อุ้มบุญหรืออุ้มบาป
“อุ้มบุญ” ทำได้หรือไม่(๑)
ฝ่ายสนับสนุน มองว่า การรับตั้งครรภ์แทนอ้างสิทธิในความเป็นส่วนตัวในอันที่จะกีดกันไม่ให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำของตนเองที่ปราศจากอันตรายต่อผู้อื่น การรับตั้งครรภ์แทนก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ป้องกันการลักพาหรือซื้อขายเด็ก ฝ่ายแรกเป็นว่าปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายห้ามการตั้งครรภ์แทนไว้โดยชัดแจ้ง จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย เว้นแต่เป็นการซื้อขายเด็กตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๑๒
ส่วนฝ่ายที่คัดค้าน กลับเห็นว่า การตั้งครรภ์แทน (Surrogacy) เป็นกิจกรรมที่ฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ แสวงหาประโยชน์จากเนื้อตัวร่างกายโดยมิชอบ ก่อให้เกิดอาชีพรับจ้างตั้งครรภ์ เป็นการกระทำที่ไม่ต่างกับการซื้อขายเด็ก ผิดศีลธรรม และมีผลกระทบต่อเด็กและสังคมโดยรวม หากกรณีเด็กคลอดก่อนกำหนด, เด็กพิการ หรือตั้งครรภ์ไปแล้วเกิดสามีภรรยาที่ต้องการให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนเปลี่ยนใจภายหลังจะทำอย่างไร, เกิดแฝดหลายคน แต่สามีภรรยาที่ให้คนอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องการเพียงคนเดียว แฝดที่เหลือใครจะดูแล ฝ่ายหลังมีความเห็นว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ
การตั้งครรภ์แทนไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องมีความผิดและมีโทษทางอาญา ยกเว้นแต่มีการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจจนเกิดการค้าขายเด็กเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสถานพยาบาล แพทย์ ผู้ซื้อและผู้ขาย ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและตอบปัญหาในส่วนที่ประเทศไทยควรจะมีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แค่ไหนเพียงไร นั้น
สภาทนายความเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายต่อประชาชน ประกอบกับมีข้อเสนอแนะจากต่างประเทศให้ประเทศไทยของกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย ซึ่งสภาทนายความเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของคนในชาติของประเทศต่าง ๆ ที่แอบมาใช้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในประเทศหลายประเทศด้วยกัน และอยากจะคุ้มครองประโยชน์ของคนในชาติของตน ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะพิจารณาให้มีกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ควรต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ฟังแล้วเป็นข้อยุติว่ากฎหมายที่จะยกมานั้นเหมาะสมกับจารีต ความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม และศาสนาของประเทศไทยที่สังคมไทยยอมรับได้ ไม่ใช่ไปมุ่งแต่การที่จะทำให้มีกฎหมายที่เข้ากับมาตรฐานสากล สภาทนายความจึงเห็นควรที่จะทบทวนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงขอเสนอบทความฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่สาธารณชนสืบไป
ข้อเท็จจริง
๑.เปิดโปงธุรกิจ “อุ้มบุญ”(๒)
นายอิลยา สมิร์นอฟฟ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสายเด็ก ๑๓๘๗ ให้ข้อมูลว่า ขบวนการจัดหาแม่อุ้มบุญในประเทศไทยมีมานานกว่า ๑๐ ปี วิธีการหากินของขบวนการนี้ จะติดต่อจากสามีภรรยาที่ต้องการแม่อุ้มบุญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ โดยจะต่อรองราคาค่าใช้จ่าย จากนั้นจะติดต่อหญิงไทยเพื่อให้มาอุ้มบุญ จากนั้นจะติดต่อคลินิกประจำหรือโรงพยาบาล เพื่อผสมเชื้อ หลังคลอด โดยแม่อุ้มบุญจะเซ็นสละสิทธิ์การเป็นแม่ทันที
“ใบเกิด” จะระบุชื่อของพ่ออย่างชัดเจน จากนั้นจะนำไปที่สถานทูตเพื่อทำหนังสือเดินทาง แล้วนำเด็กออกนอกประเทศทันที การอุ้มบุญในไทยทำได้ง่าย เพราะไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน
๒.“แก๊งอุ้มบุญ” แยกส่วนหลอดแก้ว ... หนีกฎหมายค้ามนุษย์(๓)
“แก๊งเอเย่นต์อุ้มบุญ” ซับซ้อนยิ่งนัก เมื่อปี ๒๕๕๔ เกิดคดีอุ้มบุญสร้างความสะเทือนใจในสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะแก๊งค้ามนุษย์ได้กักขังสาวเวียดนาม ๑๕ ชีวิต ไว้เพื่อผลิตเด็กขาย โดยมีชาวไต้หวันเป็นหัวหน้าแก๊ง รับจ้างผลิตเด็กหัวละ ๑.๕ ล้านบาท สุดท้ายกฎหมายเอาผิดได้แค่ปรับเงินและโทษจำคุกเป็นรอลงอาญา
