สภาท้องถิ่น"ลากตั้ง"ปัญหาอื้อ ขรก.นั่งควบหลายที่-รับเงิน2ทาง!
สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย หรือ ส.ท.ท. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมปัญหา หลังจากมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 85-86/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว เพราะการดำเนินการตามประกาศดังกล่าวเริ่มเกิดปัญหาขึ้นแล้วในหลายๆ พื้นที่
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 85-86/2557 มีสาระสำคัญให้งดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ที่หมดวาระ หรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น แล้วเปลี่ยนให้ใช้วิธีการ "สรรหา" แทน
แหล่งข่าวจาก ส.ท.ท. เปิดเผยว่า ข้อกำหนดในประกาศ คสช.ฉบับที่ 85 คือ การเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระหลังจาก คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง โดยไม่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ให้ใช้วิธีการสรรหาแทนเป็นการชั่วคราว และให้จำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้จากการสรรหานั้น ต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการระดับชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป
ขณะที่คณะกรรมการสรรหาในแต่ละจังหวัดก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีข้าราชการหรือตัวแทนองค์กรอิสระในจังหวัดนั้นๆ ร่วมเป็นกรรมการ
ล่าสุดทาง ส.ท.ท.ได้รับข้อมูลร้องเรียนจากหลายเทศบาลว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้จากการสรรหา โดยมากมักเป็นข้าราชการ จนเกิดภาวะข้าราชการยึดสภาท้องถิ่น ทั้งยังถูกตั้งคำถามเรื่องรับเงินเดือน 2 ทาง (ตำแหน่งราชการเดิม กับตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้ง) ขณะที่หลายคนที่ได้รับการสรรหาเข้าไปทำหน้าที่ ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เทศบาลนั้่นตั้งอยู่ ทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์
"เรื่องการรับเงินเดือน 2 ทางเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะ คสช.ได้ออกข้อกำหนดในประกาศว่ามิให้นำประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์มาบังคับใช้"
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เทศบาลที่ส่งข้อมูลเข้ามา ก็เช่น เทศบาลตำบลแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร จ.กระบี่ และ จ.สมุทรปราการ หลังจากนี้คาดว่าจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทยอยหมดวาระ ซึ่งตามขั้นตอนก็ต้องสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นเข้าไปทำหน้าที่แทน ทำให้ทางสมาคมสันติบาตเทศบาลฯ ต้องตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมปัญหา และเสนอปัญหาให้ คสช.ทราบต่อไป
ส.ท.ท.จัดสัมนาใหญ่ 27 ส.ค.
อนึ่ง สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดย นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลยางตลาด ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตฯ ได้เตรียมจัดประชุมเชิงวิชาการ ปาฐกถาพิเศษ และเสวนาเรื่อง "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลกับการปฏิรูปประเทศไทย" ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ที่ห้องประชุม เลอ คองคอร์ด บอลล์รูม โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ
โดยในการประชุมและเสวนาดังกล่าว นอกจากจะเป็นการระดมความเห็นเรื่่องการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่ง คสช.กำหนดกรอบการปฏิรูปไว้ 11 ด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือ "การปกครองท้องถิ่น" แล้ว ยังจะมีการรับฟังปัญหาอันสืบเนื่องจากประกาศ คสช.ฉบับที่ 85-86/2557 ดังกล่าวด้วย
ขรก.1คนนั่งหลายท้องถิ่น-ตั้งข้ามอำเภอ
ด้านความเห็นของนักวิชาการที่ติดตามศึกษาเรื่องการปกครองท้องถิ่น นายสติธร ธนานิธิโชติ จากสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การจะปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช้โมเดลที่เป็นอยู่ ที่ให้งดการเลือกตั้ง แล้วมาสรรหาแทน
ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจ คสช.ที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่แนวทางนี้ไม่ควรใช้นาน เนื่องจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นควรใช้รูปแบบเดิม แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น หากจะเป็นรูปแบบสรรหา มองว่าไม่เหมาะสม ใช้ได้แค่ชั่วคราว อีกทั้งเงื่อนไขที่ทาง คสช.กำหนดค่อนข้างสูงและจำกัดคุณสมบัติว่าในหลายๆ ตำแหน่งต้องเป็นข้าราชการระดับสูงในพื้นที่
"เท่าที่ได้รับข้อมูลมา พบว่ามีบางท่านได้รับการสรรหาคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหลายแห่ง บางท่านก็เป็นแบบข้ามอำเภอ แม้ว่าจะอยู่ในจังหวัดเดียวกัน จึงทำให้คนที่ได้รับการคัดเลือกทำงานได้ไม่เต็มที่ และไม่รู้ปัญหาในพื้นที่จริงๆ หรือจะกำหนดให้สรรหาคนในพื้นที่ แต่เมื่อคุณสมบัติสูงเกินไป ทำให้คนในพื้นที่ไม่มีคุณสมบัติ เช่น อบต.เล็กๆ คงไม่มีข้าราชการระดับ 8 แต่เห็นว่าขณะนี้ได้ลดคุณสมบัติเป็นข้าราชการระดับ 7 ก็น่าจะผ่อนคลายไปได้บ้าง"
แนะปฏิรูปกลไกคุมทุจริตท้องถิ่น
สำหรับข้อเสนอเรื่องปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นนั้น นายสติธร กล่าวว่า การปฏิรูปควรออกแบบในเรื่องกลไกการควบคุมการทุจริตให้มีมากขึ้น และคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องเข้มงวดกว่าที่ผ่านมา แต่ไม่ควรเปลี่ยนวิธีจากการเลือกตั้งเป็นการสรรหา ไม่เช่นนั้นจะมีความวุ่นวายอย่างแน่นอน
แนวคิด คสช.ผิดพลาดปมสรรหาท้องถิ่น
นายตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเรื่องการปกครองท้องถิ่นมาตลอด กล่าวว่า ประกาศ คสช. 2 ฉบับนี้เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดของ คสช.
