คมนาคม ชี้รางรถไฟไทยต่ำกว่ามาตรฐาน หัวรถจักรใช้นานกว่า 50 ปี
รองปลัดคมนาคมชี้รางรถไฟของไทยมีขนาดต่ำกว่ามาตรฐาน หัวรถจักรเดินรถใช้ยาวนานมากกว่า 50 ปี เผยแผนพัฒนาระบบรางรถไฟ5 ด้าน
วันที่ 28 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) จัดงานประชุมวิชาการการระบบขนส่งรางแห่งชาติประจำปี 2557 (Thailand Symposium 2014) ทั้งนี้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “แผนการพัฒนาระบบการขนส่งรางของไทย” โดยนายชาญชัย สุวิสุทธะกุล รองปลัดกระทรวงคมนาคม ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
นายชาญชัย กล่าวถึงปัญหาและแผนพัฒนาระบบการขนส่งการรถไฟของไทยในอนาคตว่า ปัญหาที่พบมีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องของรายได้ที่ขาดทุนสะสม การแข่งขันกับขนส่งอื่นๆน้อย เหตุเพราะที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุทางด้านรถไฟในหลายครั้ง และความล่าช้าของขบวนรถไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้ประชาชนเลือกที่จะไม่ใช้รถไฟในการเดินทางหรือเลือกใช้รถไฟลดน้อยลง
“ปัญหาเรื่องขนาดของราก็ยังมีขนาดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และประเภทของจุดตัดผ่านหรือเครื่องตั้งต่างๆ ในบางส่วนยังไม่ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันระบบหัวรถจักรบางส่วนก็มีการใช้งานมากเกือบ 50 ปี เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อ ซึ่งในข้อนี้เป็นข้อจำกัดของการรถไฟพอสมควร อีกทั้งสถานีต่างๆยังจำเป็นต้องมีการปรังปรุงมีระบบอัตโนมัติมากขึ้น” รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว และว่า ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแผนการแก้ไขปัญหาในเรื่องของระบบรางรถไฟ ซึ่งเน้นที่ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนามและขนส่ง โดยภายในปี 2558-2565 มีแผนพัฒนา 5 แผนงานได้แก่ พัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟระหว่างเมือง ,พัฒนาโครงข่ายระบบสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ,พัฒนาขีดความสารถทางถนน ,ทางน้ำ และทางอากาศ
อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาปรับปรุงเส้นทางเดิมที่เร่งด่วน รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จะมีการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟระหว่างเมือง ,พัฒนาโครงข่ายระบบสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยแผนงานโครงข่ายระบบรถไฟระหว่างเมืองจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของรถไฟเดิม (Meter Gauge) และพัฒนาระบบทางคู่ให้ได้มาตรฐานเส้นทางใหม่ ซึ่งจะดำเนินการเพิ่มระบบทางคู่จากเดิม 5 เส้นทางเพิ่มอีก 1 เส้นทาง เป็นระระทางรวม 887 กิโลเมตร ใช้งบลงทุนประมาณ 127,000 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2558 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561
รองปลัดคมนาคม กล่าวอีกว่า หากทางรถไฟแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความเร็วในการเดินรถ (รถสินค้าจาก 29 กม./ชม. เป็น 60 กม./ชม. และรถด่วนพิเศษจาก 50 กม./ชม. เป็น 100 กม./ชม.) ทำให้สามารถเพิ่มขบวนเดินรถได้มากขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า และสามารถเพิ่มน้ำหนักลงเพลาเพิ่มการขนส่งได้ขบวนละ 25% อีกทั้งการขนส่งทางรถไฟในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากเดิมจาก 1.5 เป็น 5% ในปี 2563
"ในอนาคต รัฐบาลได้วางเป้าหมายการวางมาตรฐานใหม่ (Standard Gauge) ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีมาตรฐานมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับประเทศจีนตอนใต้ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มความเร็วการเดินรถสินค้า เป็น 120 กม./ชม. รถโดยสาร เป็น 160 กม./ชม.อีกทั้งเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถ"