วิทยากร เชียงกูล ห้ามรธน.ฉบับใหม่ระบุชัดใช้ระบบศก.เสรีผ่านกลไกตลาด
นักวิชาการห้ามรธน.ฉบับใหม่ระบุชัดใช้ระบบเศรษฐกิจเสรีผ่านกลไกตลาด เหตุจำกัดสิทธิเสรีภาพปชช. แต่ให้ใช้การแข่งขันเป็นธรรมแทน ‘ปราโมทย์’ ยกกรณีข้าวตัวอย่างความล้มเหลว ระบุหากจำยอมเดินตามอาจตกอยู่ภายใต้มายาคตินักการเมืองทุนนิยมเสรี ปิดปากคิดนอกกรอบ
วันที่ 30 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ วารสารข่าวกฎหมายใหม่ ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริช เนามัน (ประเทศไทย) จัดเสวนา ‘ควรกำหนดระบบเศรษฐกิจเสรีโดยใช้กลไกตลาดในรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่’ โดยเทียบกับกฎหมายฉบับปี 2550 ที่เคยระบุเเนวทางนโยบายเเห่งรัฐด้านเศรษฐกิจไว้ในมาตรา 84 (1) ว่ารัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเเบบเสรีเเละเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด
รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดในโลกที่กำหนดรูปแบบของระบบเศรษฐกิจ เพราะเท่ากับจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหากมองอีกด้านก็ไม่ได้มีบทบาทร้อยเปอร์เซ็นต์ในการกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ทั้งหมด เพราะต่อให้เขียนขึ้นมาดีเพียงใด สุดท้ายไม่มีผู้ปฏิบัติตาม สิ่งที่ดีหลายอย่างไม่เกิดขึ้น เพราะขาดกฎหมายลูก เขียนคลุมเครือ หรือนักการเมืองไม่ทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ หากไทยต้องการปฏิรูปประเทศจริงจังต้องมีการถกเถียงมากกว่านี้ เพราะปัจจุบันประชาชนมีความรู้ความเข้าใจแตกต่างกัน
รศ.วิทยากร ได้ยกตัวอย่างกรณีพลังงานที่มองกันคนละกรอบ โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คิดแบบเสรีนิยม ว่า ในเมื่อ ปตท.เป็นผู้สร้างท่อส่งก๊าซในทะเล ฉะนั้นจึงควรเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กร แต่ในแง่เศรษฐศาสตร์การเมือง ปตท.สร้างท่อก๊าซในฐานะรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เอกชนครึ่งหนึ่ง รัฐครึ่งหนึ่ง ดังนั้นควรจะเสียค่าเช่าให้แผ่นดินหรือไม่ ทั้งหมดจึงไม่ควรมองเฉพาะในแง่เศรษฐกิจเสรีเป็นตัวตั้งเท่านั้น
“ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ควรกำหนดให้มีระบบเศรษฐกิจเสรีโดยใช้กลไกตลาด แต่ควรเขียนกฎหมายเอื้อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด โดยมองในแง่เศรษฐกิจและสังคม” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว และว่า ทุกคนต้องการสิทธิทางเศรษฐกิจ มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง ไม่ใช่มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องอดตาย ฉะนั้นควรเขียนว่า “ระบบเศรษฐกิจแข่งขันเป็นธรรม” ให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ มิเช่นนั้นจะทำให้มือใครยาว สาวได้สาวเอา
รศ.วิทยากร กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาเพื่อความยั่งยืน แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่า ท่านมีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด เพราะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่เชิญมานั้นล้วนมาจากสายทุนนิยม ซึ่งมักสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจก่อน แล้วค่อยกระจายความเป็นธรรม เท่าที่สังเกตมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ไม่เคยทำได้ ฉะนั้นหากไม่มีการวิเคราะห์และศึกษาปัญหาให้รอบคอบ การรัฐประหารครั้งนี้อาจเสียของในอีกรูปแบบหนึ่ง
ด้านนายสมเกียรติ หอมละออ ประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงปัญหาหลักเศรษฐกิจเสรีว่า ทำให้ผู้มีอำนาจมากมักจะจัดสรรทรัพยากรไปสู่พรรคพวกของตัวเอง จึงต้องเขียนกติกาเพื่อจะทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้วอำนาจการต่อรองของกลุ่มต่าง ๆ ไม่เท่าเทียมกัน จนทำให้คนกลุ่มหนึ่งก้าวไม่ทันส่วนแบ่งที่สมเหตุสมผลได้
“รัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดสิ่งต่าง ๆ ไว้พอสมควรแล้ว เพื่อป้องกันและเป็นกติกาให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศเดินไปตามนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนไม่สามารถมีอำนาจต่อรองและบีบบังคับให้บริหารระบบเศรษฐกิจไปตามสิ่งที่เราต้องการ” ประธานชมรมนักธุรกิจฯ กล่าว และว่า การกำหนดให้มีข้อความในรัฐธรรมนูญอาจไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมตามจุดมุ่งหมายได้ ตราบใดที่ประชาชนในประเทศยังไม่มีความรู้ที่เท่ากันในการเข้าถึงและมีอำนาจต่อรองหรือเกิดความถูกต้องขึ้นในสังคม
นายสมเกียรติ จึงเสนออย่างน้อยควรมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ก่อน เพราะในสังคมไทยผู้มีอำนาจมักใช้สิ่งต่าง ๆ เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว คือ ทำอย่างไรให้สิ่งที่กำหนดไว้ได้รับการปฏิบัติเป็นไปตามที่ต้องการ หากไม่สามารถบังคับหรือทำให้ปฏิบัติตามได้ก็ไม่มีทางทำให้สิ่งที่เรามุ่งหวังเป็นจริงตามที่สังคมต้องการ
ขณะที่นายปราโมทย์ วานิชานนท์ อดีตกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กล่าวถึงกลไกตลาดเสรีโดยยกกรณี ‘ข้าว’ เป็นโมเดลว่า วันนี้หากยอมให้เกิดระบบเศรษฐกิจเสรีโดยใช้กลไกตลาดในรัฐธรรมนูญจะทำให้ไม่สามารถคิดอย่างอื่นได้เลย นอกจากต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งส่วนตัวมองว่า เราอยู่ในสถานะเป็นนักคิด ฉะนั้นควรปล่อยให้มีข้อความเช่นนี้หรือไม่ เพราะจะทำให้ทุกคนที่จะมีความคิดใหม่ ๆ ถูกปิดปาก
“ข้าวไม่ใช่อ้อยหรือมันสำปะหลัง แต่ข้าวเป็นพืชที่มีหลายสายพันธุ์ เชื่อมโยงวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร แต่ตลอดเวลาเราถูกผลักดันจนต้องสูญเสียเงินไปกับโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5 แสนล้านบาท ฉะนั้นหากเราจำยอมให้มีการกำหนดระบบเศรษฐกิจเสรีโดยใช้กลไกตลาด จะทำให้ตกอยู่ภายใต้มายาคติของนักการเมืองทุนนิยมเสรีที่นำประโยคนี้มาปิดปากการคิดนอกกรอบ” อดีต กขช. กล่าว .