คดีหญิงเวียดนามนั้น มีแก๊งเอเย่นต์เป็นขบวนการใหญ่ทำงานเหมือนแก๊งค้ามนุษย์ข้ามชาติ
“พวกนี้แบ่งกันทำหน้าที่ ๔ ส่วนคือ ๑. หาลูกค้า ๒. หาหมอ ๓. หาโรงพยาบาล และ ๔. หาแม่อุ้มบุญ เทคนิคของพวกนี้จะพยายามใช้ไข่ของบุคคลที่ ๓ เพื่อตัดปัญหาแม่ตั้งท้องผูกพันกับเด็กที่เกิดมา กรณีที่ครอบครัวผู้ว่าจ้างมีไข่สมบูรณ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าต้องการไข่จากผู้หญิงอื่น เอเย่นต์จะแนะนำเลยว่าห้ามใช้ไข่ของผู้หญิงรับอุ้มบุญ แม้ว่ากระบวนการจะง่ายกว่าก็ตาม”
พนักงานสอบสวนข้างต้นเล่าต่อว่า หากจะให้ครบองค์ประกอบค้ามนุษย์ตามกฎหมายไทย ต้องประกอบด้วย ๓ ส่วนหลักคือ ๑. มีการ “จัดหา” “นำพา” “ส่ง” “รับไว้” ๒. มีพฤติกรรมหลอกลวง บังคับ ข่มขู่ และ ๓. มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือ แสวงหาประโยชน์ทางเพศ ปรากฏว่า เอเย่นต์พวกนี้ไม่ได้มีพฤติกรรมอะไรที่เข้าข่ายชัดเจน เพราะส่วนใหญ่แม่อุ้มบุญรู้เห็นเต็มใจ ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีคดีฟ้องร้องกันมากนัก และขั้นตอนการจ่ายเงินก็ทำเป็นงวด ๆ ชัดเจน
ค่าใช้จ่าย “อุ้มบุญ”
อเมริกา ๓.๘ ล้านบาท
ยูเครน ๑.๓ ล้านบาท
ไทย ๑.๒ ล้านบาท
อินเดีย ๑ ล้านบาท
ที่มา : www.sensiblesurrogacy.com
๓.ความหมายของ “เด็กหลอดแก้วหมายถึงขั้นตอนเอาไข่กับอสุจิมาปฏิสนธิกัน ส่วนอุ้มบุญคือการเรียกผู้หญิงที่มาตั้งครรภ์จากไข่กับอสุจิที่เตรียมไว้ การทำจะแยกส่วนหมด สำคัญที่สุดคือห้องผ่าตัดที่จะเอาไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะกลายเป็นตัวอ่อน ย้ายเข้าโพรงมดลูก ขั้นตอนผิดกฎแพทยสภาก็ตรงส่วนนี้เท่านั้น ส่วนขั้นตอนอื่นถูกกฎหมายหมด ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคไข่ อสุจิ ตรวจโครโมโซม รับฝากครรภ์ ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียงไม่ถึง ๔ – ๖ อาทิตย์เท่านั้นก็ได้เงินหลักล้านบาท
ค่าบริการอุ้มบุญนั้น จะมีแบบเหมาจ่ายและจ่ายแยก ส่วนใหญ่เอเย่นต์จะให้เหมาจ่ายมาหัวละ ๑.๕ – ๒ ล้านบาท แต่ตอนทำจริงจะแยกจ่ายให้หน่วยบริการต่าง ๆ ศูนย์รับอุ้มบุญในประเทศไทยแห่งหนึ่ง ประกาศค่าบริการอุ้มบุญแต่ละขั้นตอนผ่านเว็บไซต์ภาษาอังกฤษอย่างชัดเจน เช่น “ไข่ระดับพรีเมียม” ๒.๒ แสนบาท “ไข่รับบริจาคทั่วไป” ๒ แสนบาท
รศ.นพ. กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การจัดการกับปัญหาแก๊งอุ้มบุญในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมักจะโดนมองว่าเป็นเรื่องสมัครใจของทุกฝ่าย แต่น้อยคนนักจะมองไปที่ตัวทารกว่าเมื่อเขาโตขึ้นมาเขาจะรู้สึกอย่างไรที่ถูกซื้อขายเหมือนวัตถุอยากให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงจิตใจของเด็ก
กล่าวว่า “ถ้าแม่อุ้มบุญได้รับค่าจ้างหรือรับเงิน ก็ไม่ต้องเถียงกันเลยว่า ผิดกฎหมายค้ามนุษย์หรือไม่ เรื่องนี้คือการทำสัญญาซื้อขายเด็กในท้องล่วงหน้า”
๔.ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขณะนี้ที่มีการรับจ้างอุ้มบุญนั้นแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มครอบครัวที่ขัดสนยากจน จะรับทำกันเป็นธุรกิจ บางกรณีทั้งหมู่บ้านเป็นรายได้เป็นกอบเป็นกำ กลุ่มที่สองที่ผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่และเล่าให้ฟังเป็นกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่ม “ใจแตก” เพราะกลุ่มหลังนี้จะแย่มากที่สุด ไม่สนใจ “เด็ก” เพราะรู้ว่าไม่ใช่ลูกของตน ผ่าท้องคลอดเสร็จได้รับเงินไปเลย สภาพการจ้างมีท้องและคลอดเด็กอย่างนี้ จึงไม่ต่างกับการทำตัวเป็น “โรงงาน” ผลิตเด็ก จะเรียกว่า “ลูก” คงไม่ใช่เพราะความรู้สึกของความเป็นแม่ไม่มีเลย ต่างกับกลุ่มแรกที่อาจยังพอมีอยู่บ้าง กรณีเช่นนี้จะให้สังคมไทยในเรื่องอุ้มบุญยืนอยู่ตรงไหน ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในข้อเท็จจริง ตามที่กล่าวข้างต้นและที่สรุปไว้ในหัวข้อถัดไป
๕.“อุ้มบุญ”(๔)
รายงานจากชุดสอบสวนเปิดเผยว่า ชายชาวญี่ปุ่นที่มาจ้างอุ้มบุญ คือนายชิเกตะ มิตซูโตกิ อายุ ๒๔ ปี ถือหนังสือเดินทางเลขที่ ทีแซท ๐๘๕๒๑๔๒ เกิดเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ และพบว่าชายชาวญี่ปุ่นรายนี้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้วเมื่อเวลา ๐๑.๐๐ น.
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึกพบว่า ชายชาวญี่ปุ่นรายนี้เดินทางเข้าออกประเทศไทยมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ จนถึงปี ๒๕๕๗ ในระยะเวลาเพียง ๒ ปี จนถึงปี ๒๕๕๗ ในระยะเวลาเพียง ๒ ปี เดินทางเข้าออกถึง ๖๕ ครั้ง
ในการเข้าออกประเทศไทยรวม ๖๕ ครั้ง มีหลายครั้งที่ชายคนนี้อุ้มเด็กเล็กทั้งชายและหญิงออกนอกประเทศหลายครั้ง
๖.นายหน้า “จอย” ติดต่อแม่อุ้มบุญ
แหล่งข่าวจากตำรวจชุดตรวจสอบกรณี “น้องแกมมี่” เปิดเผยว่า ล่าสุดได้พูดคุยกับแม่อุ้มบุญรายนี้ โดยหญิงรายนี้อ้างว่าได้รับการติดต่อจาก “จอย” ซึ่งเป็นเอเย่นต์จัดหาผู้หญิงอุ้มบุญให้ชาวต่างชาติ หลังตกลงกันได้พาไปที่คลินิกแห่งหนึ่งย่านเพลินจิตมีชื่อ SU พบกับนายแพทย์ชื่อย่อ ว. ต่อมาแพทย์รายนี้ได้นัดฝังตัวอ่อนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านพญาไทและส่งไปฝากครรภ์แบบพิเศษกับนายแพทย์ ก. และคลอดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านสามเสน
หลังคลอด “จอย” ได้พาไปติดต่อที่สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เพื่อให้เซ็นเอกสารซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ทราบภายหลังว่าเป็นเอกสารรับรองบุตร โดยได้เซ็นรับรองไปคนเดียวคือเด็กผู้หญิง ทำให้สามารถออกนอกประเทศได้
ระหว่างที่ตั้งครรภ์ก็ได้ตรวจอัลตราซาวนด์ พบว่าเป็นลูกแฝด แต่มีเด็กหนึ่งคนตรวจพบเป็นดาวน์ซินโดรม โดยที่พ่อแม่ชาวออสเตรเลียยืนยันว่าจะไม่เอา
๗.แฉหัวละล้าน อุ้มบุญทำเงินหมอรวยเละ(๕)
พล.ต.ต. ชยุต ธนทวีรัชต์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยหลังการประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีเด็กอุ้มบุญไทย-ญี่ปุ่น ๑๔ คน ว่าการสืบสวนได้ความคืบหน้าและความชัดเจนมาก ทำให้เชื่อได้ว่ากรณีนี้มีการกระทำลักษณะเป็นขบวนการ และมีการเตรียมการเป็นระบบ แต่เนื่องจากไทยยังไม่มีกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการทำอุ้มบุญโดยตรง รวมถึงการทำอุ้มบุญก็ไม่เข้าข่ายความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งทางตำรวจจะพิจารณาใช้กฎหมายในข้ออื่นที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการเพื่อหยุดยั้งขบวนการนี้ ส่วนการสอบปากคำมารดาผู้รับอุ้มบุญของเด็กทั้ง ๑๔ คน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งรัดติดตามตัวมารดาอุ้มบุญทั้ง ๑๐ คนมาสอบปากคำให้ครบถ้วน
๘.แฉสัญญาโหด “อุ้มบุญ” “เด็กพิการ” แม่อุ้มท้องจ่ายค่าปรับ ๒ เท่า(๖)
ตำรวจชุดตรวจสอบพบว่า ในการนำเด็กทั้ง ๔ คนออกจากประเทศไทย นายชิเกตะ ได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสนามบินสุวรรณภูมิ ซักถามกรณีที่นำเด็กสัญชาติไทยออกนอกประเทศ ทั้งที่นายชิเกตะ มีสัญชาติญี่ปุ่น ปรากฏว่าชายชาวญี่ปุ่นรายนี้ได้นำสำเนาคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่มีเนื้อหาโดยสรุปให้ชายชาวญี่ปุ่นรายนี้เป็นผู้ปกครองเด็กสัญชาติไทยมาแสดง จึงทำให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องปล่อยตัวไป
น.ส. แพท รับจ้างอุ้มบุญจริง เพื่อนำเงินค่าจ้างไปใช้หนี้แทนพ่อและแม่ ซึ่งไปกู้หนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒๐ ต่อวัน จากนายทุนเงินกู้ในกรุงเทพมหานคร
ก่อนที่เรื่องอุ้มบุญจะถูกเปิดเผยทราบจากหลานสาวว่ามีผู้ว่าจ้างให้อุ้มบุญรอบที่ ๒ ซึ่งมีการเจรจาในเบื้องต้นกันแล้ว แต่พอเกิดเรื่องขึ้นผู้ว่าจ้างก็เงียบหายไป และทราบจากหลานสาวว่าจะสามารถอุ้มบุญได้เพียง ๒ ครั้ง โดยทุกครั้งจะต้องผ่าเด็กออก นายจ้างจะไม่อนุญาตให้คลอดเองตามธรรมชาติ
๙.อุทาหรณ์...กรณีการอุ้มบุญ(๗)
กรณีอุ้มบุญว่าจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่...ค้าไม่ค้าผมไม่รู้ แต่มันคือการเช่าครรภ์ เด็กที่เกิดมาเป็นความผูกพันธ์ เหมือนสายเลือดของตัวเอง เหมือนการพรากลุกไปจากอก แม้จะเป็นเชื้อไขของผู้ว่าจ้าง....นี่ไม่ใช่เป็นการเลี้ยงเด็ก แต่มันเป็นการจ้างให้เกิดเด็ก แต่แล้วก็ยังโชคดีที่มีผู้บริจาค คงจะเป็นผู้บริจาคจากใน และต่างประเทศ เป็นเงิน ๓.๕ ล้านบาท
๑๐.แฉ! “อุ้มบุญเถื่อน” ชีวิตที่ถูกซื้อ - ขายได้ด้วยเงินทอง(๘)
“การอุ้มบุญอาจจะเป็นที่เข้าใจไปว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายดูแลเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ทำให้มีผู้เอาตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ทางการค้า คือมีการลงเว็บไซต์ต่างๆ เต็มไปหมดที่อ้างว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายและสามารถดำเนินการได้ตามที่อยากจะทำ” ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ คนเดิมเผย
แม้ว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยจะมีกฎหมายโดยมีการระบุไว้ในประกาศแพทยสภาถึง ๒ ฉบับด้วยกันซึ่งครอบคลุมปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่กลับถูกทำให้ชาวต่างชาติและคนไทยบางส่วนเข้าใจว่าไม่มีกฎหมายห้ามไว้
“ถ้าแพทย์ไม่มีส่วนมันก็ไปไม่ได้ ยังไงมันก็ไม่ครบวงจร เช่น เขาจะได้ไข่มาจากไหน ได้มาแล้วจะเอาไปใส่ให้ใคร มันก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกันระดับหนึ่ง แต่พวกเราไปตีความกันว่า แพทยสภาไม่มีอำนาจไปใช้กับคนอื่น ฉะนั้นใครจะไปตั้งร้านขายไข่ ขายเด็ก ขายตัวอ่อนก็ไม่ผิด หรือที่นักกฎหมายบอกว่า ถ้าเขาขายเด็กแต่เขาไม่บังคับก็ไม่ผิด เพราะเขียนว่า การค้ามนุษย์ต้องมีการบังคับ ถ้าไม่บังคับเขาได้รับเงินเป็นที่พอใจมันก็ไม่ผิด มันก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน มันใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ในประเด็นของพ.ร.บ.การค้ามนุษย์”
๑๑.เปิดใจแม่อุ้มบุญ เตือนสาวไทยคิดอุ้มบุญควรตระหนักถึงผลกระทบเกิดขึ้นในอนาคต(๙)
