เครือข่ายภาคปชช.กังวลแผนแม่บทฯป่าไม้ คสช. เตรียมเข้าพบ ปธ. สนช. 2 ก.ย.
เครือข่ายภาคปชช. กังวล แผนแม่บทป่าไม้ฯ ยุค คสช. ชี้ ชาวบ้านถูกไล่ที่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เตรียมเข้าพบ "พรเพชร" ประธาน สนช.ยื่น กฎหมายภาคประชาชน ปกป้องสิทธิชุมชน 2 ก.ย.นี้
วันที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีการเสวนาเวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย (Thailand Reform Forum) ครั้งที่ 1 ประเด็น “ ปัญหา ป่าไม้ ที่ดิน ทางออก ในยุคคสช.” โดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
ตอนหนึ่งของการเสวนา นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคม วิพากษ์แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้จัดทำ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางวางแผนปฏิบัติการในส่วนของตนเองให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนและเป้าหมายที่กำหนดให้เป็นแนวทางเดียวกัน คือ การพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี
นอกจากนี้ เวทีเสวนายังสะท้อนปัญหาชาวบ้านที่อยู่กับพื้นที่ป่ามานาน ถูกไล่ที่ รวมถึงสะท้อนความกังวลต่อสิทธิชุมชน และเปิดเผยรายงานการรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และวิจารณ์เป้าหมายของแผนแม่บท ที่มีวัตถุประสงค์อ้างว่าเพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทาลายป่าและทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกครอบครองให้ได้ตามที่เป้าหมายกำหนดไว้ภายใน 1 ปี, เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใน 2 ปี และเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ ภายใน 2-10 ปี นอกจากนี้ แผนแม่บทดังกล่าวยังมียุทธศาสตร์เพื่อการพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 40% ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปีนั้น
นายประยงค์กล่าวว่ามาตรการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า ของแผนแม่บทฉบับนี้ ยึดถือแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2544-2545 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหลักในการกำหนดสภาพพื้นที่ป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 และดำเนินการตามกฎหมาย หรือระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. เร่งรัดการจับกุมผู้บุกรุกป่าไม้ โดยจัดลำดับความเร่งด่วนกับผู้บุกรุกรายใหญ่เป็นลำดับแรก แล้วดำเนินการกับรายอื่นๆ ต่อไป 3.ประสานความร่วมมือใช้อากาศยานในการป้องกัน และปราบปรามการลักลอบบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า 4.เร่งรัดติดตามให้ได้ตัวผู้กระทาผิดมาลงโทษและใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเฉียบขาดและจริงจัง 5.กรณีคดีตรวจยึด/จับกุมโดยไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ให้กำหนดเวลาผู้ต้องหามารายงานตัวหรือนำหลักฐาน/เอกสารสิทธิ์มาแสดง หากพ้นกำหนดให้สามารถ ทำลาย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้โดยไม่ต้องรอการพิจารณาตัดสินของศาล ถือว่าเป็นพื้นที่ของราชการ ทำให้การฟื้นฟูป่าไม้กระทำได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการกลับมาลักลอบใช้ประโยชน์ของผู้ต้องหาในระหว่างที่ยังไม่ถูกจับกุมดำเนินคดี
