ซีอีโอ บลจ.บัวหลวงหนุนรัฐตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ
ซีอีโอ บลจ.บัวหลวงเผยไทยมีสวัสดิการดูเเลเเรงงานวัยเกษียณไม่ทั่วถึงเหมือน ขรก. เตรียมชง 'ประยุทธ์-สภาปฏิรูปฯ' ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ดูเเลคนในระบบประกันสังคม เชื่ออนาคตอุตฯ ธุรกิจกองทุนเติบโตยั่งยืน
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแนวคิดการผลักดันให้เกิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับว่า สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมธุรกิจตลาดทุนไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือกันเกี่ยวกับวิธีการให้ประชาชนมีเงินบำนาญเลี้ยงชีพในอนาคตเหมือนข้าราชการ เพราะปัจจุบันไทยยังไม่มีนโยบายรองรับในส่วนนี้
“สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เห็นด้วยกับแนวคิดและมีความตั้งใจจะดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังจากรัฐบาล ส่วนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ก็ไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ ฉะนั้นส่วนตัวจึงสนับสนุนให้เกิดนโยบายนี้”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวต่อว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับจะเริ่มส่งเสริมในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมเป็นหลัก ส่วนกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมต้องรอดูความเป็นไปได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะหากเราขับเคลื่อนพร้อมกันทุกกลุ่มอาจสำเร็จยาก ฉะนั้นระยะแรกขอปลูกต้นไม้หนึ่งต้นก่อน ทั้งนี้ รายละเอียดหลักเกณฑ์อื่น ๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเพื่อจะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป
“นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบบำนาญของประชาชน แต่ไทยไม่มีเกิดขึ้น ยกเว้นจะทำเพื่อรักษาฐานเสียงตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.จึงควรเร่งดำเนินการ เพราะถือเป็นโครงการสำคัญและคืนความสุขให้ประชาชนในชาติได้” นางวรวรรณ กล่าว และว่าไทยมีอัตราการเก็บเงินเกี่ยวกับระบบบำนาญต่ำที่สุด ฉะนั้นหากแนวคิดไม่สำเร็จ ในอนาคตไทยจะประสบปัญหาผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีสวัสดิการดูแล จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นเหมือนข้าราชการ
เมื่อถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมกองทุนในอนาคต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ระบุว่า ภาพรวมการเติบโตในกลุ่มธุรกิจแขนงนี้ยังมีต่อเนื่อง เพียงแต่แนวโน้มอาจต้องปรับตัวจากมองเพียงการเติบโตให้หันมาทำประโยชน์แก่ครัวเรือน ดังเช่น โครงการครอบครัวบัวหลวง ที่มุ่งคิดถึงความมั่นคงของครัวเรือน โดยเราต้องริเริ่มสร้างความเข้าใจให้คนเห็นความสำคัญของการลงทุนระยะยาว สุดท้าย อนาคตความยั่งยืนในธุรกิจจะมีแน่นอน .