กรณีที่อดีตสาวรับจ้างตั้งท้อง ออกมาแฉ “ธุรกิจอุ้มบุญ” โดยใช้น้ำเชื้อจากชายชาวออสเตรเลีย ผสมกับไข่ของสาวจีนเป็นตัวอ่อนมาฝังในมดลูกของเธอ และพบว่า เธอตั้งท้องเป็นแฝดชายหญิง แต่ต่อมาพบว่า ทารกชายเป็นดาวน์ซินโดรม หมอแนะนำให้ทำแท้งโดยไม่บอกเหตุผล เธอจึงเลือกเอาเด็กไว้จนคลอด สุดท้ายผู้ว่าจ้างเอาเด็กหญิงไป แล้วทิ้งเด็กชายที่ป่วยไว้ให้เลี้ยง
๑๒.ทั่วโลกบริจาคช่วย “น้องแกรมมี่” เด็กอุ้มบุญโดนพ่อแม่ตัวจริงทิ้ง เหตุเป็นดาวน์ซินโดรม(๑๐)
วันนี้ มีรายงานจากเว็บไซต์ของเอบีซีเพิ่มเติม ว่า หลังจากข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไป ก็มีผู้ใจบุญร่วมกันบริจาคเงินเข้ามามากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ ๓.๕ ล้านบาทแล้ว
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ ๑๘.๔๐ น. น้องแกรมมี่ เข้ารับการรักษาที่ ร.พ.สมิติเวช ศรีราชา ด้วยอาการไอหายใจแรง โดย พ.ญ.มาลินี เปี่ยมวัตถาภรณ์ กุมารแพทย์ ศูนย์สุขภาพเด็ก ร.พ.สมิติเวช ศรีราชา และรอดูอาการ
๑๓.อาการ “น้องแกรมมี่” เด็กอุ้มบุญดีขึ้น เตรียมประสานญาติตรวจวิเคราะห์อาการข้างเคียง(๑๑)
วันนี้ (๔ ส.ค.) นายวิจิตร พนายิ่งไพศาล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี นางภัทรมล จันทร์บัว แม่อุ้มบุญของน้องแกรมมี่ ร่วมกันแถลงอาการล่าสุดของน้องแกรมมี่ โดยนายวิจิตร กล่าวว่า เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคมที่ผ่านมา น้องแกรมมี่ ซึ่งเป็นเด็กดาวน์ซินโดรม และมีอาการป่วย ได้เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เนื่องจากมีอาการไอ หายใจไม่สะดวก แพทย์เจ้าของไข้ได้รักษาจนขณะนี้อาการของน้องดีขึ้นมาก
สำหรับเรื่องของค่าใช้จ่าย ขณะนี้ยังไม่ได้คิด เพราะอยู่ระหว่างการประสานงานกับมูลนิธิ แฮนด์ อะครอส เดอะ วอเตอร์ ซึ่งได้ประสานงานกับทางมูลนิธิ ประทีป อึ้งทรงธรรม จะออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ความเห็นของแพทย์
๑.แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเล่าต่อว่า หากการนำตัวอ่อนใส่เข้าไปประสบความสำเร็จทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้แล้ว พวกเอเย่นต์จะเลือกโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยมีคนสงสัย แล้วให้แม่ไปฝากครรภ์ เมื่อถึงเวลาต้องตรวจอัลตราซาวนด์ก็จะไปโรงพยาบาลอื่น
จุดที่สำคัญที่สุดคือ สถานที่อำนวยความสะดวกให้หมอนำตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก เพราะจุดนี้คือจุดตัดสินว่าผิดกฎหมาย
น.ต.นพ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่าจากการตรวจคลินิก แพทย์ที่ดำเนินการมีความผิดฐานกระทำผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยเรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ โดยทำการอุ้มบุญให้แก่หญิงที่ไม่ใช่ญาติโดยตรงของคู่สมรสและมีการจ่ายค่าตอบแทน
๒.จ่อลากตัวหมอ รพ.ใหญ่ใกล้ กทม.ทำอุ้มบุญ “น้องแกรมมี่” อึ้ง! เอเยนซีเพียบ มูลค่าอุ้มบุญปีละ ๔ พันล.(๑๒)
นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีหญิงรับจ้างตั้งท้องออกมาแฉธุรกิจอุ้มบุญ หลังรับจ้างตั้งท้องจนได้แฝดชายหญิง แต่สุดท้ายผู้ว่าจ้างนำเฉพาะทารกเพศหญิงไป ยังไม่ทราบว่าสถานพยาบาลใดเป็นผู้ให้บริการอุ้มบุญ อย่างไรก็ตาม การรับจ้างอุ้มบุญถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งนี้ แพทยสภากำลังดำเนินการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกรมการกงสุลกรณีที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญเพิ่มเติม รวมถึงกรณีนี้ด้วยว่า มีแพทย์รายใดหรือสถานพยาบาลแห่งใดอีกบ้างที่ให้บริการอุ้มบุญ นอกเหนือจากแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีอยู่จำนวน ๔๕ ราย
๓.สธ.เร่งสอบแพทย์ทำอุ้มบุญน้องแกมมี่(๑๓)
ทพ.อาคม กล่าวอีกว่า และส่วนของแพทย์ผู้ดำเนินการ จะพิจารณาว่าได้รับอนุญาตจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะถูกดำเนินคดี มีโทษจำคุก ๑ ปี ปรับไม่เกิน ๒ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.๒๕๔๑ ในข้อหาให้บริการผิดประเภท นอกจากนี้ จะส่งเรื่องให้แพทยสภาพิจารณาด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพด้วย ซึ่งมีโทษหนักสุดถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม
๔.สื่อแห่ทำข่าวเด็กอุ้มบุญรพ.ต้องงดเยี่ยม สธ.สอบรพ.-หมอมีใบอนุญาตหรือไม่( )
พญ. วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจ้างผู้อื่นท้องแทน หรืออุ้มบุญ ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่ระบุเกณฑ์ไว้ว่า ห้ามมีการซื้อ-ขาย ไข่ น้ำเชื้อ ตัวอ่อน ซึ่งในกรณีแม่อุ้มบุญที่ จ.ชลบุรี ที่ตกเป็นข่าวนั้น เราจะต้องตรวจสอบเอาผิดสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับหญิงสาวที่อุ้มบุญที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เปิดหลักการพ.ร.บ.'อุ้มบุญ'ตั้งครรภ์แทนโดยชอบด้วยกม.(๑๕)
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยเจ้าของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้มีความคืบหน้าไปมาก เนื่องจากทาง พม.ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ ครม.ได้อนุมัติหลักการ แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ขั้นตอนต่อไปคือเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มีหลักการสำคัญดังนี้
๑.สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตรโดยให้หญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นสามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย
๒.หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นญาติกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องมิใช่ผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสนั้น
๓.หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามี จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีของหญิงที่มารับตั้งครรภ์แทนนั้นด้วย แต่ในกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ ให้ผู้ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนเสนอเรื่องขออนุญาตต่อ "คณะกรรมการควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์" หากคณะกรรมการฯพิจารณาเห็นสมควร จะอนุญาตเป็นการเฉพาะรายก็ได้ คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
๔.ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการเป็นคนกลาง นายหน้า โดยเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในลักษณะที่เป็นการค้าหรือหากำไรเพื่อตอบแทนในการจัดการ หรือชี้ช่องให้มีการรับตั้งครรภ์แทน และห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกระทำการด้วยวิธีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อให้หญิงใดตั้งครรภ์ โดยรู้หรือมีเหตุควรรู้ว่าหญิงนั้นรับตั้งครรภ์แทนผู้อื่นเพื่อความประสงค์แห่งการค้า
๕.ในกรณีเด็กที่เกิดโดยการผสมเทียมหรือโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ซึ่งใช้เซลล์สืบพันธุ์จากผู้บริจาคเพื่อการปฏิสนธิ ให้หญิงที่เป็นผู้ตั้งครรภ์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น และให้สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงผู้ตั้งครรภ์ซึ่งได้ให้ความยินยอมให้มีการตั้งครรภ์นั้น เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น ชายหรือหญิงที่เป็นเจ้าของเซลล์สืบพันธุ์ที่นำมาใช้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ ไม่มีสิทธิใดๆ ในตัวเด็ก
๖.ในกรณีเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะใช้เซลล์สืบพันธุ์ของสามีภรรยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือบุคคลอื่นก็ตาม ให้สามีภรรยาซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น แต่ต้องให้โอกาสเด็กได้รับน้ำนมจากหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามเดือน
ในกรณีที่เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยมิชอบ หรือตกอยู่ในสภาวะยากลำบากตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ให้ผู้รับตั้งครรภ์แทนมีอำนาจฟ้องหรือร้องขอเกี่ยวกับอำนาจปกครองเด็กที่เกิดจากการรับตั้งครรภ์แทนได้ โดยให้ศาลคำนึกถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กนั้นเป็นสำคัญ
ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทในการเกี่ยงกันซึ่งหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ระหว่างสามีภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนกับหญิงที่เป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ให้ทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กร่วมกัน ทั้งนี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมร่วมอุปการะเลี้ยงดู ให้อีกฝ่ายหนึ่งร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ฝ่ายที่ปฏิเสธไม่ยอมร่วมกันอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ร่วมอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้
เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ถือว่าเป็นกฎหมายที่ท้าทายความคิดของปัจเจกบุคคลในเรื่อง สิทธิในร่างกาย สิทธิส่วนบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีเหตุผลรองรับ
ฝ่ายสนับสนุนการรับตั้งครรภ์แทน อ้างสิทธิในความเป็นส่วนตัวในอันที่จะกีดกันไม่ให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำของตนเองที่ปราศจากอันตรายต่อผู้อื่น การรับตั้งครรภ์แทนก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตรและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ป้องกันการลักพาหรือซื้อขายเด็ก
ฝ่ายที่คัดค้าน เห็นว่าการตั้งครรภ์แทนเป็นกิจกรรมที่ฝ่าฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากเนื้อตัวร่างกายโดยมิชอบ ก่อให้เกิดอาชีพรับจ้างตั้งครรภ์ เป็นการกระทำที่ไม่ต่างกับการซื้อขายเด็ก ผิดศีลธรรม และมีผลกระทบต่อเด็กและสังคมโดยรวม หากกรณีเด็กคลอดก่อนกำหนด, เด็กพิการ หรือตั้งครรภ์ไปแล้วเกิดสามีภรรยาที่ต้องการให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนเปลี่ยนใจภายหลังจะทำอย่างไร, เกิดแฝดหลายคน แต่สามีภรรยาที่ให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนต้องการเพียงคนเดียว แฝดที่เหลือใครจะดูแล ฯลฯ
ความเห็นผู้ได้ประโยชน์จากการรับจ้างอุ้มบุญของสาวไทย
๑.นายกฯ ออสเตรเลีย แสดงความเสียใจ สาวไทยเหยื่ออุ้มบุญ(๑๖)
นายกฯ ออสเตรเลีย แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ทางสำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า นายโทนี่ แอบบอต นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “นี่คือเรื่องเหลือเชื่อที่น่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาดและปัญหาในธุรกิจอุ้มบุญ”
๒.รมว.ออสเตรเลียยกแม่อุ้มบุญชาวไทยเป็น“นักบุญ” และ“ฮีโร่ตัวจริง”(๑๗)
สกอตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย กล่าวกับสถานีวิทยุซิดนีย์ เรดิโอ ๒จีบีเมื่อวันจันทร์ (๔) ว่า ภัทรมนเป็น “วีรสตรีตัวจริง” และ "นักบุญ" และเสริมว่า กฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญมีความคลุมเครืออย่างมาก
มอร์ริสันยังบอกอีกว่า กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดเพื่อดูว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ยังไม่อยากให้ความหวังใดๆ เนื่องจากนี่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลของไทย
หลังจากนั้นไม่นาน สำนักงานกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลียออกคำแถลงระบุว่า แกมมี่อาจได้รับมอบสัญชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลฟรีในออสเตรเลีย ทว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ รวมทั้งต้องเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สตีเฟน เพจ หนึ่งในนักกฎหมายชั้นนำด้านการอุ้มบุญของออสเตรเลียแสดงความเห็นว่า ภายใต้กฎหมายไทย ภัทรมนถือเป็นมารดาตามกฎหมายของแกมมี่ ดังนั้น การจะส่งคืนทารกน้อยให้พ่อแม่ทางพันธุกรรมจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากภัทรมนก่อน
๓.นายกฯออสเตรเลีย แสดงความเสียใจกรณี “สาวไทยอุ้มบุญ“(๑๘)
พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจ้างผู้อื่นท้องแทน หรืออุ้มบุญ ในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่ระบุเกณฑ์ไว้ว่าห้ามมีการซื้อ-ขาย ไข่ น้ำเชื้อ ตัวอ่อน ซึ่งในกรณีแม่อุ้มบุญที่ จ. ชลบุรี ที่ตกเป็นข่าวนั้น เราจะต้องตรวจสอบเอาผิดสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับหญิงสาวที่อุ้มบุญ ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ส่วนกรณีพบสถานพยาบาล ๑๒ แห่ง เข้าข่ายกระทำความผิดทั้งอุ้มบุญ ซื้อ-ขายไข่ น้ำเชื้อ ตัวอ่อน นั้น ความจริงอาจมีมากกว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับการอุ้มบุญ ซื้อ-ขายไข่ น้ำเชื้อ และตัวอ่อน ทางแพทยสภาได้เชิญสถานพยาบาลทั้งที่จดทะเบียนถูกต้อง และไม่ได้จดทะเบียน มาตักเตือนทำความเข้าใจแล้ว หากยังพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนลงโทษ ถึงขั้นปิดสถานพยาบาลและถอนใบประกอบวิชาชีพต่อไป
๔.ออสซี่สงสาร‘อุ้มบุญ’ แห่บริจาคช่วย ๓.๘ ล้าน(๑๙)
เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒ ส.ค. นายทิม ชอว์ ประธานมูลนิธิ แฮนด์ อะครอส เดอะ วอเตอร์ ประจำประเทศไทย ได้ประสานงานผ่านผู้สื่อข่าวไทยรัฐ เพื่อขอรายละเอียด พร้อมกับเดินทางมาเยี่ยมหนูน้อยที่เกิดจากการอุ้มบุญรายนี้ ที่โรงพยาบาลสมเด็จบรมราชเทวี ณ ศรีราชา
ซึ่งนายทิมเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ทราบข่าวนี้ผ่านการนำเสนอข่าวของไทยรัฐ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี และออนไลน์ ก่อนจะถูกนำเสนอต่อโดยหนังสือพิมพ์ของออสเตรเลีย จนทำให้ชาวออสเตรเลีย เมื่อทราบข่าวนี้ ก็รู้สึกเห็นใจ จนนำไปสู่การระดมเงินบริจาคเพื่อให้การช่วยเหลือ รวมทั้งยังได้ออกมาต่อต้านการกระทำแบบนี้ เพราะถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในออสเตรเลีย
๕.รมว.ออสซียกแม่อุ้มบุญชาวไทย “ภัทรมน” เป็น “นักบุญ-ฮีโร่ตัวจริง”(๒๐)
การเอาจริงของทางการไทยส่งผลให้คลินิกอุ้มบุญนับสิบแห่งยุติหรือเปลี่ยนการโฆษณาอุ้มบุญในเว็บไซต์ รวมทั้งบริการผสมเทียมในหลอดแก้ว (ไอวีเอฟ) ที่สามารถเลือกเพศทารกได้ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ชาวออสเตรเลีย
การปราบปรามของรัฐบาลไทยส่งผลให้สามี-ภรรยาออสเตรเลียราว ๒๐๐ คู่ที่ทำข้อตกลงอุ้มบุญในไทย เผชิญความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของทารกที่ว่าจ้างหญิงไทยอุ้มท้องให้
ความเห็นนักกฎหมาย
๑.อุ้มบุญ(๒๑)
ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมุมมองในข้อกฎหมายกรณีอุ้มบุญว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับปัญหาการอุ้มบุญ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถือว่าเป็นการค้ามนุษย์อย่างหนึ่ง โดยแสวงหาผลประโยชน์จากการทำธุรกิจการค้า ดังนั้นจึงควรต้องใช้กฎหมายด้านปราบปรามการค้ามนุษย์เข้าดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเหล่านี้
๒.บ้านเรายังไม่มีกฎหมายใดรองรับเรื่องการอุ้มบุญ ผู้ที่อุ้มบุญจึงไม่มีความผิด โดยกฎหมายแพ่งจะถือว่าเด็กที่คลอดออกมาจะเป็นลูกของแม่อุ้มบุญโดยปริยาย แต่ถ้าต้องการยกให้เป็นลูกบุญธรรมของคนอื่นก็สามารถทำได้ เพราะในความเป็นจริงบางคนไม่สามารถมีลูกได้ ก็จะใช้วิธีการผสมเทียม หรือเด็กหลอดแก้ว และยกให้เป็นลูกบุญธรรม แต่ถ้ากรณีผู้ที่อุ้มบุญไม่รู้ว่าไข่หรือเชื้อพ่อและแม่ตัวจริงเป็นใคร ก็จะเกิดปัญหาเรื่องพันธุกรรม เพราะอาจมีการถ่ายทอดโรคได้ เช่น โรคดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย และจะเกิดปัญหาสังคมตามมา พล.ต.อ. จรัมพร กล่าว
การวิเคราะห์ข้อเท็จจริง
กรณีการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จำเป็นต้องมีกฎหมายแยกเป็นกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเฉพาะทางอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ในนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ดี ก็เป็นกรณีที่ได้ยกร่างไว้ตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ดีนั้น จะมีความเหมาะสมแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วนั้น สภาทนายความจึงจัดลำดับข้อเท็จจริงในเบื้องต้นไว้เพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้
การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั้น ไม่มีกฎหมายห้ามไว้โดยตรงก็จริงอยู่ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ตามหลักกฎหมายทั่วไปประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก็มีการบังคับใช้อย่างชัดเจนในประการแรก
ต่อคำถามว่าการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในรูปแบบของการอุ้มบุญที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของประกาศแพทยสภา ฉบับที่ ๑/๒๕๔๐ ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒๑/๒๕๔๕ (ฉบับที่ ๒) ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ดำเนินการโดยแพทย์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และโดยเฉพาะเป็นการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว กล่าวคือ
