซึ่งเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า คณะทำงานฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับสูญหายที่เกิดขึ้นใหม่ถึง 93 กรณี จาก 14 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ บาห์เรน บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย อิรัก เนปาล ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ทาจิกิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน รวมทั้งไทย
โอกาสนี้คณะทำงานฯ ยังได้เรียกร้องให้ทั้ง 14 ประเทศเร่งรีบดำเนินการแก้ไขและยุติการบังคับบุคคลสูญหายโดยเร็ว
ในกรณีประเทศไทย คณะทำงานฯระบุในรายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประเทศไทยเป็นคดีผู้ถูกบังคับสูญหายของสหประชาชาติแล้วถึง 81 กรณี ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่สามารถคลี่คลายคดีและสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายในกรณีเหล่านี้ได้ รวมถึงกรณี นายพอละจี หรือ บิลลี่ รักจงเจริญ นักรณรงค์ด้านสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ปีนี้ด้วย
คณะทำงานฯ ยังแสดงความห่วงใยต่อกรณีการบังคับสูญหาย นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งผ่านมา 10 ปีโดยยังไม่มีใครทราบชะตากรรม คณะทำงานฯได้เรียกร้องให้ประเทศไทยยังคงสืบสวนคดีนายสมชาย เปิดเผยความจริง และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
ในช่วงท้ายของรายงาน คณะทำงานฯได้เน้นย้ำเจตจำนงในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทยด้วย
แถลงการณ์ระบุตอนท้ายว่า ในโอกาสวันที่ 30 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงผู้สูญหายสากล มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอเรียกร้องให้ประเทศไทยสร้างมาตรการทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อยุติการบังคับบุคคลสูญหาย ซึ่งมิได้ส่งผลกระทบต่อเหยื่อและครอบครัวเท่านั้น แต่การสูญหายของบุคคลยังส่งผลถึงโครงสร้างของชุมชนและสังคมในวงกว้างอีกด้วย
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงมีพันธะผูกพันตามอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมืองไทย ประเทศไทยจึงต้องแสดงเจตจำนงชัดเจนในการยุติการบังคับสูญหายและการงดเว้นโทษ โดยการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนมิให้หายสาบสูญโดยถูกบังคับ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทย (จากซ้ายไปขวา) อังคณา นีละไพจิตร, อดุลย์ เขียวบริบูรณ์, รัชนีบูรณ์ โพธิอ่าน, ณัฐวัฒน์ เหล่าโสภาพรรณ
ที่มา : วงเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสากลแห่งการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย พ.ศ.2556
อ่านประกอบ : ชุมนุมญาติ"เหยื่ออุ้ม"-นัดจี้นายกฯสางคดี