กระจายอำนาจ ไม่ใช่กระจายความขัดแย้ง!
ผมคิดจะเขียนเรื่องที่จั่วหัวไว้นี้เมื่อราวๆ 1 เดือนที่แล้ว เพราะบทบรรณาธิการ 2 ชิ้นก่อนที่เคยตั้งคำถามเรื่องการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ถูกนำไปขยายผลวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบโดยบางกลุ่มบางท่านในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายประเด็นสมควรที่ผมจะต้องใช้สิทธิชี้แจงหรืออธิบาย แต่ผมก็ตัดสินใจในตอนท้ายว่าไม่เขียน เพราะไม่อยากขยายปมขัดแย้งออกไป
แต่ล่าสุดเรื่องนี้ชักจะบานปลาย โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ของ คุณอนุศาสตร์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และผู้บริหารโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี ที่นำเสนอในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา ซึ่งแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการผลักดันให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อันเป็นกระแสของกลุ่มนักคิด นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่ในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน
ปัญหาก็คือมีการนำบทสัมภาษณ์ของคุณอนุศาสตร์ไปขยายผลจากบางท่านในพื้นที่โซเชียลมีเดียและในสถานที่สาธารณะอย่างเวทีที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานีเอง โดยประเด็นที่นำไปขยายผลนั้นดูจะไม่ค่อยเป็นธรรมกับคุณอนุศาสตร์เท่าไรนัก เพราะมีการพูดพาดพิงไปถึงตระกูลและธุรกิจของคุณอนุศาสตร์ด้วย
กลายเป็นว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตามที่กลุ่มนักคิด นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่ในพื้นที่นำเสนอ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ) ก็จะต้องถูก “บางท่าน” ในกลุ่มที่ว่านั้น โจมตีในลักษณะดิสเครดิตอย่างรุนแรง
ผมเองก็เคยโดนมาแล้ว ทั้งๆ ที่ในย่อหน้าแรกๆ ของบทบรรณาธิการที่เคยเขียน ได้ยืนยันรับรองไว้ว่าเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับ “โมเดล” หรือ “รูปแบบ” การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่มีการเสนอกันทั้งของกลุ่มดังกล่าวและของพรรคเพื่อไทยในบางประเด็นเท่านั้น
กระทั่งศูนย์ข่าวอิศราในมิติของการเป็น “พื้นที่สื่อสารสาธารณะ” ก็ยังถูกต่อว่าต่อขานทั้งในที่ลับและที่แจ้งในทำนองว่าไม่เข้าใจและไม่ค่อยให้พื้นที่กับกลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย
ในงานสัมภาษณ์พิเศษ คุณมันโซร์ สาและ นักวิชาการอิสระ และหนึ่งในหัวหอกผู้ผลักดันองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษรูปแบบหนึ่งที่ชื่อว่า “ปัตตานีมหานคร” นั้น ในตอนท้ายของงานชิ้นดังกล่าวผมได้รวบรวมงานเขียนทุกประเภทที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยมิติ “การปกครองแบบพิเศษ” ซึ่งเคยนำเสนอในเว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศราเฉพาะช่วงที่ผมทำหน้าที่บรรณาธิการ รวมแล้วถึง 31 ชิ้น (ถึงวันนี้ตัวเลขเกินกว่า 31 ไปอีกหลายชิ้นแล้ว) มาแปะไว้ให้ดูด้วย
ชิ้นแรกๆ ที่นำเสนอเมื่อเกือบ 2 ปีมาแล้ว เป็นบทสัมภาษณ์ของ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่ง “จุดพลุ” ประเด็นเรื่อง “การปกครองพิเศษ” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยขึ้นมาในช่วงที่เดินทางเยือนประเทศไทย ซึ่งศูนย์ข่าวอิศราหยิบประเด็นนี้มานำเสนอ และมีการขยายต่อโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้านในขณะนั้น (นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตประธานพรรคเพื่อไทย) ซึ่งบางท่านในกลุ่มที่สนับสนุนองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษอยู่ในตอนนี้ ยังไม่เคยพูดถึงเลยด้วยซ้ำ
ในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมา ศูนย์ข่าวอิศรานำเสนอเรื่องนี้เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักคิด นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่ ซึ่งภายหลังรวมตัวกันและใช้ชื่อว่า “เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ศูนย์ข่าวอิศราก็นำเสนอตามสถานการณ์และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมาตลอด ร่างกฎหมายร่างแรก, บทสรุป 8 ข้ออันเป็นผลจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ฯลฯ ล้วนเคยผ่านการรายงานในเว็บไซต์ของศูนย์ข่าวอิศราทั้งสิ้น
หลายๆ ครั้งข่าวหรือบทความเหล่านั้นยังได้รับเกียรตินำไปเสนอในพื้นที่สื่อสารของกลุ่มที่สนับสนุนหรือเป็นแนวร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมเครือข่ายนี้ด้วยซ้ำไป
และระยะหลังตั้งแต่ช่วงใกล้เลือกตั้งเป็นต้นมา ศูนย์ข่าวอิศราแทบจะอุทิศพื้นที่ในคอลัมน์ “สัมภาษณ์พิเศษ” ให้กับประเด็นเขตปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เพราะเป็นกระแสที่พรรคการเมืองชูเป็นนโยบายและถกเถียงกัน อีกทั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ร่วมผลักดัน มีการเปิดเวทีสาธารณะที่เชิญตัวแทนพรรคการเมืองไปพูดในลักษณะให้ผูกมัดเป็นสัญญาประชาคมกันอย่างคึกคัก
แต่ความจริงก็คือบุคคลที่ศูนย์ข่าวอิศราไปสัมภาษณ์ นอกเหนือจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่กำลังชูประเด็น “นครปัตตานี” ในการหาเสียง และกลุ่มที่ร่วมสนับสนุนหรือเป็นสมาชิกเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว คนอื่นๆ เกือบทั้งหมดมีประเด็นคัดค้านหรือข้อท้วงติงการตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษอย่างพร้อมเพรียงโดยไม่ได้นัดหมาย
หลายคนที่แสดงความเห็นเอาไว้ผ่านบทสัมภาษณ์ในศูนย์ข่าวอิศรา ก็เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร และ/หรือเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนในพื้นที่ระดับหนึ่ง หลายท่านเคยร่วมเวทีกับองค์กรที่เป็นเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกต่างหาก (เช่น พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นต้น)
ประเด็นคัดค้านจึงเป็นความคิดเห็นที่น่ารับฟัง และสมควรที่กลุ่มผลักดันให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่ว่าจะโมเดลใดก็ตาม พึงนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงหรือขัดเกลา “ตุ๊กตา” ที่ตนเองเสนอ เพื่อให้เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการของคนทุกกลุ่มมากที่สุดอย่างแท้จริง
และที่ต้องตระหนักไว้เสมอก็คือ คนที่แสดงท่าทีท้วงติงรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเสนอกัน ไม่ว่าจะเป็น “ปัตตานีมหานคร” หรือ “นครปัตตานี” ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นขัดขวางคัดค้านการกระจายอำนาจ เพราะเขาคัดค้านแค่ “รูปแบบ” หรือ “จังหวะเวลา” ในการผลักดัน ไม่ได้คัดค้าน “หลักการ”
