‘นพ.วชิระ’ ฝากการบ้านบอร์ด อภ.ชุดใหม่เเก้ปมสร้างรง.ผลิตยา-วัคซีนล่าช้า
คำสั่งแต่งตั้ง 12 รายชื่อบอร์ด อภ. โผล่! มี ‘พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร’ นั่งเก้าอี้ประธาน ‘นพ.วชิระ’ ฝากเร่งกู้ภาพลักษณ์องค์กร สางปัญหาโรงงานยา-วัคซีน ศูนย์กลางผลิตอาเซียน ขับเคลื่อนงานวิจัยเเละพัฒนา หวังต่อกรบริษัทยาข้ามชาติ วอนรัฐบาลใหม่ทุ่มงบเพียงพอ
จากกรณีมีการเผยแพร่คำสั่งที่ กค 0806.1/10855 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนชุดเดิมที่ลาออกไป ประกอบด้วย พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานกรรมการ, นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, นายรักษเกชา แฉ่ฉาย, นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์, ภก.สุนทร วรกุล, ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์, นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย, นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา, ศ.ดร.อัญญา ขันธวิทย์, น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย และพล.ร.ต.หญิงพิมพ์ใจ ไชยเมืองราช
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หนึ่งในผู้มีรายชื่อเป็นกรรมการฯ ถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายองค์กร กล่าวเพียงว่า ได้ทราบข่าวจากการนำเสนอของสื่อมวลชน แต่ส่วนตัวแล้วยังไม่ได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ฉะนั้น จึงขอศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับองค์การเภสัชกรรมก่อน เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับด้านนี้ จึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้
ด้านนพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท ในฐานะผู้แทนกลุ่ม 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ กล่าวว่า คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งทั้ง 12 คน ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และเชื่อว่าทุกท่านจะทราบสถานการณ์ขององค์การเภสัชกรรมปัจจุบันดีว่าอยู่ในยุคต้องเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ใหม่ เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงในระบบยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ
โดยสิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อน คือ การจัดระบบภายในองค์กรให้เรียบร้อย พร้อมพิจารณาให้ความสำคัญผลิตยาที่จำเป็นในประเทศ ทั้งยาปกติและฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมาไทยประสบปัญหายาขาดแคลนในกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้านไวรัสเอชไอวี เนื่องจากมีการลดปริมาณการผลิต ทำให้ส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการทุกระดับ
“เดือนตุลาคม 2557 โรงงานผลิตยา ถ.พระรามหก จะปิดตัวลง ทำให้โรงงานผลิตยารังสิตต้องรองรับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลประชาชนให้ได้ แต่ขณะนี้กำลังเกิดปัญหา ฉะนั้นต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลดน้อยลงที่สุด เช่นเดียวกับโรงงานผลิตวัคซีน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จะต้องมีขั้นตอนและกำหนดกรอบเวลาให้เสร็จด้วย”
นพ.วชิระ ยังกล่าวถึงสิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก คือ การจัดสรรงบประมาณเพียงพอสำหรับผลักดันให้โรงงานผลิตวัคซีนมีความคืบหน้า เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ เชื่อว่าทหารจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตผู้คนทั้งในยามปกติและจำเป็น เพราะหากเกิดการขาดเเคลนยาขึ้นก็จะทำให้มีความกังวลได้
ทั้งนี้ การค้นคว้าวิจัยและพัฒนาควรได้รับความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อจะได้ต่อกรกับบริษัทยาข้ามชาติได้ ซึ่งไทยมีข้อเสียเปรียบในเรื่องสิทธิบัตรยา เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่หมดอายุการคุ้มครองตามกฎหมาย หน่วยวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรมควรรีบคว้าโอกาสทองนั้นมาผลิตยาชนิดที่นำเข้าให้กลับมาผลิตในประเทศ เพื่อจะเป็นกลไกให้ยาเหล่านั้นมีราคาถูกลง ประชาชนเข้าถึงได้ภายใต้งบประมาณที่มีตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวสปริงนิวส์