‘ปฏิรูปสื่อ’ นักวิชาการ เสนอโมเดลกำกับร่วม -บังคับสังกัดสภาวิชาชีพ
นักวิชาการด้านสื่อยันจริยธรรมสื่อไม่ควรเป็นเรื่องสมัครใจ จี้บังคับ ใส่ในกฎหมาย สื่อต้องสังกัดองค์กรสภาวิชาชีพ ด้านผู้บริหาร Kapook ระบุเรากำลังอยู่ในยุคการปฏิรูปสื่อโดยเทคโนโลยี ทุกคนเป็นสื่อได้ ถึงเวลาทบทวน ใครคือสื่อกระแสหลัก
วันที่ 27 สิงหาคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการชุด 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย ในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูปความจริง” ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดการปฏิรูปสื่อ ทำกันมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงวันนี้คนไม่รู้สึกว่า ยังไม่มีการปฏิรูป ยิ่งก่อนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามายึดอำนาจ คนมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับสื่อมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น การปฏิรูปสื่อต่อจากนี้ไปทำอย่างไรให้เป็นที่พอใจของประชาชน เป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง และไม่ทำแบบลูบหน้าปะจมูก
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อที่ชัดเจนมากที่สุดคือ เมื่อมีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่ก็มีคำถาม หน่วยงานงานทั้งหมดเกิดขึ้นแล้วมีประสิทธิภาพหรือไม่
นายธาม กล่าวถึงรูปแบบการกำกับดูแลสื่อที่ผ่านมา 10 ปี แบ่งเป็น 1.รัฐกำกับ 2.กำกับร่วม 3.กำกับกันเอง 4.กำกับตนเอง และ 5.สังคมกำกับ สำหรับประเทศไทยใช้วิธีการกำกับตนเอง แต่ถึงปัจจุบันนี้พบว่า ใช้ไม่ได้ ดังนั้นหากจะปฏิรูปสื่อ ในหลายประเทศจะใช้โมเดลที่ 2 คือการกำกับร่วม หรือ Co-regulation โดยใช้กลไกลรัฐและกลไกวิชาชีพ
“เราต้องยอมรับการกำกับดูแลกันเองในประเทศนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะต่างคนต่างอยู่ ฉะนั้นจริยธรรมสื่อไม่ควรเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ควรเป็นวิชาบังคับ การบังคับให้สื่อสังกัดองค์กรสภาวิชาชีพ โดยเขียนไว้เป็นกฎหมาย ถามว่า เราพร้อมใช้ระบบนี้แล้วหรือไม่ ”
ขณะที่นายปรเมศวร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด และผู้บริหารเว็บไซต์ Kapook.com กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในยุคการปฏิรูปสื่อโดยเทคโนโลยี เราทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เช่น การสนใจประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือกระพือสิ่งที่น่าสนใจจนสื่อใหญ่นำไปเล่น
“ผมคิดว่าในวงการสื่อสาร ปลาเล็กกำลังเริ่มทำลายปลาใหญ่ คนเล็กคนน้อยกำลังช่วยรายงานข่าว เรื่องราวต่างๆ เข้ามาในโลกยุคใหม่ แล้วเราต้องทบทวนหรือไม่ ใครคือสื่อกระแสหลัก”