"แนวคิดที่มองการเลือกตั้งในช่วงสถานการณ์เช่นนี้จะก่อให้เกิดความแตกแยกนั้น ก็ถือว่ามีเหตุผล และการใช้กระบวนการสรรหาแทนก็ทำได้ แต่กระบวนการสรรหาต้องได้ตัวแทนจากประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนจริงๆ มาเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น อีกทั้งคุณสมบัติสมาชิกสภาท้องถิ่นจะต้องไม่ใช่ข้าราชการ ต้องเสนอให้มาจากภาคประชาสังคมของในหมู่บ้านและชุมชน ถ้าในช่วงเวลาอย่างนี้พอจะรับได้ แต่ไม่ใช่ระยะยาว"
นายตระกูล กล่าวต่อว่า สำหรับในระยะยาว หากจะใช้ระบบการสรรหาในการปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจะใช้รูปแบบผสม กล่าวคือ ระบบสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง กับระบบสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการสรรหา และก็เช่นเดียวกัน ในโหมดการสรรหาต้องให้เป็นการสรรหาเอาตัวแทนของกลุ่มคน กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มชาวนา หรือกลุ่มภาคประชาสังคมในท้องถิ่นนั้นจริงๆ เข้าไปประกบกับตัวสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง
เช่น สมาชิกสภาเทศบาลตำบล มีสมาชิก 12 คน แบ่งเขตเลือกตั้ง 12 เขต เขตละ 6 คน ตามกฎหมายที่มีอยู่ ก็แบ่งเป็นว่าในเขตนั้นมาจากการเลือกตั้ง 3 คน และการสรรหา 3 คนที่มาจากชุมชนนั้น สมาชิกส่วนบริหารตำบล หมู่บ้านละ 2 คน ก็ให้เลือกตั้งหมู่บ้านละ 1 คน และมาจากการสรรหา 1 คน ขององค์กรประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้น ก็จะตัดปัญหาการซื้อเสียงต่างๆ ได้ แต่ทั้งนี้ต้องตัดระบบข้าราชการออกทั้งหมด
ย้ำต้องแยกข้าราชการออกจากท้องถิ่น
"การบริหารท้องถิ่นโดยใช้วิธีการสรรหา แล้วให้ข้าราชการเป็นผู้บริหารส่วนท้องถิ่นนั้น ผมมองว่าไม่ควรมี และถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงมาก แนวความคิดการใช้การสรรหาเบื้องต้น คือสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แล้วค่อยให้ประชาชนเลือกตั้ง ถ้าจะทำได้ต้องวางระบบไว้โดยให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับการสรรหา แต่ว่าจะสรรหาเพื่อให้ได้คนของตัวเองทั้งหมด ผมไม่เห็นด้วย จะทำให้ระบบการกระจายอำนาจนั้นสูญเสียอย่างมาก" อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุ
นายตระกูล กล่าวด้วยว่า ปัญหาตรงนี้ยังพูดตอนนี้ไม่ได้ เพราะกรอบแนวความคิดของรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมา เป็นกรอบแนวคิดที่ระบบราชการต้องการมีอำนาจและอิทธิพล รวมทั้งต้องการแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาการซื้อเสียง การคอร์รัปชัน โดยคิดว่าราชการมาจัดการแล้วจะแก้ปัญหานี้ไปได้ โจทย์สำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ คือ อำนาจจะต้องอยู่ในมือของประชาชน แล้วให้ประชาชนได้ตัดสินใจเอง
"ในอดีตที่ผ่านมา การแต่งตั้งข้าราชการมาเป็นผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ปรากฏว่าได้คนที่ไม่รู้เรื่องท้องถิ่นนั้นๆ เลย และปัจจุบันกระบวนการสรรหาของ คสช. ก็ได้ข้าราชการมาเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็จะไม่รู้ปัญหาของคนในพื้นที่ แล้วคุณจะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นได้อย่างไร" เขาตั้งคำถาม
ดึงประชาชนมีส่วนร่วมแก้ทุจริต
เมื่อถามว่า คนที่ทำงานให้ คสช. มองว่านักการเมืองท้องถิ่นโกงกินกันมาก จะแก้อย่างไร นายตระกูล กล่าวว่า เรื่องโกง คอร์รัปชัน ราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ท้องถิ่น และนักการเมือง ก็มีการโกงกันทั้งนั้น แล้วจะบอกว่าท้องถิ่นโกง แล้วมาแก้เฉพาะท้องถิ่นคงไม่ได้ แต่ควรต้องหาระบบป้องกันปัญหา เพราะถ้าหากประชาชนมีส่วนร่วมด้วยแล้วก็โกงไม่ได้หรอก
"ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นข้ออ้างของข้าราชการและนักการเมืองมากกว่า" นายตระกูล ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น