เหตุสังคมเปลี่ยน!นายกแพทยสภาชี้ไม่ควรเขียนไว้ชัดในกม. ‘อุ้มบุญ’ ทำได้เฉพาะญาติ
สบส.เห็นสอดคล้องราชวิทยาลัยสูติฯ ให้ผู้อุ้มบุญต้องเป็นญาติเท่านั้น ‘นายกแพทยสภา’ ระบุควรกำหนดกรอบกม.กว้างไว้ แล้วลงลึกรายละเอียดในกฎกระทรวงแทน เผื่ออนาคตสังคมเปลี่ยนได้ไม่ต้องมาเเก้ไขอีก เตรียมถกชี้มูลเอาผิด 3 แพทย์ 9 ก.ย. 57
วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดประชุม ‘การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์’ ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพฯ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงนโยบายการกำกับดูแลกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่สำคัญ คือ มาตรา 15 ระบุให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดมาตรฐานการบริการของสถานพยาบาล ซึ่งความจริงเราได้วางระบบกำกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ตามมาตรฐานของแพทยสภาอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากดำเนินการได้เฉพาะผู้รับใบรับรองที่ฝ่าฝืนเท่านั้น จึงมีแนวคิดจะออกมาตรฐานเป็นของตัวเอง เพื่อจะได้ดำเนินการกำกับในกรณีฝ่าฝืนเองได้เลย อย่างไรก็ตาม หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เร็วก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 15
สำหรับความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ นั้น รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยอมรับในหลักการดังกล่าวแล้ว แต่ด้วยมีการทักท้วงจากกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องส่งเรื่องกลับไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาใหม่ ประเด็นหลัก ๆ คือ การได้มาของคณะกรรมการมีสัดส่วนภาคประชาสังคมน้อยเกินไป และให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกองประกอบโรคศิลปะเป็นสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
ขณะที่มาตรา 21 กรณีตั้งครรภ์แทน กระทรวงสาธารณสุขเสนอความเห็นสอดคล้องกับราชวิทยาลัยฯ ควรใช้แนวทางประกาศของแพทยสภาเดิม ซึ่งให้ยึดโยงผู้ตั้งครรภ์ต้องมีความเป็นญาติเท่านั้น ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษทางจริยธรรมและอาญาด้วย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มองว่า เป็นกลไกสำคัญ
“สถานพยาบาลใดที่ดำเนินการแล้วไม่ขอใบรับรองจะสั่งปิดทันที และส่งผู้ดำเนินการให้แพทยสภาไต่สวนทางจริยธรรม ซึ่งหากไม่รุนแรงจะเปรียบเทียบปรับ แต่ในกรณี ‘อุ้มบุญ’ ตอนนี้มีความจำเป็นต้องให้คนกลางชี้ประเด็น จึงต้องส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการต่อ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว
ด้านศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า สื่อมวลชนต่างประเทศมักให้ความสนใจประเด็น ‘อุ้มบุญ’ เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งมองไทยยังไม่มีผู้รักษากฎหมายหรือระบุสิทธิดำเนินการ ขณะที่ต่างประเทศอย่างอังกฤษและออสเตรเลียสั่งห้ามประกอบการเชิงธุรกิจชัดเจน ฉะนั้นจึงมุ่งหวังให้ไทยสร้างความโปร่งใสในเรื่องนี้ พร้อมกันนี้ยอมรับว่าที่ผ่านมามีแพทย์หลายคนลืมคิดถึงเรื่องจริยธรรม ทำให้ขาดการตรวจสอบประวัติผู้รับบริการ
“ต่างประเทศมักจะแย้งว่า นโยบายของไทยไม่มีความเป็นสากล ซึ่งเราต้องรับฟังเพื่อให้เข้ากับสังคมโลกส่วนใหญ่ได้” นายกแพทยสภา กล่าว และว่า ปัจจุบันมีวัฒนธรรมความเจริญเข้ามา จะไม่ใช้เลยก็ไม่ได้ ฉะนั้นไทยจึงเลือกเดินทางสายกลาง
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ประเด็นอุ้มบุญนั้น ส่วนตัวไม่ต้องการให้มีการระบุในกฎหมายชัดเจนให้การอุ้มบุญทำได้เฉพาะญาติ เพราะหากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะแก้ไขยาก ด้วยครอบครัวปัจจุบันเล็กลง มีลูกคนเดียวทำให้ไม่มีพี่น้อง ผิดกับเมื่อก่อนที่ครอบครัวหนึ่งมีพี่น้องร่วม 10 คน หรือมีผู้ที่นิยมรักเพศเดียวกันมากขึ้น ดังนั้นจึงเสนอควรวางกรอบไว้กว้าง ๆ แล้วลงรายละเอียดในกฎกระทรวงเเทน โดยการรับรองจากแพทยสภาอีกครั้ง
“สมัยก่อนเราระบุไว้เฉพาะญาติ เนื่องจากกลัวการอุ้มบุญจะเป็นธุรกิจการค้า ฉะนั้นรัฐจึงต้องมีกฎหมายบังคับด้านธุรกิจการค้าเพื่อป้องกัน ส่วนแนวโน้มการผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ คาดว่าจะสำเร็จภายในปีนี้”
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการสอบสวนแพทย์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดกรณีอุ้มบุญ นายกแพทยสภา ระบุว่า เรื่องนี้มีมูลความผิด โดยมีการส่งเรื่องมายังแพทยสภาเพียง 1 ราย ไม่ใช่ 6 ราย ตามที่เป็นข่าว อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้เชิญเเพทย์ 3 ท่านเข้ามาชี้เเจงเเล้ว ซึ่งเราคาดว่าจะมีการประชุมเพื่อชี้มูลความผิดในวันที่ 9 กันยายน 2557
ขณะที่นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีอุ้มบุญว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านจริยธรรมและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านการสอบสวนแล้ว โดยจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ซึ่งตอนนี้ได้เชิญแพทย์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดมาสอบสวนในชั้นจริยธรรมแล้ว 6-7 คน คาดว่าภายใน 1 เดือนจะทยอยส่งรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภาและคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านการสอบสวน
สำหรับการเสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ นั้น เรามองว่าควรให้สิทธิภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะชมรมผู้มีบุตรยาก เพื่อนำเสนอความเห็นควรมีกฎกติกาอย่างไร ไม่ใช่เราจะเป็นผู้คุมฝ่ายเดียว จะได้เกิดความสมดุลและเป็นกลาง
เมื่อถามว่าส่วนใหญ่แพทย์สูตินรีเวชมักกังวลเรื่องใดมากที่สุด เลขาธิการแพทยสภา ระบุว่า แพทย์ไทยเก่งและเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทั้งนี้ ไม่ใช่กรณีการอุ้มบุญอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงเป็นจุดแข็งของไทย เลยต้องการให้รักษามาตรฐานความสามารถด้านวิชาการนี้ไว้ และเรียกร้องให้แพทย์ทุกคนมีมาตรฐานจริยธรรมตามที่แพทยสภากำหนดเคร่งครัด .