วุฒิภาวะหนังสือพิมพ์กรณีผลสอบอีเมล์ฉาว
1.วันที่ 4 กรกฎาคม 2540เจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ก่อตั้งสภาการ หนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อควบคุมและ ตรวจสอบกันเองในเรื่องปัญหาจริยธรรมแทนที่จะไปอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกฎหมายจากรัฐ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า สื่อมีปัญหาในเรื่องจริยธรรมมากมายทั้งเรื่องการนำเสนอภาพที่ไม่เหมาะสมของผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งเรื่องอามิสสินจ้าง เรียกรับผลประโยชน์ของคนวงการสื่อ หรือการแสดงตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเสียเอง
ที่หนักหนาสาหัสคือความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์ของธุรกิจสื่อและเสรีภาพในการทำหน้าที่ของนักข่าวว่าควรเป็นเช่นไร
ดังนั้น 10 กว่าปีที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์ฯก็ถูกตั้งคำถามอย่างท้าทายว่าควบคุม หรือตรวจสอบกันเองได้จริงหรือไม่หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อหนีการควบคุมโดย กฎหมายหรือองค์กรอื่นในสังคม
2 ด้วยความท้าทายดังกล่าวคนในสภาการ หนังสือพิมพ์ฯพยายามที่จะหาตัวแบบว่าโครงสร้างของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ควรเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกให้มากกว่าคนในวงการสื่อ หรือเปิดกว้างให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมเข้ามาเป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ เพื่อการควบคุมและการตรวจสอบจะได้มีความเข็มข้นมากยิ่งขึ้น และเพื่อลบคำครหา เรื่องแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน สื่อไม่ตรวจสอบสื่อ
3 ด้วย เหตุนี้ กรณีอี เมลล์ฉาว ของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ข้อความที่ปรากฎในอีเมลล์ได้ส่งผลสะเทือนกับความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน อย่างมากมายมหาศาล หากปล่อยให้เกิดความคลุมเครือ คำว่า สื่อซื้อได้และจัดการได้จะเปลี่ยนจากความสงสัยในสังคมมาเป็นความเชื่อทันที สภาการหนังสือพิมพ์ฯก็ถูกท้าทายที่ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างโดยเร็ว
4 ถ้า จำไม่ผิด นี้อาจจะเป็นครั้งแรกที่สภาการหนังสือพิมพิ์แห่งชาติ แต่งตั้งคนจากภายนอกมาตรวจสอบกรณีอีเมลล์ฉาวของนายวิม ซึ่งอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วย 1.นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน 2. นางบัญญัติ ทัศนียะเวช 3. รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ 4. ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ 5. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นเลขานุการ ซึ่งแต่ละคนล้วน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ มีความคิด มีทุนทางสังคม ที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาครอบงำหรือชี้นำไม่ได้
โปรดเข้าใจว่า บุคคลเหล่านี้มาทำหน้าที่ตรวจสอบเพราะถูกเลือกจากกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ มีการส่งคนไปทาบทามให้มาทำหน้าที่ หลายคนอาจรู้ด้วยซ้ำว่าไม่ว่าผลสอบจะออกมาอย่างไรพวกเขาจะตกเป็นเป้าของการ โจมตีอย่างแน่นอน
5 .ผมนับถือความกล้าหาญและความเสียสละของอนุกรรมการชุดนี้และเห็นว่า กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯก็นักเลงเพียงพอ ใจถึงเพียงพอที่ตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาสอบเรื่องอีเมลล์ฉาว
เท่าที่ได้พูดคุยกับพี่ๆ เพื่อนๆในสภาการหนังสือพิมพิ์ฯ ก็ได้ทราบเหตุผลว่า เพื่อให้สังคมมั่นใจว่าเรื่องฉาวใหญ่ขนาดนี้คนวงการสื่อก็ พร้อมที่จะทำการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาและพร้อมที่จะถูกตรวจสอบจากสังคม เพื่อดึงความน่าเชื่อถือของวิชาชีพสื่อกลับมา
6 . ดังนั้น หากเป็นไปได้ ใครก็ตามที่อาจได้รับผลกระทบจากผลสอบ น่าจะเริ่มต้นจากการตรวจสอบกระบวนการ ภายในของสภาการหนังสือพิมพ์ฯว่ามีมติเรื่องนี้ไว้อย่างไร ให้ขอบเขตอำนาจการสอบของอนุกรรมการชุดนี้ไว้อย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการวิจารณ์หรือตอบโต้เรื่องนี้ และน่าจะดีกว่าการมุ่งโจมตีตัวอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริง
7. เท่าที่พูดคุยก็พบว่า กรรมการสภาหนังสือพิมพิ์ฯ ให้ความอิสระอย่างเต็มที่กับอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการวางประเด็นและแนวทางการสอบสวน และให้เวลาสอบเพียง 15 วันเท่านั้นเพื่อให้การสอบเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่างอย่างชัดเจนโดยเร็ว แต่อนุกรรมการสอบก็ขอขยายเวลาออกไปและบอกวันเวลาชัดเจนว่า จะสรุปผลสอบในวัน ที่ 17 สิงหาคม
วันนั้นนักข่าวจากทุกสื่อรอบฟังผลสอบอย่างคับคั่ง ข้อเท็จจริงตรงนี้ก็มีความชัดเจนว่า เป็นมติกรรมาสภาการฯให้เปิดผลสอบได้ มิใช่อนุกรรมการเปิดผลสอบตามอำเภอใจตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
8. เท่าที่ติดตาม อนุกรรมการมีข้อจำกัดในการสอบเส้นทางเงินว่า มีการใช้จ่ายกันจริงหรือไม่ แต่เมื่อดูจากผลสอบแล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้ถูกพาดพิงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับอนุกรรมการแม้ว่าหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดได้ตรวจสอบมาแล้วว่าไม่พบว่า มีการให้สินบนแต่อย่างใด แต่บุคคลที่ถูกพาดพิงเหล่านี้ก็ยังมี ความกล้าหาญที่เดินทางมาให้ปากคำ ยกเว้นผู้ถูกพาดพิงจากเครือมติชนที่ชี้แจงเป็นหนังสือเท่านั้น
9. อย่างไรก็ตาม หากจะให้วิจารณ์อนุกรรมการ ก็มีประเด็นว่า ทำไมอนุกรรมการ ไม่สอบบุคคลอื่นๆที่ได้รับอีเมลล์ฉบับเดียวกันนี้อีกหลายคน ซึ่งได้เมลล์นี้มาก่อน 2 วันก่อนที่จะมาฉาวในผู้จัดการออนไลน์
หากสอบบุคคลทุกคนที่ได้รับเมลล์อาจได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งมากขึ้นเพราะเรื่องนี้มีการพูดกันมากในห้องข่าวพรรคเพื่อไทยทำให้จับอารมณ์ของนายวิมและปัญหาความขัดแย้งในทีมงานด้านสื่อของพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี
10. อย่างไรก็ตามนี้คือ ความใจกว้างของกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯที่ให้ความอิสระกับอนุกรรมการ ในการตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบแม้จะรู้ว่าจะเนื้อหาในการตรวจสอบอาจ เกิดผลกระทบหรือสร้างความไม่พอใจกับสื่อหรือหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงซึ่ง ตอนนี้เครือมติชนก็ได้ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของอนุกรรมการออกมา แล้ว
11. กระบวนการสอบสวนเรื่องอีเมลล์ฉาวครั้งนี้ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ คือบทพิสูจน์อย่างแท้จริงว่า คนในวงการสื่อพร้อมที่ยอมรับการตรวจ สอบอย่างตรงไปตรงมาได้หรือไม่
แต่เรื่องที่น่าสนใจหลังผลสอบถูกเปิดเผยออกมาแล้วคือ วุฒิภาวะของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับที่ถูกพาดพิง ได้รับมือกับผลสอบครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปฏิกิริยาที่พบนั้นคือ จะนิ่งเงียบรับฟังและรีบสำรวมตัวเอง หรือ จะยืนกล้าตอบโต้ในทำนอง “มึงว่ากูเลว มึงนั้นแหละก็เลวด้วย หรือมึงว่ากูผิด มึงนั้นแหละก็ผิดด้วย “
12. อย่างไรก็ตาม วันนี้สภาการหนังสือพิมพ์ฯเดินมาถึงทางแพร่งที่สำคัญว่าคนวงการสื่อว่า จะร่วมพัฒนาหรือสร้างกลไกการควบคุมกันเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือจะหันหลังให้กับหลักการควบคุมกันเอง ตรวจสอบกันเอง ซึ่งทุกคนต้องร่วมหาคำตอบ