"สื่ออาวุโส"สอนคนข่าวให้ฉลาดสื่อสาร กวดทหารให้ทันช่วยสร้างสันติภาพใต้
ในการเสวนาหัวข้อ "บทบาทสื่อกับการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งจัดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ส.ค.57 นั้น
ผู้ร่วมเสวนาทั้งจากทหาร นักวิชาการ และคนข่าว ร่วมกันชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทสื่อ ในการช่วยกันสร้างสันติภาพให้เกิด โดยเฉพาะกับการเปิดกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้รอบใหม่
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า สื่อมวลชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ในพื้นที่ออกสู่สายตาสังคมภายนอกเพื่อให้มีความเชื่อมั่น สื่อเป็นตัวเชื่อมที่ต้องเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการสันติภาพ รู้ปัญหาที่แท้จริง รู้จุดที่ทำให้เกิดปัญหา รู้ความต้องการของประชาชาชนและขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง แล้วจะสามารถสร้างสมดุลข่าวสารได้อย่างแท้จริง
นายมูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน สื่อมวลชนอาวุโสชื่อดัง กล่าวว่า ภูมิทัศน์ข่าวสารในพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป สะท้อนถึงสันติภาพมากขึ้น ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของชาวบ้าน และเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนมีส่วนร่วมได้ในทุกเรื่อง
"ขณะนี้ทางทหารได้เปลี่ยนบทบาทและขยับไปข้างหน้า สื่อต้องไล่กวดให้ทัน และต้องเข้าใจว่ากระบวนการสันติภาพต้องไม่ทำให้ความคิดและพื้นที่แคบลง ต้องคุยกับคนทุกกลุ่มได้ กระบวนการสันติภาพอาจคู่ขนานไปกับความรุนแรง สื่อต้องรายงานพลวัตของสันติภาพในพื้นที่ด้วย มีเวทีรับฟังความคิดเห็นมากมาย แต่จะสื่อสารสู่สาธารณะได้อย่างไรเป็นประเด็นท้าทายสื่อ"
"ภาคประชาสังคมคือคนที่ไม่ใช่รัฐและไม่ใช้อาวุธ สามารถถ่วงดุลการใช้ความรุนแรงได้ สื่อต้องให้พื้นที่ถ่วงดุลข่าวสารกับภาคประชาสังคม ต้องทบทวนตัวเองว่าจะหนุนเสริมและเข้าใจกระบวนการสันติภาพแค่ไหน จะปล่อยให้ความขัดแย้งเรื้อรังไม่ได้"
นายมูฮัมหมัดอายุบ กล่าวอีกว่า กระบวนการสันติภาพจะเดินไปข้างหน้าได้อยู่ที่การเตรียมการระหว่างทาง สื่อต้องกล้าพูด กล้าทำ และต้องเอาใจใส่ เพราะเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ และสื่อต้องไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างผู้คนให้เกิดขึ้น
"มีสื่อทางเลือกเกิดขึ้นมากในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จึงต้องมีการสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่และสื่อทางเลือกให้ตรงกัน เพราะจะเป็นปัจจัยชี้ขาดในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งต้องนำเสนอคนอีก 4 กลุ่มในพื้นที่นี้ให้มีโอกาสส่งเสียงมากขึ้น คือ กลุ่มผู้นำศาสนาทุกศาสนา เยาวชนนักศึกษา ชนกลุ่มน้อย และ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ให้ทุกคนได้ส่งเสียง สื่อต้องฉลาดในการสื่อสาร โดยดูบทเรียนจากพื้นที่ความขัดแย้งทั่วโลก"
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งท้าทายที่ต้องทำให้ได้ คือ การยอมรับความเห็นต่าง คำวิจารณ์ในกรอบของเหตุผล การพูดคุยต้องเดินไปในบรรยากาศที่ดี ภูมิทัศน์ข่าวสารเดินไปข้างหน้า เป็นสัญญาณเชิงบวกในการก้าวไปของการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่
"ต้องเปิดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สร้างพื้นที่สาธารณะ สร้างความเข้าใจกัน เป็นเรื่องท้าทายกับการต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ เป้าหมายคือการยุติความรุนแรงไปสู่สันติภาพในทางที่เกิดจากคนใน มีทุกฝ่ายเข้ามาร่วมในสนามสันติภาพ ถ้าทุกปีกความคิดมาร่วมกัน จะเป็นกระบวนการที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหา เปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรง สร้างความเข้าใจของคนในสังคม ทำข้อตกลงสู่โรดแมพ (แผนที่เดินทาง) และเห็นด้วยกับสิ่งที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ทำในการให้โอกาสคนในได้แก้ไขปัญหาร่วมกัน" ผศ.ดร.ศรีสมภพ ระบุ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศในห้องเสวนา
2 มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน
3 ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี