วิศวะจุฬาฯ จี้รฟท.เร่งซ่อมใหญ่แอร์พอร์ตลิงค์ ช้ามีความเสี่ยง
วิศวะ จุฬาฯ จี้รฟท.ซ่อมแอร์พอร์ตลิงค์ด่วน เหตุถึงรอบต้องเข้าสู่บริการตรวจเช็คทั้งระบบ ยันวิ่งเกินที่กำหนดอาจส่งผลเรื่องความเชื่อมั่น แนะอย่าบริหารงานบนความไม่แน่นอน พร้อมเสนอตั้งองค์กำกับดูแลมาตรฐานโครงการรถไฟฟ้า
วันที่ 25 สิงหาคม 2557 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเรื่อง “แอร์พอร์ตลิงค์ไม่ปลอดภัยจริงหรือ? ปัญหาระบบงานซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศไทย” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.บุญชัย แสงเพชรงาม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพความเสียหายของทางรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์บนสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ ถือเป็นการให้ข้อมูลเพียงบางส่วน และไม่สามารถที่จะนำภาพที่เห็นมาตัดสินว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย เพราะภาพที่เห็นไม่ได้บอกปริมาณความเสียหาย ไม่ได้บอกตำแหน่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้บอกเวลาภาพที่ถ่ายมา ที่สำคัญคือขาดการระบุความถี่หรืออัตราในการเกิดขึ้นว่า เกิดความเสียหายบ่อยแค่ไหน
"โดยปกติทางรถไฟก็เหมือนกับผิวของถนนเมื่อมีการใช้งานก็ต้องมีการสึกหรอและเสียหาย ดังนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนประกอบของทางรถไฟ เช่น ราง อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวจึงเป็นเรื่องปกติที่ยิ่งใช้มากก็มีอัตราการเกิดความเสียหากมาก"ผศ.ดร.บุญชัย กล่าว และว่า แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การตรวจให้พบความเสียหาย วัดปริมาณ ประเมินความเสียหาย และดำเนินการบำรุงรักษาให้เหมาะสม
สำหรับรูปภาพที่ถ่ายออกมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์นั้น อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า ไม่ได้บอกปริมาณความเสียหาย เช่น สปริงว่ามีกี่จุด หากเกิดขึ้นเพียง 1 -2 จุด ก็ไม่ใช่เรื่องอันตราย คือตำแหน่งที่เกิดขึ้นต้องมีหลายจุดมากถึงจะส่งผลให้เกิดรถไฟตกราง อยู่ๆ ไม่ใช่ว่า เสียบางจุดเล็กแล้วรถไฟจะตกรางหรือเกิดอุบัติเหตุ
ผศ.ดร.บุญชัย กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบระบบรถไฟนั้นมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ แบบซ่อมบำรุงเบา และซ่อมบำรุงหนัก ซึ่งงานซ่อมบำรุงเบาเป็นงานที่จะมีการตรวจสอบแก้ไขอยู่เป็นระยะๆ ทั้งในรูปแบบของรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน หากไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำก็ไม่สามารถนำรถไฟฟ้าออกไปให้บริการได้ ซึ่งแอร์พอร์ตลิงค์ก็ทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และแอร์พอร์ตลิงค์เองก็ยืนยันว่า หากไม่ผ่านการตรวจสอบฝ่ายเดินรถก็จะไม่นำรถออกมาวิ่งให้บริการ
"ส่วนในการซ่อมบำรุงหนักซึ่งปกติรถไฟฟ้ามีรอบเวลาที่จะต้องมีการตรวจสอบสภาพทั้งระบบในช่วงระยะการให้บริการ 1.2 ล้านกิโลเมตร หรือ1.32 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อเท็จจริงจนถึงปัจจุบันหรือเดือนสิงหาคม 2557 แอร์พอร์ตลิงค์ให้บริการมาแล้วประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร และถึงรอบต้องเข้าสู่บริการตรวจเช็คทั้งระบบ แต่จากปัญหาเรื่องความคล่องตัวในการบริหารจัดการ"ผศ.ดร.บุญชัย กล่าว และว่า ดังนั้นประเทศไทยควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการกำกับดูแลมาตรฐานโครงการรถไฟฟ้า ทั้งในเรื่องการออกแบ ก่อสร้าง ตลอดจนการให้บริการ เพื่อลดข้อจำกัดอันเกิดจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน ออกแบบระบบ และการตรวจเพื่อประเมินการซ่อมบำรุงก็ไม่ควรตรวจสอบภายในกันเอง
ด้านผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องการจะบอกวันนี้คือ แม้ปัจจุบันรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จะได้รับการตรวจสภาพอยู่เป็นระยะจึงบอกได้ว่า มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะต้องมีการซ่อมบำรุงหนัก หากไม่เริ่มต้นให้เร็วก็จะมีความเสี่ยงภายใต้ความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นเราอาจจำเป็นที่จะต้องให้รฟท.เร่งเรื่องของสัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้นเ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่ได้ทันที ทั้งนี้ยืนยันว่า ภาพที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ไม่ปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนกตกใจกับภาพที่เกิดขึ้น
ขณะที่ดร.นักสิทธิ์ นุ่มวงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสงสัยว่าหากเกิดการซ่อมบำรุงหลังเดินรถให้บริการมากกว่า1.32 ล้านกิโลเมตร จะเกิดอะไรขึ้นว่า ความน่าเชื่อถือจะลดลงเพราะจะส่งผลต่อระบบการเดินรถ ตารางเดินรถอาจจะมีความล่าช้า เนื่องจากต้องมีการปรับลดความเร็ว ส่งผลในเรื่องของความไม่แน่นอนเรื่องเวลา และจะเป็นการบริหารจัดการรถในความไม่แน่นอน เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าชิ้นส่วนใดจะเกิดปัญหา
“งอยากเสนอให้บริษัทรถไฟฟ้า รฟท.จำกัด มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ เพื่อความคล่องตัวในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อการซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า ควรมีผู้บริหารที่เข้าใจปรัชญาและธรรมชาติการดำเนินธุรกิจการให้บริการรถไฟฟ้า และควรมีวิธีจูงใจให้บุคลากรทางเทคนิคที่มีความสามารถในการทำงานสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ มาร่วมงาม”