เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ แถลงการณ์ค้าน “เขื่อนแก่งเสือเต้น-แผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ”
จากกระแสข่าวการรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น-เดินหน้าแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ เครือข่ายลุ่มน้ำเหนือออกโรงต้าน เรียกร้องล้มโครงการเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ-ส่งเสริมแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตั้งกองทุนเยียวยาชาวบ้านทุกข์จากโครงการรัฐ ยุติ “พ.ร.บ.น้ำ” ที่รวมศูนย์อำนาจรัฐ หนุนภูมิปัญญาท้องถิ่นจัดการน้ำเหมาะกับแต่ละภูมินิเวศน์
วันที่ 20 ส.ค.54 เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล “ทบทวนแผนพัฒนา 25 ลุ่มน้ำ และหยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น” โดยระบุถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ 67 ที่ชุมชนมีสิทธิอนุรักษ์ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น มีส่วนร่วมจัดการและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อการดำรงอยู่ได้อย่างปกติ ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือคุณภาพชีวิต ทั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และต้นน้ำสาขาแม่น้ำโขง-สาละวิน มีความหลากหลายของทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า มีผืนดินที่เหมาะสำหรับการเกษตร มีพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง จึงพบเห็นความหลากหลายของสัตว์น้ำ และความสมบูรณ์ของผืนป่า
แถลงการณ์ระบุว่า การจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือของไทย ตามยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำ รวมทั้งนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นองค์กรบริหารจัดการ เน้นการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ โดยระบุว่าจะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อการอุปโภคและบริโภคและการเพาะปลูกได้ตลอดปีในหลายล้านไร่ ครัวเรือนเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นความเป็นอยู่ดีขึ้น และประเทศจะสามารถแข่งขันในการเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก
แต่ผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นในหลายประเด็น ได้แก่ หนี้สาธารณะซึ่งต้องกู้เงินต่างประเทศมาลงทุน โครงการเหล่านี้ยังกระทบระบบนิเวศท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างกว้างขวางกระทบต่อวิถีชุมชน และสิทธิการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายน้ำของท้องถิ่น กระทบปริมาณน้ำต้นทุนของแม่น้ำระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกัน นอกจากการสร้างเขื่อนแล้ว การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำภายในและระหว่างประเทศ ซึ่งในภาคเหนือจะมีการจัดทำโครงการ เช่น โครงการกก-อิง-น่าน โครงการผันน้ำแม่น้ำเมย-สาละวิน สู่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก นอกจากนี้ยังได้มีโครงการจัดทำระบบชลประทานแบบท่อเครือข่ายส่งน้ำทั่วประเทศ (National Water Grid System) เป็นต้น
เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1.ทบทวนแผนการจัดการ 25 ลุ่มน้ำ หันมาผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นทางออกการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน สนับสนุนการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน 2.ยุติการผลักดัน พ.ร.บ.น้ำ ที่จะเป็นการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำไว้ที่รัฐ เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิชุมชนในการจัดการน้ำด้วยภูมินิเวศน์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับท้องถิ่น 3.กระจายอำนาจ งบประมาณ และมีกฏหมายรองรับให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนจัดการน้ำ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 4.จัดตั้งกองทุนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และผลกระทบจากภัยเขื่อนแตก รวมทั้งภัยที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐภัย
5.ยกเลิกโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม่น้ำยม เขื่อนยมบน จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนแม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี 6.ส่งเสริมการจัดการน้ำโดยชุมชน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ อาทิ ระบบเหมืองฝาย ระบบการเกษตรที่สอดคล้องกับน้ำต้นทุนทางธรรมชาติ ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ 7.ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กของกรมการปกครอง รวมทั้งแผนพัฒนาลุ่มน้ำของกรมทรัพยากรน้ำเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งแก้ปัญหาขาดน้ำได้โดยใช้งบประมาณเพียงหมู่บ้านละ 3 ล้านบาท
8.ส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนฟื้นฟูสภาพป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างเร่งด่วน เพื่อดูดซับเก็บน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก ยุติส่งเสริมการเกษตรที่บุกรุกทำลายป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ สนับสนุนให้ชุมชนมีสิทธิดูแลรักษาป่าชุมชน 9.รัฐต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา เช่น เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ 10.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ใดๆที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ที่เป็นธรรม
11.ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำสาละวิน หยุดผลักดันโครงการผันน้ำ กก อิง น่าน โครงการโขง ชี มูน 12.รัฐต้องร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำชาวบ้าน กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันโดยตระหนักถึงระบบนิเวศน์และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น 13.ทบทวนนโยบายพัฒนาลุ่มน้ำที่เน้นการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ 14.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ .