‘ศ.ดร.สนิท’ ชูสร้างระบบตอบแทนนิเวศบริการ ฟื้นฟูความหลากหลายชีวภาพ
‘ศ.ดร.สนิท’ ชี้ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพไทยถูกทำลาย เหตุคนไม่เข้าใจธรรมชาติ ขาดการเรียนรู้ หวั่นนักวิทยาศาสตร์จำแนกพืช-สัตว์ขาดแคลน สพภ.เตรียมชู ‘บางกระเจ้า’ นำร่องพื้นที่อนุรักษ์ สร้างระบบตอบแทนนิเวศบริการ นำรายได้คืนชุมชนฟื้นฟูธรรมชาติ
วันที่ 23 สิงหาคม 2557 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือสพภ. จัดมหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น 2557 ภายใต้แนวคิด ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ เติมสุข ปลุกชีวิตเมือง’ ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำคัญกับชีวิตคนเมือง ใจความว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอันดับต้นของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ตั้งอยู่ในจุดเชื่อมศูนย์กลาง ทั้งพื้นที่บก ทะเลชายฝั่ง และทะเล โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเลนั้นจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของโลกในอนาคต
“ก่อนที่ ‘วังน้ำเขียว’ จะถูกรุกล้ำจากกลุ่มทุนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถค้นพบพรรณไม้เกือบ 300 ชนิด ซึ่งมีความหลากหลายมากกว่าสหรัฐอเมริกาหรือทวีปออสเตรเลีย” ที่ปรึกษาฯ สพภ. กล่าว และว่าไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านจำแนกพืชและสัตว์อยู่ อีกทั้งหลายคนไม่เข้าใจและขาดการเรียนรู้ธรรมชาติ ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาบนความยั่งยืนได้
ศ.ดร.สนิท ยังกล่าวถึงคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพว่า มีผลต่อความจำเป็นพื้นฐานปัจจัย 4 ตลอดจนถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และปรับให้สิ่งแวดล้อมเกิดความสมดุล อย่างไรก็ตาม แนวทางการส่งเสริมที่ดี ควรสร้างความตระหนักให้เด็กและเยาวชนให้เห็นความสำคัญ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต้องขยายช่องทางการตลาดผลผลิตจากชุมชนที่ได้จากสิ่งมีชีวิตทั้งในและต่างประเทศ เช่น เครื่องสำอาง ยา อาหาร เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ต่อยอดเป็นลูกโซ่ต่อไป
ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่าง ‘บางกระเจ้า’ จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยรับสั่งว่ามีความหลากหลายทางระบบนิเวศและปัญญาชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ ฉะนั้น สพภ.เตรียมจะเข้าไปดำเนินการให้เกิดการเรียนรู้อย่างสมดุล เพื่อหวังเป็นแหล่งศึกษาของเยาวชน
สำหรับคนเมืองสามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างไรนั้น ที่ปรึกษาฯ สพภ. เชิญชวนให้ปลูกและฟื้นฟูป่าไม้ในเมืองก็จะเกิดความอุดมสมบูรณ์ พร้อมรู้จักใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมและแบ่งปันอย่างเป็นธรรม ที่สำคัญ ควรสร้างคุณค่าการตอบแทนระบบนิเวศบริการ โดยส่งเสริมให้ชุมชนดูแลพื้นที่ ขณะเดียวกันผู้ที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก็ควรส่งรายได้กลับไปสู่ชุมชนที่ช่วยดูแลระบบนิเวศด้วย จึงจะเป็นการแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ซึ่งเรากำลังดำเนินการโครงการนี้อยู่
“คนเมืองต้องสนับสนุนสินค้าที่ผลิตขึ้นจากความหลากหลายทางชีวภาพ มิเช่นนั้นก็จะไม่มีรายได้กลับไปช่วยเหลือและฟื้นฟู หากจะคาดหวังเพียงงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐคงไม่เพียงพอ พร้อมกับต้องสร้างแหล่งเรียนรู้และสื่อการศึกษาที่ดีให้สถานศึกษา” ศ.ดร.สนิท กล่าว และว่าการขับเคลื่อนพัฒนาให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการศึกษา รณรงค์ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด .
ภาพประกอบ:มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร