รศ.วุฒิสาร ตันไชย : "เราต้องระมัดระวังไม่ให้คอร์รัปชั่นเดินตามการปฏิรูป"
พลังหยุดคอร์รัปชั่นได้ คือ ทัศนคติของสังคมที่ร่วมกันประณามและไม่ยอมรับคนโกง การจำคุกไม่เพียงพอแล้ว ต้องสร้างให้สังคมตระหนัก ไม่ยอมรับ ร่วมกับควบคุม เป็นประชาชนห่วงใยส่วนรวม คำตอบสำคัญมาก ไม่เว้นแม้แต่ตัวผู้นำประเทศก็ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง
วันที่ 30 สิงหาคม สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาครั้งที่ 3 เรื่อง "การปฏิรูปประเทศไทย การต่อต้านการทุจริต" ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยรองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกพิเศษตอนหนึ่งถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย
รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า สาเหตุการปฏิวัติรัฐประหารทุกครั้งมักจะมีการยึดโยงถึงเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น มีคำว่า บุฟเฟ่คาร์บิเนต ขณะที่ความขัดแย้งของคนในสังคมก็การอ้างถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด การต่อสู้กันทางการเมืองจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีรัฐบาลชั่วคราว ก็มาจากเหตุผลเดียวกันนี้
สำหรับความโปร่งใสในประเทศไทยนั้น รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนความโปร่งใสของไทยลดลงจาก 35 เป็น 37 ในปี 2013 และถูกจัดอันดับลดลงจาก 88 เป็น 102 ขณะที่การสำรวจเรื่องมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งสำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า มูลค่าการทุจริตในประเทศไทยก็สูงขึ้นอย่างน่ากลัว โดยในปี 2556 มีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท แม้อาจไม่มีตัวเลขทางสถิติชัดเจน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ขยายตัวไปทุกระดับ มูลค่ามากขึ้น ความเสียหายมากขึ้น
ส่วนหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีมากขึ้น ต้องการคน ต้องการงบประมาณ มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีป.ป.ช.จังหวัด มีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อสิ่งที่เกิดขึ้น คล้ายกับโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น แต่กลับมีคนมาเข้าคิวมากขึ้น เพราะสุขภาพเราแย่ลง ฉะนั้นสังคมไทยจำเป็นปราบปรามการทุจริตมีมากเหลือเกิน
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึงค่านิยมของสังคมไทย จากการสำรวจ Global Corruption Barometer พบว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมาคนไทย 2 ใน 5 เคยให้สินบน ยังไม่นับการทำโพลทัศนคติทุจริตไม่เป็นไร ขอให้ได้ประโยชน์
ประเด็นค่านิยม ความคิดเหล่านี้สะท้อนให้เห็น การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ คำว่าทอนก่อน คำว่า 30 กลายเป็นคำปกติในการบริหาร จริงหรือไม่จริงไม่รู้ ปัญหาการทุจริตฯ มีปรากฎการณ์ว่า น่าห่วงใย เริ่มต้นตั้งแต่ตัวบุคคล ขยับขึ้นสู่องค์กรจำนวนมาก ขณะที่ระดับชาติคำใหม่ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือ “ทุจริตเชิงนโยบาย”
“เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจ “ทุจริตเชิงนโยบาย” แต่วันนี้เราเห็นแล้ว รู้สึกแล้ว เห็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจำนวนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จ ที่น่าเสียดายไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้แม้แต่โครงการเดียว”รศ.วุฒิสาร กล่าว และว่า การทุจริตคอร์รัปชั่น ยังก้าวข้ามไปในระดับข้ามชาติ มีการทำธุรกรรมผิดกฎหมาย มีการฟอกเงิน มีเศรษฐกิจสีเทา ปรากฎการณ์ที่เกิดในสังคมไทย และสังคมโลก
การทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีการศึกษาโดยธนาคารโลกพบว่า สาเหตุในหลายประเทศเกิดจาก 3 เรื่องใหญ่
1.การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายที่ไปเอื้อกับพวกพ้อง และมักเกิดในสภาวะวิกฤติ
2.กระจายความมั่นคั่ง (redistribution of wealth) จากภาครัฐไปสู่เอกชน มีปัญหา และปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม
