ชาวบางชันจี้ 'กรมประมง' หยุดไล่รื้อ 'โพงพาง' กระทบความมั่นคงอาชีพ
ถกทางออกประมงพื้นบ้านชุมชนบางชัน จ.จันทบุรี ชาวบ้านจี้ 'กรมประมง' หยุดไล่รื้อ 'โพงพาง' กระทบความมั่นคงอาชีพ ประมงจว.ชงวิธีเเก้ดึงท้องถิ่นมีส่วนร่วม ผลักดันกม.ฉบับใหม่
เร็ว ๆ นี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรบริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง รุ่นที่ 5 (บสส.5) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา ‘บางชันโมเดล:คืนความสุขให้หมู่บ้านไร้แผ่นดิน’ ณ หมู่บ้านปากน้ำเวฬุ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี
ดร.ภีม ธงสันติ ประธาน บสส.5 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสัมมนาเพื่อมุ่งแลกเปลี่ยนความเห็นและหาทางออกร่วมกันให้กับคนไทยที่ไร้เอกสารสิทธิครอบครองที่ดินและไร้สิทธิในการประกอบอาชีพกว่า 600 หมู่บ้านตลอดแนวชายฝั่งทะเลกว่า 2,000 กิโลเมตรทั่วประเทศ โดยยกเอาปัญหาของชุมชนบางชันมาเป็นกรณีศึกษา
นายชัยชาญ พูนผล นายอำเภอขลุง จ.จันทบุรี กล่าวว่า ปัญหาชาวบ้านไร้เอกสารสิทธิครอบครองที่ดินและการประกอบอาชีพมีการกระจายตัวทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งจ.จันทบุรีก็มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ฉะนั้นในอนาคตควรมีการปฏิรูปกฎหมายให้มีความยืดหยุ่น และกระจายอำนาจให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคมีอำนาจการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา
ทั้งนี้ สำหรับการแก้ปัญหาประมงโพงพางนั้น มีแนวคิดนำเงินชดเชยให้แก่ผู้ยอมหยุดทำในบางวันหรือเชิญให้ไถ่ชีวิตสัตว์ทะเล เพื่อลดความขัดแย้ง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาสิทธิการถือครองที่ดินทำกินก็มีการเสนอหลายแนวทาง เช่น สปก.4-01 หรือให้มีการปลูกป่าชายเลนแทนพื้นที่นากุ้งรกร้าง
นายวินัย บุญล้อม หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 45 พื้นที่ตำบลบางชัน กล่าวว่าพื้นที่บางชันประมาณ 90% อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศเขตป่าสงวนปี 2505 ซึ่งขณะนั้นเป็นที่อยู่อาศัยเพียงส่วนน้อย ดังนั้นการจะออกเอกสารสิทธิที่ดิน กรมที่ดินระบุให้มีเอกสารสิทธิฯ ก่อนปี 2481
“ภาพถ่ายทางอากาศช่วงปี 2480 ตรงนี้มีชุมชนอยู่ แต่เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ในการแก้ไขปัญหาเราต้องการให้ชุมชนเข้ามาร่วมโดยอาศัยแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นตัวตั้ง สำหรับบางพื้นที่เจ้าหน้าที่ต้องอะลุ่มอล่วยให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนได้” นายวินัย กล่าว
ด้านผศ.ไพโรจน์ แสงจันทร์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคตะวันออก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงปัญหาของชุมชนว่ามีความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากฐานทรัพยากร ปลา ทรัพยากรจากป่าชายเลน ปัญหาการใช้มาตรการของรัฐต่อชุมชนกฎหมายทางภาครัฐซึ่งมีเจตนาดี บ้างก็สำเร็จบ้างก็ยังเป็นปัญหา กระบวนการแก้ไขปัญหามีความสำคัญ หากใช้มุมมองว่ารัฐมีหน้าที่แก้ไขปัญหารัฐจะเข้าไปแก้ จัดอบรมเติมความรู้ แล้วเกิดลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง