นักผังเมืองชี้ ผังประเทศ 2600 พัฒนาไม่ยั่งยืน - คนใต้ขอกำหนดอนาคตตัวเอง
คนใต้ 14 จว. รวมพลประกาศไม่เอาแผนพัฒนาที่รัฐยัดเยียดให้ “หมอนิรันดร์” แนะออกกฎหมายลูกรองรับสิทธิชุมชน-ลดต้นตอความเหลื่อมล้ำ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเตือนภาคใต้จะซ้ำรอยมาบตาพุด นักผังเมืองแฉผังไทย 2600 ขัดแย้งกันเอง ให้เป็นประเทศเกษตรยั่งยืน แต่เน้นแผนอุตส.-ปิโตรเคมี-นิวเคลียร์
วันที่ 21 ส.ค. 54 ที่วนอุทยานเขาพาง (วัดภูพางพัฒนาราม) อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เครือข่ายประชาชนภาคใต้ จัดเวทีสาธารณะ “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41: ฅนใต้ กำหนดอนาคตตนเอง” โดย นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การรวมตัวครั้งนี้ไม่ใช่การคัดค้านหรือประท้วงที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าคนใต้ไม่เอาแผนพัฒนาที่รัฐยัดเยียดให้ เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
“รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน การพัฒนาจึงจะเกิดประโยชน์ เจตนารมณ์เพชรเกษม 41 รัฐบาลใหม่ต้อกระจายอำนาจให้ชุมชนมีอำนาจตัดสินอนาคตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเศรษฐกิจ”
นายแพทย์นิรันดร์ เสนอว่า 1. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมภาคประชาชน 2.ต้องมีกฎหมายลูกมาออกมารองรับรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เกิดการปฏิบัติจริง เช่น กฎหมายอุทยานแห่งชาติฯ กฎหมายแร่ ที่ผ่านมายังไม่ได้พูดเรื่องสิทธิชุมชน จึงทำให้เกิดปัญหาระหว่างรัฐกับภาคประชาชน ต้องเพิ่มมาตราสิทธิชุมชนเข้าไป
นอกจากนี้ยังมีการเสวนา “สิทธิพลเมืองต่อการกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน” โดย ดร. อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดแผนพัฒนาภาคใต้ คือกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เพราะอ่าวไทยมีแก๊สธรรมชาติมากติดอันดับโลก และรัฐบาลกำลังผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาพลังงานของโลกอีก ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการต่างๆ หลั่งไหลมายังภาคใต้เพราะอุตสาหกรรมต้องการติดชายทะเลเพื่อการขนส่ง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่อาจขยายตัวได้อีกแล้วจึงเริ่มขยับลงมาในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประมงชายฝั่ง ซึ่งในอดีตบริเวณ จ.ชลบุรี ระยอง ก็มีความอุดมสมบูรณ์และมีประมงชายฝั่งเช่นเดียวกัน แต่สูญสลายไปเพราะมีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามา
“การพัฒนาภาคใต้ในระยะนี้ คล้ายกับการเริ่มสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในอดีต คือมีการเตรียมความพร้อมด้านพลังงาน สาธารณูปโภคเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่กำลังจะตามมา โดยท่าเรือน้ำลึก คือประตูบานแรกที่เปิดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะจะทำให้เกิดการขนส่งอื่นตามมา”
นักวิชาการสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่าการสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ จะสร้างปัญหาตามมา ได้แก่ ชุมชนล่มสลาย การท่องเที่ยวล้มละลาย แต่จะใช้ระยะเวลาหลายปีในการสะสมปัญหา กรณีมาบตาพุดใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังมีการเจ็บป่วย แต่หาหน่วยงานรับผิดชอบไม่ได้ เมื่อต้องการเรียกร้องค่าเสียหายต้องเข้าสู่กระบวนการศาลยืดเยื้อยาวนาน ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย กว่าจะได้รับการชดเชย
ด้านน.ส.ภารณี สวัสดิรักษ์ จากเครือข่ายการวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่ามติคณะรัฐมนตรีปี 2545 กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำผังประเทศไทย (2600) ผังภาค และผังเมืองรวมจังหวัด ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีใช้งบ 148.423 ล้านบาท เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการยั่งยืน สร้างความสมดุลของการพัฒนาเมืองและชนบท การอนุรักษ์กับการพัฒนา เพิ่มขีดการแข่งขันในเวทีโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
น.ส.ภารณี กล่าวว่า ผังประเทศไทย 2600 ระบุว่าไทยจะเป็นประเทศชั้นนำทางการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีอาหาร บริการสุขภาพและการท่องเที่ยว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งแวดล้อมดี ชาติมั่นคง และพัฒนายั่งยืน แต่มีการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย โดยระบุว่า มีการรองรับแผนปิโตรเคมี และเป็นศูนย์กลางพลังงานในอนาคต มีการเตรียมพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและท่อก๊าเพื่อรองรับอุตสาหกรรม ตลอดจนเตรียมความพร้อมรองรับนิวเคลียร์ ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลข้างต้นที่ระบุว่าจะเป็นประเทศชั้นนำทางเกษตร และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นักวิชาการผังเมือง ยังระบุว่า จากที่กล่าวมา หากดำเนินการตามผังดังกล่าว จ.สตูลที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนจะมีท่าเรือ จ.นครศรีธรรมราชจะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมพลังงาน จ.ชุมพร เป็นพื้นที่สีเขียวแต่มีแผนกลั่นน้ำมันปริโตเลียม โรงถลุงเหล็ก และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ .
...............................................................
(ล้อมกรอบ)
แถลงการ์ฉบับที่ 1 โดยเครือข่ายประชาชนภาคใต้
ปฏิบัติการเพชรเกษม 41: เตือนด้วยไมตรีจิต ไม่เอาแผนพัฒนาทำลายชีวิตคนใต้
ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน เครือข่ายชุมชนภาคใต้ได้ลุกขึ้นมาปกป้องท้องถิ่นตนเอง จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในอนาคต และการถมทะเล ภายใต้การวางแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริษัทข้ามชาติ และนักการเมือง ซึ่งทำให้คนกลุ่มน้อยเท่านั้นได้ประโยชน์ ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนพื้นที่การทำอุตสาหกรรมไปเรื่อยๆ ดั่ง อุตสาหกรรมเลื่อนลอย ไร้ความรับผิดชอบเช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แม้ว่าจะมีการเสนอ คัดค้าน ทักท้วง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่รัฐบาลแต่ละยุค ก็ไม่เคยใส่ใจต่อเสียงทักท้วง
ปัจจุบัน มีรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตเจนว่า จะดำเนินโครงการต่างๆ ในทางภาคใต้ ผ่านการประกาศนโยบาย การหาเสียง ทางเครือข่ายจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน ก่อนการแถลงนโยบายต่างๆ ต่อรัฐสภา ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 จึงเป็นกิจกรรมที่ทักท้วงการทำงานของรัฐบาลใหม่ว่า ไม่ควรดำเนินนโยบายแลนด์บริดพลังงาน ไม่ควรพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก และพลังงานที่เป็นภัยต่อประชาชนในภาคใต้
การที่เราไม่เอาโครงการต่างๆ เรามีคำตอบที่ดีกว่า และเป็นธรรมกว่า โดยไม่ต้องละเมิดสิทธิคนในท้องถิ่น และต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน เราต้องการแค่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่มีนโยบายสีเขียวที่ภาคใต้เท่านั้น .