ก.ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลล์สืบพันธุ์ในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อขาย
ข.ไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการรับจ้างตั้งครรภ์
ค.หญิงที่ตั้งครรภ์แทน จะต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และ
ง.การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนย้ายเข้าสู่โพรงมดลูก ให้กระทำได้เฉพาะการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคตามความจำเป็นและสมควร จะต้องไม่เป้นการกระทำในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการเลือกเพศ
ซึ่งทั้งสี่ประการนี้เป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่แพทยสภาถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่าหากจะมีการอุ้มบุญจริงต้องอยู่ใน ๔ กรณีนี้เท่านั้น โดยเฉพาะต้องไม่มีการจ่ายค่าตอบแทน และผู้รับอุ้มบุญต้องเป็นญาติโดยสายเลือด และจะต้องมีการปฏิบัติโดยการทำหนังสือแสดงความยินยอมเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการย้ายเข้าสู่โพรงมดลูกที่เป็นเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับที่ ๒๑/๒๕๔๕ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าก่อนกรณีที่จะไปถึงศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อขอให้ศาลพิจารณารับรองข้อเท็จจริงและการให้สัญชาติแก่เด็กที่เกิดจากพ่อและแม่ในกรณีอุ้มบุญนั้น หากมีการกระทำการในลักษณะที่เป็นการค้าก็จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา ๓๑๒ ของประมวลกฎหมายอาญา เป็นกรณีที่เป็นการกระทำเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย จำหน่าย รับหรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท (๒๒)
ความเห็นทางกฎหมาย
ปัญหาในทางกฎหมายที่เห็นกันว่าไม่มีกฎหมายที่ปรับกับการอุ้มบุญตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้นได้ นั้น น่าจะเป็นการแปลความของนักกฎหมายที่ต้องการให้มีความชัดเจน แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของข้อกฎหมายนั้นเป็นหน้าที่ของศาลยุติธรรม การนำเสนอข้อเท็จจริงของการอุ้มบุญที่มีลักษณะของการตกลงเป็นสัญญาว่าจ้างที่ผิดกฎหมายโดยชัดเจน เพราะมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับหญิงที่อุ้มบุญ ทำให้เป็นค่าตกลงที่จะสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายทาส คำว่า “ทาส” นั้น ตามความหมายในพจนานุกรมมีความหมายได้หลายอย่าง เช่น เป็นทาสการพนัน เป็นทาสยาเสพติด หรือเป็นทาสเงิน ตามข้อเท็จจริงที่ว่ามีหญิงไทยไปตกลงทำสัญญารับจ้างตั้งครรภ์โดยไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาขัดต่อประกาศของแพทยสภาตามที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นลักษณะของการตกเป็นทาสเงินเพื่อจะทำการผลิตลูกให้กับชาวต่างชาติ ดังนั้นที่ว่าความเห็นท่างกฎหมายการรับจ้างตั้งครรภ์ในรูปแบบนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่เป็นการแปลความให้มีลักษณะที่จำกัด เพราะในด้านของกรณีที่เอาคนลงเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาสนั้น เป็นความหมายที่กว้างในประเทศสหรัฐอเมริกาศาลสูงของสหรัฐอเมริกาเองก็เคยวินิจฉัยว่าการทำสัญญากับเกษตรกรตั้งแต่เริ่มซื้อพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ การเลี้ยงดูสัตว์ การซื้ออาหาร ซื้อยา รวมทั้งการวัดน้ำหนักและชั่งขนาดขายสัตว์ให้กับผู้ที่ว่าจ้าง กรณีดังกล่าวนั้นเป็นการทำให้เกษตรกรต้องตกเป็นทาสน้ำเงินของบริษัทผู้ว่าจ้างอย่างชนิดไม่สามารถจะมีอิสระในการบริหารจัดการได้เลย ต้องเป็นผู้รับจ้างบริษัทนายจ้างโดยตลอดถึงจะได้เงินและต้องเป็นตามกติกาอย่างเข้มงวดดังกล่าวถึงจะได้เงินค่าจ้าง กรณีเช่นนี้ถือว่าตกเป็นทาสน้ำเงิน เป็นสัญญาที่เอาคนลงเป็นทาส ซึ่งไม่ต่างกับกรณีการรับจ้างตั้งครรภ์แทนในรูปของการอุ้มบุญในประเทศไทย จึงเป็นที่น่ากังวลอย่างมากสำหรับความเห็นที่จะมีการพัฒนาแนวทางการออกกฎหมายเพื่อรับรองและปฏิเสธการอุ้มบุญคือการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในขณะที่ตามข้อเท็จจริงก็ควรจะมีการเสนอให้ทางศาลพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องต่อไป และเพื่อให้ศาลได้วางบรรทัดฐานในเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนอันจะเป็นประดยชน์แก่การบังคับใช้กฎหมายให้ที่ถูกต้องหนักกว่าการที่จะพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อเข้าใจประเทศหนึ่งประเทศใด ให้สังคมไทยมีความอิสระและมีความสามารถในการใช้กฎหมายของตนเองที่มีอยู่แล้วให้เป็นมรรคเป็นผล
นอกจากนั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องหลังจากที่มีการผลิตเด็กเสร็จแล้ว โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทนายความก็ต้องพึงระวังอย่างยิ่งว่าการยื่นคำร้องแทนบิดาซึ่งเป็นชาวต่างชาติโดยอ้างว่าหญิงไทยและชายชาวต่างชาตินั้นได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และชายชาวต่างประเทศได้ไปแสดงเจตนาต่อฝ่ายปกครองโดยได้ยื่นคำร้องว่าได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเชื่อและออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาวต่างชาติ และจากหนังสือรับรองฉบับนี้ก็มาว่าจ้างทนายความให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามข้อเท็จจริงที่ว่านั้น ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการข้อนำเด็กออกนอกประเทศโดยมี passport ของประเทศไทยหรือของประเทศผู้เป็นบิดาแล้วแต่กรณี ซึ่งหน่วยงานที่จะออก passport ให้ก็จะต้องดูผลของคำพิพากษาของศาลเป็นหลัก กรณีดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดเจนว่าภารกิจของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความที่ต้องทำความโปร่งใสและโดยเฉพาะไม่นำความเป็นเท็จเสนอต่อศาล ต้องมีการตรวจสอบหลักฐานอย่างค่อนข้างละเอียด กรณีที่จะยื่นคำร้องโดยอาศัยแต่เฉพาะเอกสารที่รับรองมาจากฝ่ายปกครองคือนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตแล้วแต่กรณีนั้น ย่อมอาจจะเกิดข้อบกพร่องได้ และโดยเฉพาะถ้าทนายความเป็นผู้นำสืบเพื่อไปยื่นคำให้การต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในกรณีเพื่อจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น ก็ยิ่งต้องเป็นการจ่ายเงินค่าตอบแทน มีการอุ้มบุญหรือตั้บครรภ์พยานหลักฐานที่ทำไว้แต่ต้นก็เป็นเท็จ การที่นำพยานนั้นไปแสดงต่อศาลก็จะเข้าองค์ประกอบที่สำคัญว่าพยานหลักฐานเท็จที่นำเสนอต่อการพิจารณาของศาลนั้นเป็นข้อสำคัญที่มีผลต่อคดี นอกจากตัวพยานคือผู้ที่เบิกความต่อศาลที่เบิกความเท็จแล้วนั้น และเมื่อเป็นข้อความสำคัญในคดีก็มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความหากทราบมาแต่ต้นว่าพยานหลักฐานเป็นเท็จแล้วและยังนำสืบหรือแสดงหลักฐานต่อศาลอีกก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๑๘๐ ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้นต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นประเด็นสำคัญของสังคมไทยที่จะยอมรับการ “อุ้มบุญ” หรืออาจจะเรียกอีกกรณีหนึ่งคือการ “อุ้มบาป” ก็อาจจะพูดได้ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งใหญ่ที่พูดกล่าวถึงกันในสื่อสารมวลชนว่า “มดลูกโลก” หรือไม่นั้น ก็อยู่ในวิจารณญาณของผู้บังคับใช้กฎหมาย และทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสาระสำคัญของประโยชน์สุขของประชาชนอันเป็นกฎหมายมหาชนกฎหมายที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเข้มงวดหากมีการหย่อนยานตามที่กล่าวอ้างดังกล่าวก็คงจะไม่พ้นตราบาปให้กับประเทศไทยทั้งประเทศ
สถาบันวิจัยและพัฒนากฎหมาย
สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์
๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๑) จากหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๒) จากหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๓) จากหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๔) จากหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๕) จากหนังสือพิมพ์ “ไทยโพสต์” ฉบับประจำวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๖) จากหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๗) http://www.oknation.net/blog/pajondotcom/๒๐๑๔/๐๘/๐๔/entry-๑
วันจันทร์ ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๘) http://manager.co.th/around/viewnews.aspx?newsid=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๘๕๗๖
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๒๒:๒๖ น.
(๙) http://manager.co.th/around/viewnews.aspx?newsid=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๗๙๒๘
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๑๒
(๑๐) http://manager.co.th/around/viewnews.aspx?newsid=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๗๘๒๔
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๒๓:๕๗ น.
(๑๑) http://manager.co.th/around/viewnews.aspx?newsid=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๘๒๐๗
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๑๑:๓๑ น.
(๑๒) http://www.manager.co.th/qol/viewnews.aspx?NewsID=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๘๓๓๖
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๑๔:๒๓ น.
(๑๓) http://breakingnews.nationtv.tv/home/read.php?newsid=๗๓๐๓๘๒
วันที่โพสข่าว : ๔ สค. ๒๕๕๗ เวลา ๑๓:๕๐ น.
(๑๔) http://www.komchadluek.net/detail/๒๐๑๔๐๘๐๔/๑๘๙๔๙๔.html
วันจันทร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๑๕) http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/๒๐๑๔๐๘๐๕/๕๙๗๑๓๒/เปิดหลักการพ.ร.บ.อุ้มบุญตั้งครรภ์แทนโดยชอบด้วยกม..html
วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๑๕.๐๐ น.
(๑๖) http://www.talkystory.com/?p=๙๙๑๔๖
Aug ๔th, ๒๐๑๔ เวลา ๑๒:๓๐ น.
(๑๗) http://www.manager.co.th/home/viewnews.aspx?newsid=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๘๕๖๖
(๑๘) http://news.sanook.com/
๔ ส.ค. ๕๗ ๐๙.๓๓ น.
(๑๙) http://m.thairath.co.th/content/๔๔๐๗๔๕
๓ ส.ค. ๒๕๕๗ ๐๕:๒๕
(๒๐) http://manager.co.th/around/viewnews.aspx?newsid=๙๕๗๐๐๐๐๐๘๘๕๖๕
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ๒๑:๔๓ น
(๒๑) จากหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก” ฉบับประจำวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗
(๒๒) ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๑๒ ผู้ใดเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีฐานะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย จำหน่าย รับหรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
มาตรา ๓๑๒ ทวิ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๑๐ ทวิ หรือมาตรา ๓๑๒ เป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก หรือมาตรา ๓๑๐ ทวิ หรือมาตรา ๓๑๒ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ
(๑) รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
(๒) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี
(๓) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี