อดีตไออาร์เอ: เมื่อผู้ถูกตราหน้าว่าก่อการร้าย เป็นผู้สร้างกระบวนการทางการเมือง
การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อดับไฟใต้กำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อ นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ชัดเจนเมื่อวันอังคารที่ 26 ส.ค.57 ว่า ได้ส่ง "คณะทำงาน" ไปประสานกับทางการมาเลเซียแล้ว ตามข่าวที่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เสนอไปก่อนหน้านั้น
ในช่วงเข้าไต้เข้าไฟ สถาบันพระปกเกล้าจัดงานได้เหมาะเจาะทั้งจังหวะและเวลา คือ "เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ไอร์แลนด์เหนือ" ซึ่งดินแดนไอร์แลนด์เหนือเคยมีข้อพิพาทขัดแย้งรุนแรงระหว่างอังกฤษกับชาวไอริชที่ต่อสู้ปลดปล่อยดินแดนของตนในนาม "ขบวนการไออาร์เอ" หรือ "กองทัพกู้ชาติไอริช"
หลายเรื่องน่านำมาบันทึกไว้เป็นอุทาหรณ์ โดยเฉพาะคำกล่าวของ ไมเคิล คัลเบิร์ท อดีตสมาชิกไออาร์เอ ซึ่งเคยถูกทหารอังกฤษจับกุม และถูกจำคุกฐานฆ่าตำรวจนานถึง 16 ปี ทว่าวันนี้เขาหันมาใช้กระบวนการสันติวิธีในการแก้ปัญหา
ไมเคิล เริ่มต้นด้วยการให้ข้อคิดไปยังผู้มีอำนาจว่า "ผู้คนจะไม่จับอาวุธขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของตนเองหรอก ถ้าไม่มีเหตุผลที่เพียงพอจริงๆ" ทั้งยังแสดงทัศนะที่แหลมคมสวนทางกับมุมมองของหลายฝ่ายในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ว่าการต่อสู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง
"ผมทำกิจกรรมทางการเมืองมาตลอด และการใช้อาวุธคือหนึ่งในวิธีการของเรา"
กระทั่งถูกจับเข้าคุก เขาจึงตระหนักว่าวิธีการที่เคยใช้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ แต่นั่นคือการเปลี่ยนแค่ยุทธวิธี เพราะเขาไม่เคยเปลี่ยนใจ ไม่เคยเปลี่ยนเป้าหมายทางการเมือง
"ผมไม่ใช่คนที่้ด้อยค่าลงในสายตาของผมเอง แต่ผมเตรียมพร้อมยอมรับความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง เพราะเราสามารถเปลี่ยนวิธีการของเราได้ แนวคิดของผมแตกต่างกับเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมเคยคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาด้วยวิธีอื่นได้ ต้องใช้อาวุธเท่านั้น แต่วันหนึ่งผมตระหนักว่าการสู้รบด้วยกำลังไม่ได้พาเราไปสู่จุดจบที่ถาวร"
มีคำถามว่าเขาเปลี่ยนผ่านความโกรธแค้นสู่สันติได้อย่างไร ไมเคิล ตอบว่า "ผมไม่ได้โกรธแค้นอะไร ผมมีอุดมการณ์ของผม และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ผมไม่ต้องการเห็นในอนาคต คือ เห็นลูกหลานในสถานการณ์ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นธรรม"
ไมเคิล บอกว่า ช่วงที่ตัดสินใจต่อสู้ อังกฤษไม่ได้หยิบยื่นข้อเสนอที่เปลี่ยนแปลงอดีตอันเลวร้ายได้ดังที่คาดหวัง ผู้มีอำนาจมักคิดว่าจับคนเข้าคุกได้มาก จะสามารถล้มล้างอุดมกาารณ์ทางการเมืองได้ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด และไม่เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง
"เพราะถ้าผมต้องการเงินผมคงไม่ทำแบบนั้น ผมถูกจับอายุ 28 ปี คุกไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์และความคิดได้"
ทว่าจุดเปลี่ยนของวิธีการเกิดจากในคุกนั่นเอง เพราะมีการจัดให้มีการพูดคุยทางการเมืองเป็นระยะ และพวกเขาพบว่าตลอดมาถูกใช้เป็นเพียงอาวุธทำร้ายชุมชนของตัวเอง ฉะนั้นพวกเขาจึงหยุดการใช้อาวุธ แต่ไม่ได้หยุดอุดมการณ์
"เราส่งสารเหล่านี้ออกไป พร้อมความเชื่อที่ว่าไดอะล็อกหรือการพูดคุยมีความสำคัญมาก เพื่อจะได้ฟังว่าอีกฝ่ายคิดอะไร และเหตุผลอะไรที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ"
ในความเห็นของไมเคิล ภาษาและการสื่อสารก็มีความสำคัญ
"ผมถูกเรียกว่าผู้ก่อการร้าย แต่พวกเราเรียกตัวเองว่าผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพ ผมคิดว่าระบบที่อังกฤษทำกับไอร์แลนด์เป็นความผิดพลาด จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา คือ การระบุสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ แต่ต้องพยายามค้นหา"
"เมื่อเกิดกระบวนการพูดคุย ฝ่ายที่มาพูดคุยกับเราจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องคุยกับผู้ก่อกาารร้าย ผมอยากบอกว่า เนลสัน แมนเดลลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ตอนที่สู้กับรัฐบาลแอฟริกาใต้ เขาก็เป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาของรัฐบาล อดีตผู้นำของอิสราเอล และอีกหลายๆ ประเทศก็เช่นกัน แต่สุดท้ายผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก็กลายมาเป็นผู้นำทางการเมือง เป็นผู้ตัดสินใจสร้างกระบวนการทางการเมือง"
สำหรับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไมเคิล กล่าวจากประสบการณ์ของตนเองว่า รู้สึกเป็นเรื่องแปลกที่กลุ่มต่อสู้ไม่ได้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนสื่อสารความคิดหรืออุดมการณ์ของกลุ่มตน
"ผมไม่เคยได้ยินว่ามีองค์กรตัวแทนออกมาบอกว่าสาเหตุของการก่อเหตุรุนแรงนั้นคืออะไร เขาอาจจะกลัว หรือจริงๆ อาจจะมีองค์กรตัวแทนแล้วก็ได้ แต่ในความเห็นของผม ถ้าคนไม่ยอมสื่อสารในสภาวะที่พูดคุยกันได้ การแก้ปัญหาคงไปไม่ถึงไหน"
ไมเคิล บอกว่า จุดเปลี่ยนของสถานการณ์คือต้องมีการสร้างความมั่นคงว่าจะทำให้เกิดการพูดคุย
"อังกฤษพยายามทำ ผมต่อต้านอังกฤษก็จริง แต่ตอนนั้น (ก่อนลงนามในข้อตกลงสันติภาพ หรือ Good Friday เมื่อปี ค.ศ.1998) พวกเขาทำ คุยตรงแบบลับๆ กับบางกลุ่ม เพื่อค้นหาปัญหาที่แท้จริง และมีความพยายามจัดสานเสวนาโดยคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาช่วยเป็นตัวกลาง เช่น สหรัฐเข้ามาช่วยมากในกระบวนการสันติภาพ"
"แม้ขณะนี้ยังไม่สำเร็จในส่วนหนึ่ง เพราะคนที่อยากให้อังกฤษปกครองต่อไปก็ไม่ยอมรับ คนที่ต่อต้านอังกฤษก็ยังมี บางคนก็กลัวผลที่จะออกมา เรายังเกิดสถานการณ์อย่างนี้กันอยู่ แต่การมีคนนอกเข้ามาโดยไม่ได้สั่ง บังคับ หรือยัดเยียดทางออก ย่อมเป็นสิ่งดี" อดีตสมาชิกขบวนการไออาร์เอ กล่าว
ดูเหมือนหลายประโยค หลายเรื่องราวเป็นเรื่องควรค่าแก่การทำความเข้าใจ หากต้องการดับไฟที่ปลายด้ามขวานของเรา!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ไมเคิล คัลเบิร์ท ขณะบรรยายที่สถาบันพระปกเกล้า
อ่านประกอบ :
1 บทเรียนไอร์แลนด์เหนือ...จากมิคสัญญีสู่สันติภาพ
2 ห้องเรียนปรองดอง...จากแอฟริกาใต้ ไอร์แลนด์เหนือ ถึงประเทศไทย