จึงได้เสนอให้ชาวบ้านแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเริ่มจากนากุ้งเพื่อเรียนรู้การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายบัญชา สุขแก้ว ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า โพงพางทำมาชั่วอายุคนแล้ว แต่จากการเก็บข้อมูลของกรมประมงพบว่าโพงพาง 1 ปากจับปลาได้ 27กิโลกรับ โดยร้อยละ 51 เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เจริญวัย จึงมีกฎหมายบังคับ ปี2521 ให้เวลารื้อถอนทั่วประเทศ ขณะนี้เหลือ 11 จังหวัดยังดำเนินการไม่ได้ รวมทั้งจันทบุรี
"แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันรื้อไป 100 แหล่งที่ช่องแหลมสิงห์ การรื้อที่บางชันทำไม่ได้ เพราะมีการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากชาวบ้าน ประมงจังหวัดพยายามหาทางแก้ไขมีการเก็บข้อมูลแต่ละบ้าน และสอบถามความต้องการเปลี่ยนอาชีพ" ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าว เเละว่าชาวบ้านร้อยละ 90 ไม่อยากเปลี่ยนอาชีพจึงคิดว่าแก้ปัญหานี้ยาก จึงมีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามปัญหานี้ โพงพางบางแห่งขวางทางน้ำต้องไปรื้อถอนเพื่อป้องกันน้ำท่วมจันทบุรี
นายบัญชา กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีการรื้อโพงพางไป 5 แห่ง การแก้ไขในอนาคตคิดว่าทำได้ จะจัดระเบียบอย่างไร คุยมา 2-3 อำเภอแล้ว เมื่อได้ข้อมูลจะเสนอจังหวัดและส่วนกลาง ให้อาจารย์มหาลัยบูรพามาวิจัยร่วมกับชุมชน เพื่อให้ได้เห็นปัญหาด้วยกัน ทั้งนี้ การเเก้ปัญหาจะต้องดำเนินการ 2 ระยะ คือ ระยะแรกแก้เครื่องมือประมงหรือโพงพาง ระยะกลางรอร่างพ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ซึ่งจะให้มีการตั้งองกรค์ประมงชุมชนขึ้น และให้ชุมชนมีตัวแทนในคณะกรรมการประมงจังหวัด
ขณะที่นายไพริน โอฬารไพบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 หมู่บ้านปากน้ำเวฬุ ต.บางชัน อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวว่า ชาวบ้านมีอาชีพประมงเป็นหลัก ชุมชนนี้เกิดขึ้นจากการที่ชาวจีนอพยพมาอยู่เป็นร้อยปี นำโพงพาง หรือหลักเคย มาเป็นเครื่องมือจับปลา แต่ต่อมาในปี 2521 มีกฎหมายให้รื้อถอนทำให้ชาวบ้านมีอาชีพไม่มั่นคง เพราะอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก ชาวบ้านรวมตัวกันแก้ไขปัญหา
"ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ถอนหลักเคยไปแล้ว1-2ครั้ง เคยไปพบกรรมาธิการสภาด้วย สิทธิในการถือครองที่ดินหลังมีกฎหมาย ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก หลังสุดได้ปักเขตออกจากเขตสงวน แต่ชาวบ้านห่วงว่าการขยายครอบครัวจะทำไม่ได้อีกปัญหาคือ ปัญหาการใช้ไม้เพื่อซ่อมแซมบ้าน การบังคับใช้กฎหมายทำให้เราเหมือนถูกขังถูกกดอยู่"
สำหรับกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นชาวบ้านไม่ได้พบเจ้าหน้าที่มากนัก เพราะต้องทำมาหากินเเละต้องการให้ชุมชนแก้ไขปัญหากันเอง ปัญหานำ้จืดไม่มีพอ ต้องใช้เรือข่นถ่ายถังน้ำ1,400 ลิตร ลิตรละ100 บาท ค่อนข้างแพง ชาวบ้านใช้นำ้ฝน แต่ใน1ปีไม่มีนำ้ฝน9 เดือน จึงอยากได้ที่กักเก็บน้ำฝน ที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือบางส่วนแต่ไม่พอเพราะติดกฎหมายเรื่อป่าชายเลน ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงที่สุดคือ เรื่องประกอบอาชีพเป็นเรื่องใหญ่สุด .
ภาพประกอบ:www.sklonline.com