‘ม.ร.ว.ดิศนัดดา’ แนะสร้างชุมชนยั่งยืน ต้องพัฒนาเชิงพื้นที่ - ปชช.เป็นศูนย์กลาง
'ม.ร.ว.ดิศนัดดา' ชี้หลักพัฒนาชุมชนไทยยั่งยืนต้องยึด ปชช.เป็นศูนย์กลาง ขับเคลื่อนความเข้าใจ 3 ฝ่าย 'รัฐบาลกลาง-รัฐบาลท้องถิ่น-ชุมชน' ระบุต้องปฏิรูปก.มหาดไทยก่อน จึงจะไปรอด หวังผู้นำประเทศยก 'น้ำ' เป็นวาระชาติ เชื่อช่วยเเก้ปัญหาความเดือดร้อนท้องถิ่นได้
วันที่ 27 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน ‘ร้อยพลัง สร้างสุข’ โดยมีม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ปาฐกถาพิเศษ ‘ชุมชนท้องถิ่นกับอนาคตประเทศไทย’ ใจความว่า ปัจจุบันชุมชนมีความถดถอยและมืดมนไปเรื่อย ๆ ลูกหลานไปทำงานในเมืองใหญ่เพื่อต้องการความอยู่รอด ซึ่งรัฐบาลไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้เลยว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่าง ‘โครงการพัฒนาดอยตุง’ ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ที่ทรงใช้วิธีการทำงานแบบบูรณาการองค์รวม นำคนเป็นตัวตั้ง เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่จนประสบความสำเร็จ
“โครงการที่ สสส.ดำเนินงานมีทั้งสิ้น 1,000 โครงการ ได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการละ 2 แสนบาท ควรทำให้มีขนาดเล็กลง โดยให้รวมโครงการเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว และจะช่วยประหยัดคนและหลักสูตรได้”
เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ยังกล่าวถึงการทำงานพัฒนาชุมชนว่า จะต้องเข้าไปสำรวจความต้องการของชาวบ้าน แต่ต้องนำตา สมอง ประสาทสัมผัสไปด้วย มิใช่นำแต่เท้าเข้าไป เมื่อศึกษาแล้วให้แสวงหาปัญหา โดยการสำรวจดังกล่าวต้องไม่สอบถามเฉพาะกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ต้องถามทุกครัวเรือน และให้มีการยินยอมโครงการเกิน 80% จึงจะดำเนินงานได้ แต่หากไม่ถึงก็ไม่ควรทำ เพราะจะเจ๊ง
“ปัญหาใหญ่ของไทย คือ หนี้สิน ที่ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่แย่ลง เรื่องนี้จึงไม่มีทางจะแก้ไขให้จบได้ ยกเว้นต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้”
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวอีกว่า ชุมชนจะมีการพัฒนาได้ต้องมีน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงงานด้านน้ำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 60 ปี แต่ไม่มีรัฐบาลสมัยใดจับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติจริงจัง จึงควรนำงบประมาณจากการสร้างถนนค้ำฟ้า อุโมงค์ รถไฟความเร็วสูง มาพัฒนาแหล่งน้ำ ชุมชนก้จะอยู่ได้ ไม่มีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งผมได้น้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้
ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาระบบน้ำ อ.สองแคว จ.น่าน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มีการพัฒนาระบบฝายใหม่ เพราะที่มีอยู่เสียหายหมด เนื่องจากราชการทำเสร็จแล้วไม่มีการดูแล อย่างไรก็ตาม มองว่าเราไม่จำเป็นต้องไปสร้างของใหม่ แต่ควรพัฒนาของเก่าที่มีอยู่ให้ใช้ได้
“การปรับปรุงฝายทำให้ช่วงฤดูผลิตข้าวเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 39 ถัง/ไร่ เป็น 69-100 ถัง/ไร่ นอกจากนี้ยังมีน้ำไว้ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เพื่อหวังลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าว และว่า 1,543 ครัวเรือน สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการปลูกผักกินเอง 300 บาท/ครัวเรือน และยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย แต่หากมีน้ำน้อยควรทำปศุสัตว์ โดยเลี้ยงหมู เป็ด นำมาแปรรูป ประหยัดถึง 70% นั่นคือรายได้ที่ได้มาเพื่อนำไปใช้หนี้
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวด้วยว่า การพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนนั้นต้องปฏิบัติตามหลักบัญญัติ คือ ต้องพัฒนาเชิงพื้นที่ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ศึกษาข้อมูลภูมิสังคมอย่างละเอียด ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ชุมชน และต้องทำงานประสานกันจากบนลงล่างและจากล่างขึ้นบนตลอดเวลา ทั้งแนวดิ่งและแนวราบอย่างต่อเนื่อง เเต่ถ้าไม่มีการปฏิรูปกระทรวงมหาดไทย ชาตินี้ก็ไม่มีความเจริญ
นอกจากนี้ควรอบรมให้ความรู้ ศึกษาดูงาน เพื่อสร้างทักษะให้ข้าราชการและชุมชน โดยเฉพาะข้าราชการมักคิดนอกกรอบไม่เป็น ประกอบกับทำแผนงานอย่างต่อเนื่อง 6 ปี ให้ระดับอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน ไม่ใช่ 3 ปี อย่างที่ สสส.ทำ สร้างกลไกเป็นเอกภาพ แต่ต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สุดท้าย จัดสรรให้พอเพียงและตรงตามแผนมาจากชุมชน มีการใช้วิชาการภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้สากล เพื่อพัฒนาและประเมินผล
“งบประมาณทุกบาทที่ใส่ลงไปต้องถามว่าชาวบ้านได้อะไร ถ้าตอบไม่ได้ไม่ต้องทำ ที่สำคัญ ชาวบ้านต้องเอาจริง ขยัน และซื่อสัตย์” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ทิ้งท้าย .