จะว่าไปหากคิดในมุมแพ้-ชนะ อย่างไรเสียกลุ่มที่ผลักดันให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการกระจายอำนาจ) ต้องเป็นฝ่ายชนะอยู่แล้ว เพราะโดยกระแสของโลก (ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย) ทิศทางมันไปแบบนั้น ผมคิดอย่างหยาบๆ ว่าอีกไม่เกิน 10 ปี ประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมากกว่า 1 จังหวัดที่เลือกอยู่ในปัจจุบันแน่นอน และรูปแบบมันจะหมุนพัฒนาไปด้วยตัวของมันเอง
ฉะนั้นหากคิดในเชิงการเมือง คนที่คัดค้านเรื่องนี้ต่างหากที่จะต้องเจอแรงเสียดทานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อ “คนการเมือง” ออกมาคัดค้าน แทนที่พวกเขาจะร่วมขบวนสนับสนุนไปด้วยเพราะง่ายกว่า ย่อมแสดงว่ามีประเด็นที่ค้างคาและน่าเป็นห่วงจริงๆ
โดยเฉพาะต้องไม่ลืมว่า การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษนั้น คือ “ยาแรง” อันดับ 2 รองจาก “เขตปกครองพิเศษ” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยใช้มิติการปกครองภายใต้กรอบคิดประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้หากเดินหน้าไปอย่างไม่รอบคอบและสุดท้ายเกิดล้มเหลวขึ้นมา ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อภาวะที่ประชาชนอาจสิ้นหวังต่อระบอบประชาธิปไตยไปเลย
อย่างกรณีของคุณอนุศาสตร์ ก็มีประเด็นที่เป็นข้อคิดและน่าสนใจหลายประเด็น ซึ่งตรงกับที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆ ท่านเคยตั้งข้อสังเกตมา เช่น การกำหนดพื้นที่เลือกตั้งโดยตรงซึ่งกว้างใหญ่ไพศาลถึง 3 จังหวัด (บางโมเดลบวก 4 อำเภอของสงขลาเข้าไปด้วย) โดยมีผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว จะกลายเป็นการลดทอนศักยภาพคนธรรมดาๆ ที่เป็นคนดีแต่อยากทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนจริงๆ หรือไม่ เพราะเมื่อพื้นที่ใหญ่มาก คนที่มีศักยภาพหาเสียงได้ต้องเป็นคนที่มีทุนสนับสนุนมหาศาลและ/หรือมีอิทธิพลค่อนข้างสูง
โอกาสที่หากมี “นครปัตตานี” หรือ “ปัตตานีมหานคร” เกิดขึ้นแล้ว กลายเป็นเวทีแข่งขันเข้าสู่อำนาจของคนไม่กี่ตระกูล จึงมีสูงมาก
และเมื่อผู้นำใหม่มาจากฐานการสนับสนุนของประชาชนในมิติที่กว้างขวางมาก การตรวจสอบถ่วงดุลย่อมเกิดได้ยาก ไม่ว่าจะวางระบบเอาไว้ดีอย่างไร เพราะผู้นำมักจะอ้างว่าเขามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยตรง (ดูกรณี คุณทักษิณ ชินวัตร ในบริบทภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นตัวอย่าง)
หรือความรู้สึกของ คุณอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ตั้งคำถามเอาไว้ง่ายๆ ในฐานะคนนราธิวาสว่า ทำไมต้อง “ปัตตานีมหานคร” หรือ “นครปัตตานี” ทำไมไม่ “นครนราธิวาส” หรือ “นครยะลา” บ้าง ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองแบบท้องถิ่นนิยมที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพื่อป้องกันปัญหาทางความรู้สึก
นี่ยังไม่นับกระแส “ไทยพุทธ” อีกจำนวนมากที่คัดค้านเรื่องนี้ โดยเฉพาะข้อมูลจากเวที “สันติธานี” ซึ่งจัดโดยนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่น 2 หรือ 4 ส.2 ที่ห่วงกังวลกันถึงขนาดว่า หากรัฐเดินหน้านโยบายอะไรที่สุดโต่งไปด้านเดียว (พูดกันตรงๆ คือสุดโต่งด้านมุสลิม) อาจเกิด “กลุ่มไทยพุทธแยกดินแดน” ขึ้นมาในอนาคตก็ได้
ที่ยกมาให้อ่านนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความรู้สึกจากคนกลุ่มใหญ่จริงๆ ที่อาจไม่มีโอกาสได้พูด หรือไม่มีพื้นที่ให้ได้สื่อสารความต้องการ ฉะนั้นกลุ่มที่ผลักดันให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษซึ่งจัดเป็น “นวัตกรรมใหม่” ย่อมต้องพร้อมยอมรับเสียงวิจารณ์ ติติง ท้วงติง หรือเป็นห่วง ไม่ใช่หยิบบางประเด็นไปขยายความต่อเพื่อสร้างความขัดแย้ง หรือแสดงท่าทีในลักษณะว่าใครไม่เห็นด้วยต้องเลวหมด โง่หมด หัวเก่า เป็นศัตรู และเป็นฝ่ายตรงข้าม
โดยเฉพาะการเลือกหยิบเฉพาะบางประเด็นไปสร้างความเข้าใจผิด หรือเพื่อ “ติเรือทั้งโกลน” โดยไม่ได้พิจารณาความคิดเห็นทั้งหมดของผู้ที่คัดค้าน หรือการสร้างวาทกรรมเร้าใจประเภทเมืองไทยมีแค่รวมศูนย์อำนาจ ไม่ได้กระจายอำนาจมาร้อยปีแล้ว (ทั้งๆ ที่จริงๆ คือมีการกระจายอำนาจ แต่อาจยังไม่ดีพอ) ไม่ว่าจะบนเวทีสื่อสารสาธารณะหรือในพื้นที่โซเชียลมีเดียก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวจริงๆ
หลายๆ ท่านในกลุ่มผู้สนับสนุนให้เกิดองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษก็เคยผ่านงาน “สื่อสันติภาพ” กับศูนย์ข่าวอิศราในยุคต้นมา น่าจะตระหนักดี
ถ้าทำใจไม่ได้กับเสียงค้านแค่ในสื่อเล็กๆ อย่างศูนย์ข่าวอิศรา ก็อย่าคิดเลยว่าในอนาคตเมื่อประเด็นนี้กลายเป็นกระแสระดับประเทศแล้วจะทนต่อแรงเสียดทานได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพราะเมื่อถึงตอนนั้น เสียงค้านหรือความคิดเห็นที่แตกต่างจะไหล่บ่ามาอีกมากมาย ทั้งเนื้อหาแบบคำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัด, เจตนารมณ์, เป้าประสงค์, การจุดประเด็นชาตินิยม ไปจนถึงเกมตีรวนทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นสมรภูมิใหม่ที่ใหญ่โตกว่านี้มาก
และต้องไม่ลืมว่าพื้นที่นี้ยังมีปัญหาความมั่นคง มีการก่อเหตุรุนแรงรายวัน ซึ่งส่งผลมุมกลับให้ฝ่ายความมั่นคงเสียงดังเป็นพิเศษต่อปัญหานี้
การสร้างความเข้าใจผิดจนนำไปสู่ความขัดแย้ง ต้องเอ่ยรวมไปถึง "พรรคประชาธิปัตย์" ที่คัดค้านเรื่องนี้อย่างชัดเจนด้วย เพราะชอบใช้วาทกรรมว่า “นครรัฐปัตตานี” ซึ่งสื่อถึงการตั้งเขตปกครองในลักษณะ “แยกรัฐใหม่” และการสร้างกระแสในทางปิดที่ไม่ใช่ต่อเวทีสาธารณะก็มักจะบิดประเด็นไปในทำนองนั้น ซึ่งเป็นหนึ่งใน “เกมการเมือง” ที่นำไปสู่ความขัดแย้งเช่นกัน เพราะฝ่ายที่สนับสนุนให้เกิดการปกครองแบบพิเศษเขาก็ยืนยันแล้วว่าเป็น “การปกครองท้องถิ่น” ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
ฉะนั้นทางที่ดีควรสู้กันด้วย “เนื้อหา” มากกว่า “หาเรื่อง”
และขอฝากทิ้งท้ายไปยังมิตรสหายที่เคารพทั้งหลายซึ่งเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องนี้กันอยู่ในพื้นที่ว่า “จะทำงานใหญ่ ใจต้องกว้าง”
เป็นประโยคที่ควรท่องจำให้ขึ้นใจ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพบรรยากาศหน้ามัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานีในช่วงเทศกาลฮารีรายอ โดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากเครือเนชั่น โดยภาพผ่านการปรับแต่งและเพิ่มเติมข้อความโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา