'ชมรมวิศวฯ จุฬาฯ' จี้รัฐทวงคืนท่อก๊าซ-ใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์
ชมรมวิศวฯ จุฬาฯ เดินเครื่องปฏิรูปพลังงานไทย จี้ปตท.คืนท่อก๊าซบนบก-ในทะเลเเก่รัฐ ตามคำสั่งศาลปค.สูงสุด-สตง. เปลี่ยนเเปลงระบบสัมปทานเป็นเเบ่งปันผลประโยชน์ 'ดร.นพ' รู้สึกรัฐบาลยังไร้ทิศทางจัดการระบบปิโตรเลียม ระบุต้องบริหารคำนึงปชช.-สวล.-กลุ่มทุน
วันที่ 26 สิงหาคม 2557 ชมรมวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) จัดเสวนา ‘การปฏิรูปพลังงานเพื่อประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน’ ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.นพ สัตยาศัย ประธาน วศ.รปปท. กล่าวว่า พลังงานไทยถือเป็นเรื่องใหญ่เปรียบดังเส้นเลือดของชีวิตที่ต้องใช้ทุกวัน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังไม่รู้ทิศทางการขับเคลื่อนพลังงานที่เหมาะสม ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางร่วมกัน โดยทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรผลประโยชน์ในการพัฒนาพลังงาน เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่ตกเป็นของกลุ่มทุน ส่วนภาคสังคมและประชาชนได้เพียงค่าภาคหลวงเล็กน้อยเท่านั้น จึงต้องให้ภาครัฐตัดสินใจบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมและพลังงานทั้งระบบ โดยคำนึงถึงดุลยภาพ 3 ด้าน คือ ประชาชน สิ่งแวดล้อม และนักลงทุน
“เป้าหมายสูงสุดในการปฏิรูประบบพลังงาน คือ รักษาทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสมบัติสูงสุดของชาติ พร้อมจัดสรรและเสริมสร้างแหล่งพลังงานทั้งระบบให้พอเพียงต่อการใช้” ประธาน วศ.รปปท. กล่าว และว่าต้องพัฒนาทรัพยากรให้มีใช้ต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในภาวะสงคราม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นยุทธปัจจัย
ดร.นพ ยังกล่าวถึงราคาน้ำมันสำเร็จรูปว่า ปัจจุบันไทยมีโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง แต่ไทยยังอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์อยู่ จึงเสนอให้หันมาใช้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศแทน เพื่อราคาจะได้ถูกลง แต่หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ให้ปิดโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ไปเลย
ด้านนางสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวถึงข้อค้นพบเกี่ยวกับปิโตรเลียมไทยว่า ปัจจุบันมีการขุดเจาะประมาณ 6,000 หลุม และกว่า 5,000 หลุมอยู่ในทะเล ซึ่งต่อมามีการอ้างว่าการขุดเจาะในอ่าวไทยนั้นทำยากและพบน้อย อย่างไรตาม ในเอกสารทางการของประเทศต่าง ๆ ยืนยันว่าไทยมีโอกาสขุดค้นพบปิโตรเลียมได้สูงถึง 70% และมีความเสี่ยงน้อย
“บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด ระบุว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ช่วยสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมที่มีการลงทุนต่ำ” อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ กล่าว และว่าอนาคตสิ่งที่ต้องคำนึงคือปริมาณสำรอง ถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจมาก
นางสิริพร กล่าวต่อว่า พม่า เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ หันมาใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์หมดแล้ว ยกเว้นบรูไน แต่ไทยยังคงยืนหยัดกอดระบบสัมปทานติดตัวเป็นปาท่องโก๋ ไม่ยอมปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งที่มีการใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียอยู่แล้ว
สำหรับการสัมปทานปิโตรเลียมนั้น อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ระบุว่า วศ.รปปท.เสนอให้แปลงที่ใกล้หมดสัมปทาน (ปี2558-65) คือ ต้องเปลี่ยนเป็นระบบสัมปทานแบบรับจ้างผลิต ส่วนแปลงสัมปทานรอบที่ 21 จำเป็นต้องสำรวจให้รู้ปริมาณก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์หรือสัมปทานแบบรับจ้างผลผลิตก็ได้ ทั้งนี้ ถือเป็นการรักษากรรมสิทธิ์ปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และยุทธปัจจัย
นอกจากนี้ ปตท.ควรปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งหมดให้เรียกเก็บค่าเช่าพื้นที่วางท่อบนบกและส่งมอบคืนท่อในทะเลแก่รัฐด้วย เพราะเเปลงสัมปทานอยู่ในเขตพื้นที่จำเพาะครอบคลุม 200 ไมล์ทะเล ถือเป็นเอกสิทธิของคนไทย
นางสิริพร ยังเรียกร้องให้แก้ไขการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการผูกขาด โดยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘คณะกรรมการป้องกันการผูกขาดแห่งชาติ’ และกำหนดคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับคณะกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบายและเอื้อประโยชน์กลุ่มธุรกิจพลังงาน ตลอดจนถึงกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังต้องเปิดเผยสัญญาสัมปทานทั้งหมด รวมถึงสัญญาใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย .