เจรจาไร้ข้อสรุป 'คนรักษ์บ้านเกิด' จี้บ.ทุ่งคำฯ ปิดเหมือง-ถอนฟ้องชาวบ้าน
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเผยผลหารือกับบ.ทุ่งคำฯ เเก้ปัญหาเหมืองทองคำ จ.เลย ยังไร้ข้อสรุป ยันทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามมติประชาคม 6 หมู่บ้าน ระบุห้ามผญบ.-ส.อบต.ลงนามยอมรับโดยไม่ผ่านความเห็นชอบ
วันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่หน้าศาลจังหวัดเลย กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เรื่อง การแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่า การที่ผู้สื่อข่าวนำเสนอข่าวชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ให้บริษัท ทุ่งคำฯ ขนแร่ และขอเปิดทำเหมืองต่ออีก 2 แปลง คือ แปลงภูเหล็ก และแปลงนาโป่ง ต่ออีก 12 ปี นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก การเจรจาระหว่างหน่วยงานรัฐ ชาวบ้าน และเหมืองทองคำ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2557 ยังหาข้อสรุปไม่ได้
“ข้อตกลงจะต้องปฏิบัติตามที่แต่ละข้อ เป็นขั้นเป็นตอน จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ข้ามไปก่อนข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้ ฉะนั้นข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นโดยกระบวนการที่ให้ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ร่วมกับบริษัท ทุ่งคำฯ ลงนามในข้อตกลงหรือสัญญา เพื่อให้บริษัทกับชาวบ้านอยู่ร่วมกันนั้น ชาวบ้านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะขอสู้ตามแนวทางตัวเองต่อไป ด้วยการอาศัยความสมัครสามัคคีของคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เป็นที่ตั้ง”
แถลงการณ์ ระบุต่อว่า ส่วนเรื่องคดีความระหว่างบริษัท ทุ่งคำฯ กับชาวบ้าน 6 หมู่บ้านนั้น กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเห็นว่า การจะถอนฟ้องผู้ใดผู้หนึ่งหรือบางคดีความ แล้วเหลือไว้บางคนในบางคดีจะทำไม่ได้ เพราะเราอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเครือญาติพี่น้อง ดังนั้น เราขอสู้ร่วมกับชาวบ้าน 33 คน ที่ถูกฟ้องคดีความ เพื่อปกป้องแผ่นดินบ้านเกิด ต้องปิดเหมืองถาวร คืนภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ สิ่งแวดล้อม ให้กับคนรักษ์บ้านเกิด
ทั้งนี้ หากมีการทำสัญญา หรือมีการทำข้อตกลง ระหว่างหน่วยงานรัฐ บริษัท ทุ่งคำฯ และ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. โดยที่ชาวบ้านยังไม่ได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบต่อเนื้อหาในสัญญาหรือข้อตกลงที่จัดทำขึ้น ชาวบ้านจะไม่ยอมรับ และจะคัดค้านการตกลงกันในครั้งนี้ เนื่องจากหากผู้ใหญ่บ้านไปลงนามก็จะเป็นการลงนามในฐานะตัวแทนของฝ่ายรัฐ สมาชิก อบต.หากลงนาม ก็จะเป็นการลงนามในฐานะตัวแทนขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นตัวแทนของชาวบ้านอันรวมตัวกันเป็นชุมชน ดังนั้นสัญญาหรือข้อตกลงที่จะจัดทำขึ้น จะต้องนำมาผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านในชุมชน 6 หมู่บ้าน โดยการทำประชาคมเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น
มติประชาคม 6 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557
1. ให้มีการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาขึ้นเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษร ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตัวแทนชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย ร่วมลงนามใน “สัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่า
1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (บรรลุนิติภาวะ)
1.2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกันพื้นที่ที่เป็น “แหล่งน้ำซับซึม” อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในด้านการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และในจังหวัดเลย เพื่อเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยมิให้ใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินดังกล่าว
1.3 ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้ข้อสรุปการปนเปื้อน ผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชน และผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยให้นักวิชาการที่ชาวบ้านมีส่วนในการคัดเลือกเป็นผู้ทำการศึกษาตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วม
1.4 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
2. เงื่อนไขในการขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่
2.1 ให้ถอนฟ้องคดีความ 7 คดี ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้อง-กล่าวโทษเอาผิดกับชาวบ้าน 33 ราย
2.2 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรออกนอกพื้นที่แปลงประทานบัตร
2.3 ส.ป.ก.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินดังกล่าวมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.4 ทสจ.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก จำนวน 608 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดิน ในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา มอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ
2.5 อบต.เขาหลวง ต้องไม่อนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก
2.6 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกนอกพื้นที่ เฉพาะแร่แต่งแล้ว จำนวน 1,942.54 ตัน
2.7 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ ต้องขนแร่โดยปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ระเบียบที่ประกาศโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ทางหลวง และระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก
2.8 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ภายใน 15 วัน หลังจากมีการลงนามในสัญญาฯ นี้ คณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว
2.9 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งวันและเวลาในการขนแร่ แก่คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ก่อนการขนแร่ 15 วัน และให้ทำการขนแร่ได้ในเวลากลางวันเท่านั้น
2.10 หากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถึงที่สุด
2.11 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ ประกอบโลหกรรม โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
3. เงื่อนไขในการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดตั้งคณะกรรมการในการศึกษา จัดทำแผน และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน นักวิชาการจากสาขาที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ คัดเลือก แต่งตั้ง โดยนำงบประมาณในการดำเนินการมาจาก กองทุนประกันความเสี่ยง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ โดยต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยขั้นตอนการดำเนินการ ตามมติความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในครั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1. หลังจากการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และตัวแทนชาวบ้าน ลงนามในสัญญาฯ เพื่อเป็นหลักฐานให้เป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2. ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาฯ ให้แล้วเสร็จ และรายงานต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ตามข้อ 2.8 ก่อนจะมีการขนแร่