3.การปราศจากสถาบันทั้งภาครัฐและนอกรัฐ ที่จะเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจที่ผิดของรัฐได้
“ธนาคารโลกพบว่า ช่องทางต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น”
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึงสมการการทุจริตคอร์รัปชั่น การทุจริต=การผูกขาด+การใช้ดุลยพินิจ-ความรับผิดชอบ (Corruption = Monopoly + Discretion - Accountability C=M+D-A) ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาให้คอร์รัปชั่นต่ำลง ต้องลดตัว M และ D โดยไปเพิ่มตัว A ให้มากขึ้นในสังคมนี้
“ผมคิดว่าสาเหตุการทุจริต ยังมีการศึกษาอีกหลายเรื่อง ในปี 2013 พบว่า ปัจจัยการทุจริตนั้น เป็นปัจจัยที่มีทั้งปัจจัยในตัวบุคคล ความโลภ และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมนี้ คนที่ถือสถานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด มี 1.69% คนที่รวยสุด 10% แรกถืออำนาจการครอบครองอยู่ 38% ช่องว่างนี้ทำให้ระบบต่างๆ ใช้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ออกนโยบายของรัฐ”
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า สาเหตุการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากความโลภ ความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังมีเรื่องของการ “หลับตา” หรือการเพิกเฉย คนรู้สึกว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ
มีข้อค้นพบจากการสำรวจเมื่อปี 2013 เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อการคอร์รัปชั่น ใน 133 ประเทศทั่วโลก พบว่า
- การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ช่วยควบคุมการทุจริตที่เกิดจากการผูกขาดได้
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการบริหาร ลดการทุจริตได้
- การมีอิสระทางเศรษฐกิจ ประเทศที่สามารถให้ประชาชนเพิ่งตนเองในทางเศรษฐกิจ ไม่ถูกคุกคามทางเศรษฐกิจ เข้าถึงแหล่งทุนลดการทุจริตได้
- คุณภาพของประชาธิปไตย ระบบที่มีการถ่วงดุล มีนิติรัฐ ลดการทุจริต
- การมีอิสระของสื่อมวลชน ไม่เกาะเกี่ยวกับทางธุรกิจ ทำให้สื่อดำเนินบทบาทของตัวเองในฐานะสุนัขเฝ้าบ้าน ลดการทุจริตได้
- การเป็นพลเมือง ประชาชนห่วงใยสังคม คิดถึงประโยชน์สาธารณะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลดการทุจริตได้
- คุณภาพการกำกับดูแล การใช้กฎหมายไม่เลือกปฏิบัติ ก็สามารถลดการทุจริตได้
สำหรับข้อเสนอการลดทุจริตคอร์รัปชั่น รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ต้องทำหลายระดับ การป้องกันปราบปรามต้องทำต่อไปอย่างเข้มแข็ง ทำให้กลไกการตรวจสอบ คนที่ถูกกล่าวหาการทุจริตนำมาลงโทษโดยเร็ว พร้อมกับปรับปรุงกฎหมายเชิงบวกส่งเสริมให้คนทำถูกต้อง มากกว่ากฎหมายที่จ้องจับผิด
“กติกาหลายเรื่องที่มีอยู่ทุกวันนี้ป้องกันทุจริต แต่ขณะเดียวกันก็ห้ามคนที่ประกอบกิจกรรมสุจริตทำงานได้ด้วย เรียกว่า กลัวคนโกงมาก จนคนดีทำงานไม่ได้ ซึ่งดุลยภาพระหว่างการป้องปราม กับดุลยภาพกับการส่งเสริมให้คนทำถูก อาจมีความจำเป็นมากขึ้น เราคงต้องทำให้เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ รวมไปถึงค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
ระบบของสังคมไทย ต้องยกย่องคนทำดี ขณะที่คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษจากสังคมด้วยเช่นกัน นอกจากการลงโทษทางกฎหมายแล้ว ซึ่งในหลายประเทศคนต้องคดีทุจริตไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ เพราะสังคมปฏิเสธ”
รศ.วุฒิสาร กล่าวด้วยว่า พลังหยุดคอร์รัปชั่นได้ คือทัศนคติของสังคมที่ร่วมกันประณามและไม่ยอมรับคนโกง การจำคุกไม่เพียงพอแล้ว ต้องสร้างให้สังคมตระหนัก ไม่ยอมรับ ร่วมกับควบคุม เป็นประชาชนห่วงใยส่วนรวม ซึ่งเป็นคำตอบสำคัญมากสำหรับการป้องการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่เว้นแม้แต่ตัวผู้นำประเทศก็ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง รังเกียจการทุจริตคอร์รัปชั่น
"หากอยากจะเดินต่อ คงต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ คำว่าผลัดกันเกาต้องหยุด และต้องระมัดระวังไม่ให้คอร์รัปชั่นเดินตามการปฏิรูป”