นพ.ประเวศ วะสี: ชี้อปท.ต้องเเสดงให้เห็นการเลือกตั้งเป็น 'อารยะ'
หัวใจการปฏิรูปประเทศอยู่ที่การคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อปกครองตนเองในรูปเเบบชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง เเละจังหวัดจัดการตนเอง
วันที่ 27 สิงหาคม 2557 สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลกับการปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องประชุมเลอ คองคอร์ด บอลรูม โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
โดยมีศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล กับการปฏิรูปประเทศไทย” ใจความว่า ประเทศไทยมีการหว่านเมล็ดพันธุ์ความคิดของการปฏิรูปมาหลายปี ซึ่งเดิมนั้นหน่วยงานต่าง ๆ มีการพยายามดำเนินการให้ประเทศดีขึ้นก่อนจะมีการปฏิรูปเเล้ว แต่ไม่สำเร็จ เเม้จะมีการต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าต้องหันมาปฏิรูปประเทศ แม้จะมีรายละเอียดการดำเนินงานที่แตกต่างกัน แต่วัตถุประสงค์เหมือนกัน จึงถือเป็น 'ยุคสมัยเเห่งการปฏิรูป'
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกถึงสาเหตุการยึดอำนาจการบริหารประเทศเพื่อเข้ามาปฏิรูป โดยจัดตั้งสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) เเละสภาปฏิรูปเเห่งชาติ (สปช.)" ราษฎรอาวุโส กล่าว เเละว่าการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาไม่มีครั้งใดที่คนไทยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่มีตรงกันก็จะเกิดพลังที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เกิดการเปลี่ยนเเปลงพื้นฐาน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ ระบุถึงหัวใจการปฏิรูปประเทศอยู่ที่การคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อปกครองตนเองในรูปเเบบชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง เเละจังหวัดจัดการตนเอง เพราะสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศล้วนเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางนานกว่า 100 ปี อย่างน้อย 6 เรื่อง ดังนี้
1.ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ เพราะอำนาจการปกครองอยู่ที่ศูนย์กลาง ท้องถิ่นไม่มีอำนาจการคิดเเละดำเนินการของตัวเอง จึงทำให้ชุมชนอ่อนเเอ ทั้งที่ความจริงเเล้วสามารถสร้างความเข้มเเข็งได้ โดยไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง ซึ่งหากเดินตามรูปเเบบดังกล่าวจะมีชุมชนจะมีพลังขับเคลื่อนต่อไป
2.ทำให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมท้องถิ่นกับอำนาจเเบบรวมศูนย์ ซึ่งวัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ และเเต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ประชาชนมีความภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง
3.ทำให้ระบบราชการอ่อนแอ ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้อำนาจจากศูนย์กลางไปสู่ท้องถิ่น กรมต่าง ๆ ทำงานที่ศูนย์กลาง เมื่อเราใช้อำนาจก็จะไม่ใช้ปัญญา ปัญญาก็อ่อนแอ และทำอะไรไม่ถูก ชาวบ้านจะไม่รู้ว่าพื้นที่ตัวเองเป็นอย่างไร ส่วนข้าราการที่แต่งตั้งมาก็ทำอะไรไม่เป็น แก้ปัญหาผิด ๆ
4.ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นสูง ดังเช่นกรณีประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 100 ปีก่อน เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น คดโกง เพราะใช้รูปเเบบอำนาจรวมศูนย์ ต่อมาเมื่อมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ราษฎรมีส่วนใกล้ชิด ดูแลตัวเองผ่านองค์กรท้องถิ่นต่าง ๆ การคอร์รัปชั่นก็หายไป เพราะฉะนั้นคอร์รัปชั่นจึงเปรียบเป็นมะเร็งร้ายกัดกินประเทศไทย
5.ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงทางการเมืองอย่างรุนแรง ถ้าใครได้รับอำนาจจะกินรวบหมดทั้งประเทศ เดิมพันสูง แข่งขันกันสูง รุนแรง และกลายเป็น 'ธนาธิปไตย' เมื่อคุณภาพทางการเมืองไม่สูง จะนำไปสู่ปัญหา เเละเมื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้จึงนำไปสู่การรุนแรงทางการเมือง
6. ทำให้เกิดรัฐประหารได้ง่าย เพราะอำนาจเเบบรวมศูนย์ ใช้ทหารไม่กี่คนก็ยึดได้ แต่ประเทศที่กระจายอำนาจการยึดอำนาจจะยากขึ้น เพราะแต่ละท้องถิ่นมีไม่เหมือนกัน
"การกระจายอำนาจท้องถิ่นเป็น 'สัจธรรม' และ 'ความถูกต้อง' เปรียบได้กับธรรมจักรที่หมุนกลับไม่ได้ กล่าวคือ มนุษย์ต้องเติบโตเเข็งเเรง เช่นเดียวกับการปกครองตนเอง การพึ่งตนเองได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังเช่นหลายประเทศที่ทำเเละประสบความสำเร็จ เช่น สวิตเซอร์เเลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย เยอรมัน เป็นต้น"
ราษฎรอาวุโส ยังกล่าวถึงกรณีการสั่งชะลอเลือกตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่น เพราะ คสช.กลัวว่าจะเกิดการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่การทะเลาะเเละขัดเเย้งกัน เเต่ในที่สุดเเล้วจะต้องมีการเลือกตั้งเหมือนเดิม เพื่อคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเเสดงให้เห็นว่า การเลือกตั้งเป็น 'อารยะ' หมายถึง การใช้เหตุผล ไม่มีการสาดโคลนใส่กัน ทำร้ายกัน เเละท้องถิ่นสามารถมีความเป็นประชาธิปไตยเเบบสมานฉันท์ได้ พร้อมจะพัฒนาไปสู่อารยะประชาธิปไตยในอนาคต
ส่วนจะทำอย่างไรให้เชื่อมโยงประชาชนทั้งประเทศเข้าด้วยกันได้นั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ เสนอให้มี 'สมัชชาองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อสภาปฏิรูป' โดยการประชุมแต่ละครั้งเน้นเรื่องนโยบายการปฏิรูป นักวิชาการต้องช่วยกันขับเคลื่อน ในประเด็นใหญ่ ๆ เรื่องการพัฒนานโยบายและทรัพยากรเพื่อท้องถิ่น
นอกจากนี้ด้านการศึกษา ประเทศไทยมีระบบการสอนแบบท่องจำ ไม่เน้นปฏิบัติได้ในชีวิตจริง และไม่มีการนำมาใช้ในท้องถิ่นตนเอง แต่ถ้าทำงานเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นจะทำให้เข้มแข็งอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงฐานของประเทศด้วยการเปลี่ยนแปลงฐานและระบบการเรียนรู้
"ท้องถิ่นต้องมีอิสระในการจัดการตนเองโดยการจัดทำกฎหมายไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ เพื่อปลดล็อคท้องถิ่นออกจากส่วนกลาง และควรจะมีการจัดความสำคัญใหม่ระหว่างท้องถิ่น ราชการ และการเมือง" ราษฎรอาวุโส กล่าว เเละว่าควรจะมีศูนย์วิทยาลัยท้องถิ่นหรือศูนย์วิชาการ เพื่อเป็นระบบข้อมูลชุมชนในการสื่อสารและต้องมีการวิจัยพัฒนาท้องถิ่นในทุกจังหวัด เเละพัฒนาอย่างบูรณาการในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาฯ เชื่อมโยงภาคีเข้าด้วยกันอย่างเท่าเทียม สิ่งนี้ คือ การปฏิวัติสังคม
ท้ายที่สุด การเลือกผู้นำระดับชาติในอนาคต ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ ให้มุมมองว่า ต้องมาจากผู้นำท้องถิ่นก่อนถึงจะขึ้นเป็นผู้นำระดับชาติ เพราะการทำหน้าที่ในตำแหน่งเล็กมาก่อนทำให้เข้าใจถึงปัญหาของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น .