ทีดีอาร์ไอ ชี้ 3 องค์กรอิสระ เปิดข้อมูลสืบสวนสอบสวน ให้ปชช.รู้น้อยไป
ทีดีอาร์ไอ-สกว.เปิดผลวิจัย "ประเมินองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน" ยันองค์กรอิสระต้องไม่พึ่งพิงงบฯ รัฐ ชี้ ป.ป.ช. สตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขาดอิสระด้านงบประมาณ แนะให้กำหนดวงเงินต่อรายหัวประชากร
26 สิงหาคม 2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดโครงการ "ประเมินองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น" ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 ได้บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นในส่วนราชการ สิ่งที่ทำการวิจัย คือ องค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณ และบุคคลากรสามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นได้มากน้องเพียงใด ทำไมการคอร์รัปชันถึงไม่ลดลง ซึ่งองค์กรที่ทำการวิจัยมีสำนักงาคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
จากผลการวิจัยพบว่า ความเป็นอิสระของหน่วยงามทั้ง 3 แห่งมีลักษณะดังนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยังคงต้องเสนอของบประมาณประจำปีผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบรรจุในเอกสาร สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สามารถจ้างพนักงานและกำหนดอัตราค่าตอบแทนเองได้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่เป็นหน่วยงานสังกัดฝ่ายบริหาร และกรรมการแต่งตั้งและถอดถอนโดยวุฒิสภา
ดร.เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า รูปแบบขององค์กรอิสระในประเทศไทยยังไม่ได้นำมาจากรัฐสภาและมีจุดบางจุดเชื่อมโยงกับฝ่ายบริหาร ซึ่งความจริงแล้วองค์กรอิสระต้องไม่พึ่งพิงงบประมาณจากฝ่ายรัฐ
“ประเทศไทยเอาโมเดลการจัดตั้งองค์กรจากต่างประเทศ แต่ก็ต้องดูลักษณะของการเมืองภายในประเทศด้วย เพราะของไทยกับต่างประเทศไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องเอามาปรับเพื่อให้เกิดความสอดคล้อง”
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า หากสรุปในแง่โครงสร้างการดำเนินงานและความรับผิดชอบ คือ องค์กรอิสระมีอิสระในเชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคล แต่ไม่มีอิสระในด้านงบประมาณ การดำเนินงานไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดงบประมาณและบุคคลากรที่เพียงพอ มีบัญญัติของหน่วยงานราชการที่ไม่ได้รับการตรวจสอบโดยสตง.จำนวนมาก จนเกิดความล่าช้า ส่วนในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนมีค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เสนอว่า ในการคัดเลือกกรรมการสรรหา และกรรมการองค์กรอิสระควรมีความหลากหลาย ส่วนในเรื่องงบประมาณนั้นในกรณีของป.ป.ช.และผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีการกำหนดวงเงินงบประมาณต่อรายหัวประชากร สำหรับสตง.ให้มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงามราชการต้องกันงบประมาณเพื่อให้สตง.ตรวจสอบความคุ้มค่าของโครงการที่มีมูลค่าสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐ รวมทั้งการกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการองค์กรอิสระให้ไม่น้อยกว่ากรรมการของหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบ ออกระเบียบการกำหนดค่าตอบแทนที่จูงใจเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะที่ต้องการ กระจายอำนาจให้สตง.สามารถดำเนินคดีได้เอง และมีอำนาจในการยับยั้งการเบิกจ่ายเงินกรณีที่มีการกระทำส่อทุจริต
"ที่สำคัญจะต้องกำหนดให้องค์กรอิสระเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลของกรณีที่มีการสืบสวน สอบสวน ทั้งในอดีตและปัจจุบันเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายให้แก่สาธารณชนได้รับรู้"