นายประยงค์กล่าวว่า ประเด็นปัญหาสำคัญ ของแผนแม่บทฉบับนี้ สะท้อนถึงปัญหาการจัดการที่ดินในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์แล้ว คือโฉนด นส.3 มีทั้งสิ้น 94,868,613 ไร่ กล่าวคือ พื้นที่ 75 ล้านไร่(79%) กระจุกตัวอยู่ในมือของคน 3,179,982 คน คือคิดเป็นเพียง 5% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ขณะที่ประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่า แบ่งเป็น ป่าสงวนฯ 450,000 คน / 6.4ล้านไร่ , อุทยานฯ/เขตรักษาพันธุ์ 185,916 ราย 2.2 ล้านไร่, ที่ราชพัสดุ 161,932ราย 2.1 ล้านไร่ และที่สาธารณะ 1,154,867 ไร่
นายประยงค์กล่าวว่า การยึดคืนพื้นที่ป่าตามเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์ ของแผนแม่บทฉบับนี้ มุ่งเน้นพื้นที่ทำกินของชุมชนที่อยู่อาศัยมาก่อน และกล่าวหาว่าเป็นการบุกรุกทำลายป่า
นายประยงค์ กล่าวว่า แผนแม่บทดังกล่าว ในยุคของ คสช. เปรียบเสมือนการปิดประตูตีแมว ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวบ้านที่เขาอยู่ในป่ามาก่อน และชาวบ้านก็เป้นผู้ถูกกระทำมาตั้งแต่ในอดีต เมื่อเขาถูกบังคับให้ทำตาม มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ตั้งแต่นั้นมาก็ทำให้เกิดกระบวนการสร้างความเกลียดชัง แบ่งแยก มีการสร้างวาทกรรมว่าชาวเขาตัดไม้ทำลายป่า มีการใช้วาทกรรมเอาม้งคืนไป เอาป่าไม้คืนมา สร้างความเกลียดชังให้กับคนในพื้นที่ ทั้งที่ ตั้งแต่ในอดีต ชาวปะกากะญอ เขาอยู่อาศัยอย่างกลมกลืนกับป่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการชุมชน
นายประยงค์ กล่าวด้วยว่า นอกจากแผนแม่บท ยุค คสช. แล้ว ปัญหาที่สอดคล้องกันคือ ประกาศ คสช. ที่ 120 ที่มีการแก้ พ.ร.บ. ป่าไม้ 2-3 เรื่อง คือไปเพิ่มชนิดไม้หวงห้าม ซึ่งเป็นไม้ที่ชาวบ้านเขาเอามาสร้างบ้านสร้างเรือนด้วย เมื่อมีการเอารายชื่อไม้หวงห้ามไปประกาศในบัญชี และเพิ่มโทษ อย่างต่ำ 6 เดือน ดังนั้น ชาวบ้านที่เขาเก็บไม้ไว้มานานๆ พอทหารสนธิกำลังเข้าไปตรวจค้นเจอ ชาวบ้านก็ถูกจับหมด
“การทำโซนนิ่งป่า คนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ชาวบ้าน การที่คุณระบุว่าต้องการพื้นที่ป่า 40% มันคือ การยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านโดยการอาศัยแผนนี้ ผมว่ากลียุคเกิดขึ้นแน่นอน คุณใช้วิธี เดิมๆ กลับมาไม่ได้ นั่นคือการไม่พูดถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่มีการรับฟังชาวบ้านแม้แต่นิดเดียว"
นายประยงค์กล่าวว่า ตอนนี้วิกฤติรุนแรง เกิดขึ้นทั้งในภาคเหนือและอีสาน ทั้งที่เดิมที พื้นที่ภาคเหนือ เหลือพื้นที่ป่ามากที่สุดในประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนเกิดแผนแม่บท ตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 เดิม ประเทศศไทยมีป่าอยู่แล้ว แล้วหลังจากมีแผนแม่บทฯ ตั้งแต่นั้นมา เกิดอะไรขึ้น ปัจจุบันมีป่าเหลืออยู่เพียง 82 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 25.6 %
"ดังนั้น ผมคิดว่า ความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้นแบบนี้ ผมไปดูชาวบ้านที่เดือดร้อน เหตุเกิดล่าสุด เมื่อเช้านี้ ชาวบ้าน 38 ราย ที่แม่สะเรียง ถูกจับหัวข้อบุกรุกป่า อัยการบอกว่าถ้ารับสารภาพ หนักจะเป็นเบา ไม่งั้นชาวบ้านเขาโดนไป 4 ข้อหา ไม่มีทางรอลงอาญาได้แน่ นี่คือสิ่งที่เขาได้รับผลกระทบจากประกาศ คสช. ฉบับ ที่ 120 ดังนั้น ผมมองว่า เราพูดแค่เรื่องป่าไม่ได้แต่เราต้องเข้าใจบริบทแวดล้อม คือผู้คนที่เขาอยู่กับป่ามานาน และมีประสิทธิภาพในการดูแลผืนป่า”
นายประยงค์ กล่าวว่า ตอนนี้พื้นที่ที่อยู่อาศัย 33 ล้านแปลง ครอบครองโดยคนเพียง 5% ของประเทศนี้ ทำให้ คนจนต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าด้วย
“ประชาชน ที่ไม่มีที่จะซุกหัวนอน ราว 3 ล้าน 5 แสนคน มันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย คำสั่งที่ 64 และ 66 ที่มีใจความสำคัญบอกว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ไม่ปรากฏอยู่ในแผนแม่บทฯ นี้เลยสักครั้งเดียว” นายประยงค์ ระบุ
ด้าน นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ปัญหาป่าไม้ตอนนี้ มองเพียงแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้ ถ้ามองแค่ว่า การบุกรุกป่าต้องปราบปราม ยังไม่พอ จริงๆ แล้ว ปัญหาแบบนี้ เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีสุญญากาศทางการเมือง ข้าราชการมักจะใช้วิธีนี้ ปัจจุบัน ข้าราชการก็ยังไม่เข้าใจบริบท ที่ไม่ได้มีเพียงแค่การบุกรุกป่า
นางสาวศยามลกล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐเปิดเผยฐานข้อมูลต่อสาธารณะ และจัดทำข้อมูลว่าใครอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อน ใครทำอะไรบ้าง ใครทำเกษตร ใครทำรีสอร์ต ใครอยู่มาก่อน ใครอยู่หลัง
“ข้อเสนอนี้ สำคัญมาก ไม่เช่นนั้น จะเกิดการเหมารวม ประเด็นต่อมา คือต้องไม่มีการปราบปราม แต่ต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ แนวคิดนี้ไม่ใช่ แนวคิดที่ล้าหลัง นอกจากนี้ ควรมีการทำแนวเขตระหว่าง พื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินระหว่างแนวเขตการปกครองของท้องถิ่นกับเขตเมือง นี่ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะมีที่ดินทับซ้อนกันระหว่างแต่ละประเภท”
ด้านนายประยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่าตอนนี้ มีปัญหา คือพี่น้องภาคเหนือ 9 จังหวัด และองค์กรภาคประชาชนที่เดือดร้อน ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะชุมนุมก็ไม่ได้ ไม่มีเวทีให้ประชาชนได้ตอบโต้ แสดงเหตุผล แล้วจะแก้ปัญหายังไง กลัวว่าการเผชิญหน้า อาจจะเกิดขึ้น อย่าง 38 คน ที่ถูกจับ ทั้งหมู่บ้าน ข้อหาครอบครองไม้หวงห้าม แล้วสภาพชาวบ้าน ก็เป็นชาวบ้านที่ฐานะยากจน สิ่งเหล่านี้ มันกำลังแพร่ขยายไปทั่วทั้งแผ่นดิน
นายประยงค์กล่าวเปรียบเปรยด้วยว่า ห่วงว่าน้ำที่ทำให้เรือลอยได้ มันอาจจะทำให้เรือจมได้เช่นเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้ ชาวบ้าน เขาก็คิดว่า คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะใส่ใจเข้ามาแก้ไข ผลักดันเรื่องแก้ปัญหาชุมชน มากกว่ารัฐบาล ที่ผ่านๆ มา
“คนเหล่านี้ มีความหวังกับการปฏิรูป แต่ตอนนี้ก็น่าผิดหวัง และน่าเสียใจ นอกจากนั้น ประเด็นป่าชุมชน สิทธิชุมชนก็ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเลย”
นายประยงค์ กล่าวยืนยันทิ้งท้ายกับสำนักข่าวอิศราว่า วันที่ 2 กันยายน 2557 ที่อาคารรัฐสภา เขาและองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน จึงตัดสินใจแล้วว่าจะยื่นร่างกฎหมายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชน ต่อประธานสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ เพื่อแสดงจุดยืนในการผลักดัน เรียกร้องสิทธิชุมชน และผลักดันให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายของภาคประชาชน
ภาพประกอบจาก : http://www.northpublicnews.com